เฟซบุ๊กตัดสิทธิฝึกงานเด็กฮาร์วาร์ด หลังพบแจกปลั๊กอินโชว์ข้อมูลที่อยู่ผู้เล่น FB

นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ชี้ช่องโหว่ครั้งใหญ่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) โดนบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เล่นงานเข้าแล้ว หลังเขาพัฒนา “Marauder’s Map” ปลั๊กอินแผนที่สำหรับเบราเซอร์โครม (Chrome) ของกูเกิล (Google) ขึ้นมา แต่ความสามารถของมันกลับเหนือกว่าการเป็นแผนที่ธรรมดาๆ เนื่องจากมันสามารถแสดงให้ผู้เล่นเฟซบุ๊กได้ทราบว่าเพื่อนๆ ของพวกเขานั้นอยู่ที่ไหนกันได้ด้วย ซึ่งล่าสุด เมื่อเขาเผยเรื่องราวเบื้องหลังของการติดต่อเพื่อขอให้เขาไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ ทางเฟซบุ๊กก็ได้ตัดโอกาสการเข้าฝึกงานในองค์กรของเขาลงทันที
 
นักศึกษาคนดังกล่าวมีชื่อว่า Aran Khanna ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในแผนก computer science and mathematics ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยปลั๊กอินที่เขาพัฒนาขึ้นนั้นเมื่อทำการติดตั้งลงในเบราเซอร์โครม จะสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของใครก็ได้ที่เล่นเฟซบุ๊ก ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเพื่อนของเราหรือไม่ โดยระบบจะสามารถแสดงสถานที่อยู่ของเจ้าของเฟซบุ๊กรายนั้น และมีความแม่นยำสูงมากเสียด้วย
 
ทั้งนี้ Khanna ได้เผยว่า ความสามารถดังกล่าวมาจาก “ระบบการทำงานของแอปแมสเซนเจอร์ (Messenger) ของเฟซบุ๊ก” ที่ตั้งค่าดีฟอลต์ของระบบไว้ให้มีการแชร์สถานที่อยู่ของผู้ใช้งานนั่นเอง ปลั๊กอินดังกล่าวจึงได้รับการแนะนำอย่างรวดเร็ว และมียอดดาวน์โหลดกว่า 85,000 ครั้ง รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่ออย่างเดอร์ การ์เดียน, เดลิเมล, ฮัฟฟิงตันโพสต์ ฯลฯ ด้วย
 
อย่างไรก็ดี Khanna ได้เผยในเวลาต่อมาว่า ทางเฟซบุ๊กได้ทำการติดต่อเขาเพื่อขอให้ยุติการปล่อยดาวน์โหลดปลั๊กอินดังกล่าว รวมถึงขอให้ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อด้วย และหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ทางเฟซบุ๊ก ก็ส่งอัปเดตของแอป Messenger ออกมา โดยเปลี่ยนวิธีการแชร์สถานที่ของยูสเซอร์เรียบร้อย
 
แต่เรื่องไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.58) นักศึกษาคนดังกล่าวได้เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อเขา และได้รับการเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับวงการเทคโนโลยี โดยเขาได้เล่าอย่างละเอียดว่ามีใครบ้างที่ติดต่อเขาเข้ามา และขอร้องไม่ให้เขาทำอะไรบ้าง โดยมีใจความดังนี้
 
“ในตอนบ่ายของวันที่ 27 หนึ่งวันหลังจากมีการเผยแพร่ในบล็อกของสื่อ เฟซบุ๊กได้ทำการติดต่อผม โดยผู้ที่จะเป็นผู้จัดการในอนาคตของผมได้โทร.มา และขอให้ผมไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ แต่เขาบอกผมว่า ผมสามารถโพสต์บล็อกต่อได้ ซึ่งในตอนเย็น มีผู้บริหารระดับสูงด้านนโยบายสาธารณะ และระบบความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กโทร.มาเพื่อชี้แจงว่า เฟซบุ๊กหวังว่าผมจะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อด้วยเช่นกัน
 
ต่อมา ในวันที่ 28 ผู้บริหารระดับสูงคนนั้นส่งอีเมลมาอีกครั้ง ขอร้องให้ผมยุติการปล่อยดาวน์โหลดปลั๊กอิน ซึ่งผมก็ทำให้โดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ผลก็คือ ทั้งผู้ใช้งานปัจจุบัน และผู้ใช้งานใหม่จะไม่สามารถใช้ความสามารถของแผนที่มาแสดงข้อมูลที่อยู่ได้อีก”
 
อย่างไรก็ดี หลังจากที่กรณีศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ออกไปเพียง 3 วัน เฟซบุ๊กก็แจ้งเข้ามาว่า ขอตัดสิทธิการเข้าฝึกงานในองค์กรของเขา โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่เขาทำนั้นละเมิดข้อตกลงด้านการใช้งานของผู้ใช้ อีกทั้งหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของเฟซบุ๊กยังได้ส่งอีเมลมาชี้แจงว่า บล็อกของเขาได้โพสต์ในสิ่งที่ขาดจริยธรรม และไม่เคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างที่พนักงานฝึกงานควรจะมี 
 
ซึ่งในมุมของเฟซบุ๊ก ตัวแทนของบริษัทได้ให้เหตุผลว่า เพราะเครื่องมือแผนที่ตัวนี้ได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และขัดต่อนโยบายของเฟซบุ๊ก ซึ่งแทนที่จะลบโค้ดดังกล่าวออก ทางผู้สร้างยังเก็บโค้ดดังกล่าวเอาไว้ รวมถึงได้อธิบายด้วยว่า เฟซบุ๊กได้มีการปรับปรุงระบบการแชร์สถานที่อยู่เสร็จเรียบร้อยมาหลายเดือนแล้ว
 
นอกจากนี้ ทางเฟซบุ๊กยังกล่าวอีกด้วยว่า บริษัทไม่เคยปลดพนักงานที่เผยช่องโหว่ของบริษัทออก แต่จะไม่ปล่อยให้คนที่นำข้อมูลของยูสเซอร์ไปใช้ในทางที่ผิดเอาไว้เด็ดขาด
 
ด้าน Khanna ยังได้เขียนเอาไว้ในกรณีศึกษาของเขาด้วยว่า เขาคิดว่าสื่อควรให้ความสนใจต่อประเด็นการแชร์ข้อมูลของแอป Messenger ให้มากกว่านี้ เพราะถ้าหากไม่มีการจี้ถามจากสื่อ ก็เป็นไปได้ว่าเฟซบุ๊กอาจไม่สนใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เป็นได้