คลื่นเปลี่ยนมือ ตลาดมือถือเปลี่ยนแปลง The Game Changer

หลังการประมูลคลื่น 900 MHz ได้สิ้นสุดลงหลังจากใช้เวลามา 4 วัน 4 คืน แต่กลับเป็น “จุดเริ่ม” ฉากใหม่ของสงครามมือถือ 

ก้าวแรกของ แจส โมบาย กับการเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในโมบายอินเทอร์เน็ต เพื่อต่อยอดธุรกิจบรอดแบนด์ให้ครบวงจร 

ทรู กับแผนพลิกเกมใหม่ในตลาดมือถือ การทุ่มลงทุนเป็นเจ้าของคลื่น 55 MHz และชิงคลื่น 900 MHz เพื่อใช้เป็นสปริงบอร์ดเพื่อก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 

การจับมือกับทีโอที เพื่อให้ได้คลื่น 2100 MHz หลังจากแพ้ประมูล จะทำให้เอไอเอสอยู่ในฐานะ “เหมือนจะแพ้แต่ชนะ” หรือไม่… มาดูคำตอบกัน

คลื่น 900 สปริงบอร์ดของทรู

              ค่ายทรู ยอมทุ่มเงินทุนกว่าแสนล้านเพื่อให้ได้คลื่นความถี่มาสะสมไว้ในมือ รวมแล้ว 55 MHz เพราะประเมินแล้วว่า “นอกจากจะเป็นความเสี่ยง” ที่บริหารจัดการได้แล้ว ยังไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะเท่ากับนี้อีกแล้ว จะสร้างอำนาจต่อรองให้ทรูก้าวจากเบอร์ 3 ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทรูคว้าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาได้ ที่แม้จะต้องแลกมาด้วยราคาถึง 76,298 ล้านบาท แต่ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า คุ้มค่ากับการลงทุน เมื่อเทียบกับสิ่งที่ทรูจะได้กลับคืนมา

คลื่น 900 MHz เป็นคลื่นที่มีสัญญาณที่กว้างไกล จึงทำให้ประหยัดการลงทุนโครงข่าย 4G เพื่อให้ครอบคลุม 97% ของจำนวนประชากร ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าได้ถึง 45,000 ล้านบาท คุณภาพของสัญญาณทะลุทะลวงสูง ใช้ได้ดีทั้งในพื้นที่ห่างไกล ในอาคารสูง บ้านเรือนทั่วไป ถือเป็นคุณภาพแฝงที่มีมูลค่ามาก ที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการใช้ 4G

ทรู ยังถอดรหัสต่อไปว่า คลื่น 900 MHz (เดิมเป็นของ AIS หมดสัมปทานเดือนกันยายน 2558) ไม่ใช่คลื่นเปล่า แต่เป็นคลื่นที่มีผู้ใช้ในระบบ 2G ที่ยังไม่เปลี่ยนไปใช้ 3G หรือ 4G อยู่ไม่ต่ำกว่า 14-15 ล้านราย หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดมือถือในปัจจุบัน

            นั่นคือโอกาสที่ทรูมองเห็นในการที่จะเข้าไปทำตลาดกับผู้ใช้ 14-15 ล้านรายดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ในระบบเติมเงิน ที่ทรูมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก

หากทรูสามารถเทิร์นให้ลูกค้าเหล่านี้เปลี่ยนใจมาใช้ 4G ได้ เพื่อฐานลูกค้าของทรูเพิ่มขึ้นทันที แถมการได้คลื่น 900 MHz ของทรูยังทำให้คู่แข่งมีคลื่นน้อยลง เรียกว่าเป็นการสกัดคู่แข่งที่เป็นเบอร์ 1 ไปในตัว

 “ถ้าเราคิดว่า เราจะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องมีการลงทุน และการลงทุนนั้นต้องมีความเสี่ยง เพราะต่อจากนี้จะเป็นแลนด์สเคปเชนจ์ เป็นยุคเปลี่ยนของโทรคมนาคมไทย เชื่อได้ว่าโอกาสแบบนี้ ในอีก 20 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีอีกแล้ว” ศุภชัย ยืนยัน

