LOSO BRAND กับ คาราบาวแดงโมเดล

การที่ ดารา นักร้อง คนดัง หันมาทำธุรกิจในยุคนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ เหมือนอย่างที่ เสกสรรค์ ศุขพิมาย  หรือ “เสก โลโซ” ได้หันมาทำ น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง เบียร์ และล่าสุดการทำสมาร์ทโฟนออกจำหน่าย

ยิ่งมีสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียด้วยแล้ว  เรื่องการโปรโมทให้แฟนคลับ ได้รับรู้ก็ยิ่งง่าย ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเทรดดิชั่นแนลเหมือนในอดีต ยิ่งพอลงโปรโมทในเฟซบุ้ค อินสตราแกรม สื่อหลักก็นำไปเสนอเป็นข่าว ก็กลายเป็นว่าได้ประชาสัมพันธ์

ส่วนที่ทำเป็นล่ำเป็นสันก็ต้อง “วงคาราบาว”  ที่หันมาทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง  “คาราบาวแดง” ออกมาทำตลาด  โดยอาศัยแบรนด์ “คาราบาว” เป็นที่รู้จักอย่างดี  และฐานแฟนเพลงรากหญ้าทั่วประเทศเป็นตัวจุดประกาย  แม้ว่าช่วงแรกจะต้องตอบคำถามจากสังคมอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ด้วยการผลักดันตลาด ของสถียร เศรษฐสิทธิ์ เจ้าของโรงเบียร์ตะวันแดง หุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญ ที่มีบทบาทในการผลักดันคาราบาวแดง ท้ารบกับเจ้าตลาดเดิม จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาด 22%  เป็นอันดับ 2 ในตลาด  สุดยังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว รายได้ปีละ 4 พันล้านบาท ดีกว่าธุรกิจเพลงเป็นไหนๆ

“คาราบาวแดงโมเดล” น่าจะเป็นหนึ่งแนวทางให้กับบรรดาคนบันเทิงทั้งหลาย รวมทั้ง “เสก โลโซ”  ด้วยเช่นกัน ที่มีฐานแฟนเพลงเป็นกลุ่มแมสทั่วประเทศ มาต่อยอดทางธุรกิจผลิตสินค้าออกวางตลาด ซึ่งเสกเอง ก็เริ่มต้นด้วยผลิตภัณฑ์ในหมวดเครื่องดื่ม อย่าง เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำดื่ม เบียร์  ตามมาด้วย “สมาร์ทโฟน”  ซึ่งถือว่าฉีกไปจากสินค้าในหมวดเครื่องดื่มไม่น้อยทีเดียว
การที่เลือกมาทำสมาร์ทโฟน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเข้ากับยุคสมัย สังคมก้มหน้า ตลาดสมาร์ทโฟน เวลานี้ก็เข้าสู่ตลาดแมสไปอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ราคาเครื่องเวลานี้ ไม่ถึง 2 พันบาทก็หาซื้อได้แล้ว  และการไปจ้างโรงงานที่ประเทศจีนผลิตเครื่องสมาร์ทโฟนมาขาย ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหลายแบรนด์ของไทยก็จ้างผลิตมาจากโรงงานที่จีน แต่ที่ท้าทาย คือ การทำตลาด

เนื่องจากตลาดสมาร์ทโฟนได้ชื่อว่าแข่งขันกันอย่างดุเดือด  ยิ่งในระดับแมสด้วยแล้ว มีสารพัดแบรนด์ ทั้งแบรนด์ไทย อย่างไอโมบายของค่ายสามารถ  รวมทั้ง เฮาส์แบรนด์ของค่ายโอปะเรเตอร์มือถือที่ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าในระดับแมสโดยเฉพาะ และการทำตลาด สมาร์ทโฟนของโอปะเรเตอร์มือถือ ไม่ใช่เพื่อหวังกำไรจากการขายเครื่อง แต่ต้องการให้คนเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน เพื่อก้าวสู่ยุค 3 จี  และ 4 จี เป็นการใช้งาน “ดาต้า” เป็นหลัก

ในส่วนของ สมาร์ทโฟน LOSO  ที่ นำมาเปิดตัว ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ตั้งราคาขายไว้ที่เครื่องละ 3,500 -4,000 บาท ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.4.2 รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิม ขนาดจอ 5.5 นิ้ว กล้องถ่ายภาพด้านหน้าความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล และกล้องหลัง 3 ล้านพิกเซล ผลิตในประเทศจีน ซึ่งใช้เวลาในการผลิตประมาณ 20 วัน  คนส่วนใหญ่เห็นแล้ว มองว่า  ดูแล้วคล้ายกับ ไอโฟน รุ่น 6พลัส โดยมีให้เลือก 2สี  คือ สีขาวและสีดำ

