เจาะพฤติกรรมผู้บริโภคไทย 3 GEN

ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลงานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ทั้งชายและหญิง ใน 3 ช่วงอายุ คือ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-55 ปี เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบธุรกิจ ใช้เป็นข้อมูลวางแผนผลิตสินค้าหรือบริการ ให้ตรงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

รศ.ม.ล.สาวิกา อุณหนันท์ ผศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ และดร.กฤตินี พงษธนเลิศ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงผลงานวิจัย “ต่าง Gen ต่างใจ เจาะ Insight ผู้บริโภคไทย 2015” ว่า งานวิจัยดังกล่าว เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย แต่ละคนในแต่ละช่วงวัย ว่า มีแรงจูงใจในการเลือกซื้อสินค้าอย่างไรบ้าง โดยใช้วิธีสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ชายและหญิง ใน 3 ช่วงอายุ คือ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-55 ปี รวมจำนวน 40 คน

พฤติกรรมผู้บริโภคหญิงวัย 20-29 ปี นั้น จะเป็นกลุ่มวัยเรียนหรือทำงานตอนต้น ซึ่งมีประสบการณ์การบริโภคยังน้อย ยังไม่มีความเป็นตัวของตัวเองนัก ใช้สินค้าตามกลุ่มเพื่อนหรือกระแสสังคม
ปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อสินค้า มาจากพฤติกรรมเด่น คือ ชอบแสวงหาสิ่งแปลกใหม่เสมอ โดยได้รับอิทธิพลจากสื่อสูง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย อีกทั้งชอบของดีมีคุณภาพ แต่ยังไม่ยึดติดกับแบรนด์ใหม่แบรนด์หนึ่ง เริ่มใส่ใจสุขภาพตามเทรนด์ ซื้อสินค้าโดยดูที่ราคาและความคุ้มค่า และยังมักบริโภคตามความเคยชิน

สินค้าหรือการตลาดที่จะจูงใจคนกลุ่มต้องเป็นสินค้าที่หลากหลาย มีความสนุกสนาน สร้างสังคมกับเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลมีเดียได้
       
พฤติกรรมผู้บริโภคชายวัย 20-29 ปี นั้น จะเป็นกลุ่มวัยเรียนหรือทำงานตอนต้น มักไม่สนใจค้นหาสินค้าอะไรมากเป็นพิเศษ โดยสินค้าที่ใช้อยู่ ส่วนใหญ่คนรอบข้างจะเป็นผู้จัดหาให้
       
พฤติกรรมเด่นของคนกลุ่มนี้ ซื้อสินค้าตามความเคยชิน เน้นความสะดวกซื้อง่ายๆ ใส่ใจสุขภาพบ้าง แต่ก็ยังตามใจตัวเองเป็นหลัก

การทำตลาดหรือสินค้าที่จะจับตลาดคนกลุ่มนี้ ควรเป็นสินคาที่หาซื้อง่ายๆ เน้นความสะดวก และความมุ่งทำตลาดกับคนที่อยู่รอบๆ คนกลุ่มนี้ เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว ซึ่งเป็นคนซื้อสินค้าให้หนุ่มวัย 20-29 ปีใช้

พฤติกรรมผู้บริโภคหญิงวัย 30-39 ปี จะเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองต้องการสินค้าอะไร มีความเป็นตัวของตัวเอง รักแบรนด์ไหน ก็จะเปลี่ยนใจยาก แต่ละรักหลายแบรนด์พร้อมกัน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย จะใส่ใจมากเป็นพิเศษ

สินค้าหรือการตลาดที่จะโดนใจนั้น ต้องเป็นสินค้าคุณประโยชน์ดีจริง ให้ข้อมูลน่าเชื่อถือ เข้าใจง่าย เห็นภาพ โดยซื้อสินค้าจากคุณภาพนำหน้า แต่ถ้ามีโปรโมชั่นจะยิ่งสนใจ โดยโปรโมชั่นต่างๆ มีผลมากในสินค้ากลุ่มที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ

พฤติกรรมผู้บริโภคชาย วัย 30-39 ปี  คนกลุ่มนี้ การใช้สินค้าต่างๆ มักไม่สามารถแยกความแตกต่างของแบรนด์ต่างๆ ได้ แต่จะใช้จากความเคยชิน ได้ยินชื่อแต่เด็ก แต่จุดเด่นคือคนกลุ่มนี้ จะมีความชอบบางสิ่งบางอย่างเฉพาะเรื่อง แบบเจาะลึก รวมถึง ซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคา
       
สินค้าหรือการตลาดที่จะโดนใจนั้น ต้องเป็นสินค้าที่ท้าทาย ให้คนกลุ่มนี้รู้สึกสนุกต่อการเรียนรู้ และมีลูกเล่นใหม่ๆ เสมอ เช่น กลุ่มไอที เครื่องมือต่างๆ ที่มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาให้ศึกษา และพัฒนาตลอด
       
พฤติกรรมผู้บริโภคหญิง วัย 40-55 ปี นั้น มีการงานที่มั่นคงแล้ว ความสนใจส่วนใหญ่ มุ่งไปที่การดูแลสมาชิกในครอบครัว ขณะที่ความสนใจสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารต้องเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น ไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนซื้อ นอกจากนั้น จะแสวงหาสินค้าดีต่อเนื่อง
       
สินค้าที่จะถูกใจต้องไม่ซับซ้อนด้านการใช้งาน โดยเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดมาในยุคไอที นอกจากนั้น มักจะชื่นชอบสินค้าที่มีภาพลักษณ์ดีต่อสังคม เพราะอยากมีส่วนช่วยส่วนรวม   

พฤติกรรมผู้บริโภคชาย วัย 40-55 ปี คนกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญต่อการทำงานหนักอย่างยิ่ง เพราะต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว
       
ด้านสินค้าที่คนกลุ่มนี้จะใช้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่คุ้นเคยใช้มาตั้งแต่เด็ก เป็นสินค้าที่ง่ายๆ เพราะไม่อยากเสียเวลาจากการทำงานไป เลือกสินค้าคุณภาพในราคาแสนคุ้ม อย่างไรก็ตาม ยังยอมใช้จ่ายกับการให้รางวัลคืนแก่ชีวิตบ้างเป็นครั้งคราว

ลักษณะสินค้าที่ถูกใจผู้บริโภคทั้ง 3 GEN ทั้งชายและหญิง มีคุณสมบัติตรงกัน ได้แก่ คุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ ใช้เพราะเคยชิน และคุ้มค่าใช้งาน

ที่มา : http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000110621