            ทรู มองว่า ปี 2559 จะเป็นปีที่ผันผวนที่สุดของตลาดโทรคมนาคม จากการที่ทรูได้ก้าวเข้าสู่ตลาดที่ใช้คลื่น 900 MHz ซึ่งจะเป็นสปริงบอร์ดที่ทำให้ทรูก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่งของการแข่งขัน ที่ทรูจะมีเครือข่ายพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งเป็นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในตลาด ที่ทรูเองไม่มีโอกาสทำได้มาก่อน

“การแข่งขันของธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม จะต้องมีโครงข่ายที่ดีเป็นพื้นฐานของการมีสินค้าและบริการที่ดี ซึ่งการลงทุนคลื่นถือเป็นการลงทุนโครงข่ายที่ดีมีคุณภาพ เพราะต่อให้ใช้กลยุทธ์การตลาดล้ำลึกแค่ไหนก็ยังไม่มีความหมายเท่า

เพราะถ้าย้อนดูประวัติของทรู ในช่วง10 ปีแรกที่เข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ ทรูมีคลื่นความถี่แค่ 12.5 MHz และเป็นสัมปทานที่มีอายุสั้นที่สุด ลงทุนเสาก็น้อยที่สุด ซึ่งต่อให้ทรูทำการตลาดมากแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการที่เรามีโครงข่ายที่ดี”

นอกจากทรูจะหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วงชิงลูกค้า และเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่าตลาดมือถือ ในอีก 5 ปี เพิ่มเป็น 34% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 20% ของมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังเป็นก้าวกระโดดของทรูในการขึ้นไปชิงการเป็นผู้นำในตลาด 4G ที่ถือเป็นแลนด์สเคปใหม่ของตลาดมือถือ ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันจากแบบเดิมๆ ไปสู่การแข่งขันภายใต้ “อีโคซิสเต็ม” แบบใหม่ เป็นเรื่องของการใช้ บิ๊กดาต้า แอปพลิเคชันต่างๆ ระบบคลาวคอมพิวติ้ง บริการด้านคอนเทนต์ พร้อมกับการบริโภคข้อมูล ที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากเฉลี่ย 2 กิ๊ก/คน/เดือน ไปเป็น 4 กิ๊ก/คน/เดือน

ทำให้ทรูเลือกเดินเกมการแข่งขันในแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” ด้วยเติมคำว่า Advance ต่อท้ายคำว่า 4G ชนกับเบอร์ 1 อย่างเอไอเอส ที่เผยแพร่โลโก้ 4G Advance พร้อมกับบอกว่า ทรูเป็นรายแรกและรายเดียวที่มีความพร้อมสำหรับบริการ 4G Advance เพราะต้องมีคลื่นจำนวนมาก 40 MHz  ขึ้นไปถึงจะให้บริการด้วยความเร็วในระดับที่ต้องการได้

และนี่คือ ความหมายของ แลนสเคปเชนจ์ ของทรู ที่จะเอาชนะในเกมการแข่งขันใหม่ จากการมีคลื่นในมือ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทรูพลิกจากเบอร์ 3 มาเป็นเบอร์ 1 ที่ทรูเชื่อว่ากำลังได้มาในอนาคตอีกไม่ไกล 

แจส โมบาย ไม่ได้มาเล่นๆ

            นับจากนี้ สปอร์ตไลต์ จะถูกฉายไปที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์มากยิ่งขึ้น หลังจากที่เคยถูกมองว่าเป็นแค่เป็น “ตัวป่วน” ที่ทำให้ราคาประมูลเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งประมูลคลื่น 1800 MHz แต่เมื่อแจส โมบายคว้าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แบบไม่ยอมถอยมาได้ ด้วยเม็ดเงิน 75,654 ล้านบาท ภาพของแจส โมบายก็เปลี่ยนไป