หลังจากเปิดตัวมาได้เพียง 2 วัน ก็ทำโลกโซเชียลคึกคักไม่น้อย เพราะมีสาวกของเสก โลโซและคนทั่วไปวิพากษ์วิจารย์ถึงราคาและสเป็กเครื่องกันอย่างหลากหลาย สื่อหลักก็นำออกไปเผยแพร่ข่าว
โดยรวมแล้ว สมาร์ทโฟน LOSO ไม่ได้แตกต่างไปจากสมาร์ทโฟน ในระดับแมสที่วางขายมากนัก แต่สิ่งจะสร้างความแตกต่างได้ คือ การใช้แบรนด์ และบรรจุเพลงของเสก โลโซไปในเครื่อง  ทำให้ได้กลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบเพลงของ เสกโลโซ เป็นฐานลูกค้าหลัก ส่วนจะไปสู่ตลาดแมสได้หรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกันต่อ

เช่นเดียวกับ ธุรกิจเครื่องดื่ม ที่เสก แจ้งในเฟซบุ้คว่า จะทำตลาดเต็มที่ประมาณเดือนพฤศจิกายน ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้ ต้องมาถามนักวิชาการด้านการตลาด ผศ.เสริมยศ  ธรรมรักษ์  หัวหน้าภาควิชาสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่า ในกรณีของ เสก โลโซ ก็ใช้ความเป็นที่รู้จักในวงการ และแฟนเพลงที่ชื่นชอบอยู่มากมาสร้างโอกาสให้กับตนเอง เสกเองก็ไม่ใช่ Nobody ดังนั้นการทำอะไรก็ย่อมเป็นจุดสนใจ ถ่ายคลิปโปรโมตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคนิคง่ายๆ ก็มีคนแชร์กัน  และเสกได้นำความโดดเด่นด้านดนตรี เสียงเพลง หรือผลงาน มาใช้ในการต่อพ่วงเข้ากับผลิตภัณฑ์ เช่น อย่างที่เห็นในคลิปว่าการใช้โลโก้ของ Loso การตั้งชื่อรุ่น LS1 ใจสั่งมา

ส่วนใหญ่แล้ว ดารา นักร้อง และคนมีชื่อเสียง มักจะนำ Core Competency หรือ นำความสามารถหลักไปผสมผสานกับธุรกิจ  อย่างกรณีคาราบาวที่ทำเครื่องดื่มคาราบาวแดงก็จับแนวทางของความมีชื่อเสียงของวงดนตรีที่มีแฟนพันธุ์แท้อยู่แล้ว มีกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้วที่อาจจะโดนใจกับผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มก็อยู่ในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายนั้นสามารถซื้อหาได้

ดังนั้นการจะสร้างแบรนด์ขึ้นมาจากตัวตนเดิมของนักร้อง ดารา ก็ต้องดูว่าเราเด่นอะไร และนำเหล่านั้นไปเชื่อมโยง (Brand Association) กับธุรกิจ อย่างกรณีเสกอาจจะนำดนตรี เพลง เรื่องราวของโลโซ มาเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มแฟนคลับที่เป็นแฟนเพลง หรือคนที่ชื่นชอบในตัวเสก หรืออาจจะเป็นคนที่ต้องการซื้อสมาร์โฟนในราคาถูก แต่ทั้งนี้ก็อาจจะต้องดูเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และฟังก์ชั่นของสินค้าด้วย

“การตลาดไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของแบรนด์ดังอย่างเดียว Product ต้องดีมีคุณภาพ ลูกค้าต้องรับในราคาได้ ช่องทางการขายต้องพร้อม การสื่อสารต้องดึงดูดและสร้างความประทับใจ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องระวังในภาพรวมกรณีของการที่บุคคลที่มีชื่อเสียงมาทำธุรกิจหรือสร้างแบรนด์ก็คือ เมื่อใดที่พ่วงแบรนด์ผลิตภัณฑ์เข้ากับตัวบุคคล จะต้องระวังโอกาสในการเป็นข่าวและอาจจะถูกเชื่อมโยงกลับเข้าไปที่ตัวบุคคลด้วย เช่น ถ้าทำอะไรผิดพลาด หรือมีเรื่องของพฤติกรรมส่วนตัว จะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยในทางกลับ ถ้าทำดีจะสะท้อนภาพลักษณ์ในมุมบวกให้กับแบรนด์ได้ด้วยเช่นกัน