แจส โมบาย กลายมาเป็นผู้ให้บริการรายที่ 4 ในตลาดมือถือ ซึ่ง พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทายาทคนเดียวของ ดร.อดิศัย โพธารามิก นำทีมผู้บริหาร เปิดเผยถึงก้าวสำคัญของกลุ่มจัสมิน ในการเข้าสู่ธุรกิจ “โมบาย” เพื่อมาเติมเต็ม ธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ ที่ให้บริการอยู่ และเป็นที่ 2 ในตลาด 

“คนอื่นอาจมองว่าตลาดมือถือเป็น Red Ocean แต่สำหรับแจส เรามองว่าตลาดเป็น Blue Ocean โดยเฉพาะ Mobile Internet ยังมีโอกาสอีกมาก”

ตามแผนที่วางไว้ แจส โมบายใช้ประโยชน์จากเครือข่ายฐานลูกค้าบรอดแบนด์ 3BB ที่มีอยู่ 2 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยแต่ละบ้านมี 3-4 คน ทำให้มีลูกค้าที่เป็นโพเทนเชียล 6-8 ล้านคน

ในจำนวนนี้ คาดว่าจะมาเป็นลูกค้าของแจส โมบาย 2 ล้านเลขหมายในปี 2016 และคาดหมายว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 5 ล้านเลขหมาย

การต้องใช้เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี โดยแหล่งที่มาของเงิน พิชญ์ ชี้แจงว่า จะมาจากหลายช่องทาง 1. กองทุนเงินสด JASIFมีเงินสดเหลืออยู่ 10,000  ล้านบาท และยังใช้ประโยชน์จากกองทุน JASIF ที่มีมูลค่ากองทุนกว่า 5.5 หมื่นล้าน สามารถกู้ได้เงินได้อีก 3 เท่า ในการซื้อทรัพย์สินของแจส โมบาย

2. รายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์ ปีละ 5,000 ล้านบาท 3. ออกหุ้นกู้ (วอร์แรนต์) อายุ 5 ปี ถ้าได้ครบจะมีเงิน 15,000 ล้านบาท มาใช้ในช่วง5 ปี 4. ทำโปรเจกต์ไฟแนนซ์กับแบงก์ใหญ่ 5. ซัปพลายเออร์เครดิตอีกหลายหมื่นล้าน 6. นำแจส โมบายเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ  7. การมีโพเทนเชียล พาร์ตเนอร์ ที่เป็นต่างชาติเข้ามาถือหุ้นส่วนน้อย อยู่ระหว่าง 2-3 ราย 

พิชญ์ ยืนยันว่าบริษัทแม่ หรือ JAS ไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะมั่นใจว่าจากแหล่งเงินดังกล่าวเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจโมบายอินเทอร์เน็ต และจ่ายชำระค่าคลื่น 900 MHz

ถึงแจส โมบายจะมาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะต้งแต่ต้นปีได้เตรียมพร้อมบุคลากรที่มีอยู่เดิม 6,000 คน โดยเฉพาะช่างเทคนิค ฝ่ายขาย และบริการที่ได้รับการอบรมให้รองรับกับธุรกิจโมบายอินเทอร์เน็ตแล้ว และยังมีชอป 300 แห่งที่จะมารองรับได้เช่นกัน

ส่วนการวางโครงข่ายเสาสัญญาณ ได้มีการสำรวจล่วงหน้าแล้ว อาจจะเช่าจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และสร้างเองด้วย

โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายบรอดแบนด์ และ Hotspot มาช่วยเสริมการใช้งานของโมบายอินเทอร์เน็ต ผ่านคลื่น 900 ให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อแก้จุดอ่อนที่แจส โมบายมีคลื่นอยู่เพียงแค่ 10 MHz

             และด้วยความที่มีฐานธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เป็นเจ้าของทีวีดิจิตอลช่องโมโน และยังธุรกิจคอนเทนต์ ออนไลน์ และสิ่งพิมพ์ ถือเป็นแต้มต่อของแจส โมบายที่จะนำเสนอบริการในรูปแบบของ Convergence แบบเดียวกับทรู

            แต่ต้องรอลุ้นกันว่า แจส โมบายจะโดนรับน้องจาก 3 พี่ใหญ่ในตลาดอย่างไร พิชญ์ ยืนยันว่า “น้องใหม่ก็แสบไม่น้อยเหมือนกัน”

            ที่แน่ๆ เดิมพันของแจส โมบายครั้งนี้ น่าจะทำให้ตลาดมือถือในปีหน้าแข่งขันกันดุเดือดขึ้นอย่างแน่นอน

เอไอเอส คว้าคลื่นทีโอที แจกมือถือ 3G/4G

ทางด้าน เอไอเอส ตัดสินใจยอมยกธงขาวไม่ประมูลคลื่น 900 MHz เนื่องจากประเมินแล้วว่า เป็นราคาที่ไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสมกับการลงทุนทางธุรกิจ และไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น

 “การไม่ตัดสินใจประมูลต่อ ทำให้เราประหยัดงบไปได้ 7 หมื่นกว่าล้าน เป็นมูลค่าที่สร้างห้างสรรพสินค้าได้เลย เราสู้เอาเงินมาลงทุนเครือข่ายและดูแลลูกค้าต่อ ถึงเราจะมีคลื่นน้อยกว่าแต่มีการลงทุนมากกว่า มีเสาสัญญาณที่เพียงพอ ก็ไม่เป็นปัญหาในระยะยาว”  สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บอก

การยอมยกธงขาวของเอไอเอส มีการประเมินว่า น่าจะเข้าข่าย “เหมือนจะแพ้แต่ชนะ” คือ แพ้ประมูล แต่ชนะในเชิงกลยุทธ์ เพราะหลอกล่อให้คู่แข่งเสนอราคาสูงลิ่วแล้วตัดสินใจยกธงขาว 

เอไอเอส ยังมี “ก๊อกที่ 2” นั่นคือ การจับมือกับทีโอที ซึ่งเอไอเอสได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการนำคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHzเ ข้ามาร่วมให้บริการ

ทำให้เอไอเอสยังมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 45 MHz จากเดิมที่มีรวมกัน 30 MHz มาจากย่าน2100 Mhzจำนวน15 MHz ใช้สำหรับ 3Gได้ทั่วประเทศ มีโครงข่ายครอบคลุมกว่า98% ของประชากร และคลื่นความถี่ย่าน1800 MHzจำนวน15 MHzเปิดให้บริการ4Gภายในเดือนมกราคม2559

นอกจากนี้ เอไอเอสยังรับมือและสกัดค่ายทรูที่กำลังเปิดเกมรุกเข้ามาช่วงชิงลูกค้า 2G  บนคลื่นความถี่ 900 MHz ด้วยการยื่นข้อเสนอไปที่ กสทช. เพื่อขอเยียวยาลูกค้า 2G กลุ่มนี้ไปอีก 1 ปี พร้อมกับออกแคมเปญ “แจกมือถือฟรี” ให้ลูกค้าที่ใช้ 2G บนเครือข่าย 900 MHz อัปเกรดมาใช้ 3G และ 4G

เอไอเอสระบุว่า ลูกค้าเอไอเอสที่ใช้งานระบบ2Gบนคลื่นความถี่ 900 MHzเหลืออยู่กว่า1ล้านเลขหมาย และยังมีลูกค้าบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ยังมีลูกค้าที่ใช้ 2Gและใช้บริการโรมมิ่งมายังโครงข่าย900 MHzอยู่11ล้านเลขหมาย

เอไอเอสได้เตรียมเครื่อง 11-12 ล้านเครื่อง เพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้อัปเกรดเครื่องให้เป็น 3G และ 4G ได้ฟรี เครื่อง มีทั้งเครื่องฟีเจอร์โฟน และสมาร์ทโฟน 3G/4G ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 890 บาท ไปจนถึง 2,490 บาท โดยลูกค้าชำระเงินเบื้องต้นในลักษณะการเติมเงินตั้งแต่ 100-1,290 บาท พร้อมติดสัญญาการใช้ 1 ปี

ส่วนของการลงทุนในปีหน้าคาดการณ์ว่าจะไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท โดยลงทุนเรื่องเสาสัญญาณ ทำให้ตอนนี้เพิ่มขึ้นจาก 13,000 เสา เป็น 25,000 เสา ซึ่งเอไอเอสเชื่อว่าจะครอบคลุมสัญญาณได้ทั่วประเทศ แม้จะไม่มีคลื่น 900  MHz แล้วก็ตาม

นับว่าเป็นการเปิดฉากแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบระหว่างเบอร์ 1 อย่างเอไอเอส และผู้ท้าชิงอย่างทรู โดยมีคลื่น 900 MHz และฐานลูกค้า 2G จำนวน 14-15 ล้านราย เป็นเดิมพันในศึกครั้งนี้

ดีแทคลุยสร้างความเชื่อมั่นกางแผนลงทุนต่อเนื่อง

          หลังจากถอยจากประมูลคลื่น 1800 MHz มาแล้ว มาถึงการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาให้ได้ มีการคาดหมายกันว่า ดีแทคน่าจะสู้ไม่ถอยแน่ๆ เนื่องจากคลื่นในมือส่วนใหญ่ทั้ง 850 MHz และ 1800 MHz เหลืออายุสัมปทาน 3 ปี มีแค่คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เท่านั้นที่มีอายุถึงปี 2570 ไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ลูกค้าจำนวนมาก หากจะรอประมูลใบอนุญาตตอนหมดสัมปทานก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

          แต่เมื่อตัดสินใจถอยไม่ประมูลต่อ ดีแทคจึงต้องเดินสายเพื่อเรียกความมั่นใจให้กับพนักงาน นักลงทุน และลูกค้า   

“คลื่นความถี่ที่ได้มา ต้องได้มาด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ถึงเราจะไม่ชนะ แต่เราพอร์ตโฟลิโอเราก็ไม่น้อยหน้า คลื่นเดิม 850 MHz, 1800 MHz และ 2100 MHz บนแบนด์วิธกว้าง 50 MHz คลื่นที่ประมูลก็ไม่ใช่คลื่นเดิมของดีแทค ไม่ได้กระทบเท่าไรนัก” ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ยืนยัน

แต่เขายอมรับว่า มีผู้เล่นเข้ามาใหม่จะทำให้ตลาดหวือหวาขึ้น และการเติบโตของ 4G จะสูงมากขึ้นทั้งจำนวนผู้ใช้และดีไวซ์ ดีแทคได้ตั้งเป้าลูกค้า 4G เพิ่มเป็น 4.5 ล้านรายในปีหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 2.2 ล้านราย

ตามแผนงานที่วางไว้ ดีแทคจะใช้เงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาทในปีหน้า ขยายเครือข่าย 3G ให้ครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ รวมถึงขยาย 4G บนคลื่น 1800 MHz ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัด 40 จังหวัด อีก 2,200 สถานี ภายในต้นปีหน้า และขยาย 4G บนคลื่น 2100 MHzให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า

รวมทั้งนำเสนอแพ็กเกจราคาค่าบริการราคาถูกลง และทำตลาดโทรศัพท์มือถือเฮาส์แบรนด์เพื่อรองรับ 4G อย่างจริงจัง ในราคา 2,000-2,500 บาท

ต้องรอดูว่า ก๊อกที่ 2 ของดีแทคที่อยู่ระหว่างเจรจากับ บมจ กสท โทรคมนาคม ในการขยายการใช้คลื่น 1800 MHz จะมีการหมดสัมปทานในปี 2561 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ในรูปแบบของ MVNO ขายส่ง-ขายต่อบริการไปจนถึงปี 2568  จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ จะทำให้ดีแทคใจชื้นเพิ่มขึ้นได้