FACEBOOK ชี้ 5 เทรนด์ตลาดออนไลน์ในเอเชีย ปี 2016

เคนเน็ธ บิชอป กรรมการผู้จัดการ Facebook ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า จากการสังเกตการณ์ของ FACEBOOK ถึงแนวโน้มการตลาดออนไลน์ในเอเชียที่ผ่านมาในปี พบว่ากลยุทธ์การตลาดออนไลน์ในปี 2015  ยังคงมีบทบาทต่อเนื่องในปี 2016 นี้ มีดังนี้
 
1. มือถือเทรนด์แรงไม่มีตก
 
มือถือฝังรากลึกในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว เป็นสิ่งแรกที่หยิบดูเมื่อตื่นนอน และเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะเช็กก่อนเข้านอน สังเกตได้ว่าผู้ใช้ Facebook ส่วนใหญ่เข้าถึงแพลตฟอร์มผ่านช่องทางมือถือ 
 
จากตัวเลขผู้ใช้งานแอคทีฟของ Facebook กว่า 36 ล้านคนในประเทศไทย มีถึง 94 เปอร์เซ็นต์เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มผ่านทางโทรศัพท์มือถือ 
 
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการลงทุนสื่อโฆษณาดิจิตอลในเอเชีย แปซิฟิกก็สูงที่สุดกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก (เฉลี่ย 32.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนในสื่อโฆษณาทั้งหมด (ที่มา: eMarket เดือนกันยายน 2015) และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต เมื่อพิจารณาจากปริมาณการใช้งานมือถือในภูมิภาคนี้
 
2. ความสร้างสรรค์บนมือถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
 
อินสตาแกรม เปิดตัวโฆษณาแบบบริการตนเองเมื่อปีที่ผ่านมา และเอเชียก็เป็นตลาดที่ใช้งานแพลตฟอร์มของการเล่าเรื่องราวผ่านรูปภาพที่มีการเติบโตสูงที่สุด ปัจจุบันอินสตาแกรมมีจำนวนผู้ใช้แอคทีฟทั่วโลกต่อเดือนกว่า 400 ล้านคน และเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวอินสตาแกรมต้องการแรงบันดาลใจจากรูปภาพที่ถ่ายอย่างสร้างสรรค์ แบรนด์ที่เข้าใจถึงพลังการเล่าเรื่องอย่างถ่องแท้ และออกแบบแคมเปญที่มีความสร้างสรรค์ตรงใจผู้คนจะประสบความสำเร็จมากที่สุด Facebook ครีเอทีฟช็อปและทีมวิทยาศาสตร์การตลาดได้ร่วมงานกับธุรกิจและเอเจนซี่ต่างๆ ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าโฆษณามีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
2 ตัวอย่างของแบรนด์ใช้ Instragram ด้วยความสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ดีแทค ด้วยการใช้ภาพที่มีความสร้างสรรค์และดึงดูดผู้คน ดีแทคได้เข้าถึงผู้ใช้งานชาวไทยกว่า 3.15 ล้านคน และมียอดวิววิดีโอถึง 777,000 คน ด้วยต้นทุนเพียง 1 บาทต่อ 1 วิวเท่านั้น แบรนด์ยังใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารหลักและจัดกิจกรรมทางตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ใช้งานมือถือ
 
ลาซาด้า ใช้รูปภาพที่สร้างสรรค์ร่วมกับฟังก์ชั่นปุ่มที่ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งาน เพื่อคลิกติดตั้งแอปพลิเคชันลาซาด้าได้ทันที ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานชาวไทยได้ถึงกว่า 1.6 ล้านคนบนอินสตาแกรม ด้วยการลงทุนที่น้อยกว่าการติดตั้งแอปพลิเคชันแบบปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เพิ่มอัตราการคลิกไปยังแอปพลิเคชันได้มากกว่า 77 เปอร์เซ็นต์
 
3. “มัลติสกรีน” บรรทัดฐานใหม่ในเอเชีย
 
9 ใน 10 ของผู้ใช้งานในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ใช้มือถือขณะที่นั่งดูโทรทัศน์ (ที่มา: eMarketerเดือนกรกฎาคม 2015) ซึ่งรวมถึงการค้นหาข้อมูลรายการที่พวกเขารับชมอยู่ พูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ติดตามโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ผ่านทางออนไลน์ และอ่านฟีดข่าวบน Facebook 
 
ทั้งนี้โฆษณาสินค้าบน Facebook ยังถือว่ามีประสิทธิภาพในการสร้างอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากกว่าโฆษณาโทรทัศน์ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ (มิลวาร์ด บราวน์) และเรายังเห็นแนวโน้มแบรนด์ต่างๆ เริ่มเปิดตัวแคมเปญที่ใช้ประโยชน์จากมัลติสกรีนมากขึ้นเรื่อยๆ
 
4.  เชื่อมFacebook จากทุกเครือข่าย
 
ทุกวันนี้ผู้คนกว่าพันล้านคนในประเทศที่กำลังพัฒนากำลังหลั่งไหลเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต และเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถเชื่อมต่อเข้าถึง Facebook ได้ จึงมุ่งออกแบบและพัฒนาบริการให้ใช้งานได้กับอุปกรณ์และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกรูปแบบ 
 
ล่าสุดได้พัฒนาการฟีดข่าวของ Facebook ให้ใช้งานได้แม้ว่าจะเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่ำ โดยผู้ใช้สามารถโพสต์คอมเมนต์ได้ระหว่างที่ออฟไลน์ ระบบจะเลือกดาวน์โหลดเนื้อหาและภาพต่างๆ ขณะที่อ่านอยู่ก่อน แทนที่จะดาวน์โหลดเนื้อหาอื่นๆ ในฟีดข่าวมาเป็นชุด และอัพเดตเนื้อหาให้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อผู้ใช้กลับมาเชื่อมต่อกับสัญญาณที่เสถียรแล้ว 
 
สำหรับอีกหนึ่งความท้าทายของ Facebook คือการนำเสนอวิดีโอในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งยังไม่สามารถใช้งานเครือข่าย 4Gได้ โดยFacebook ได้เปิดตัวสไลด์โชว์ วิดีโอที่สร้างจากภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อกัน ซึ่งสามารถรับชมได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอุปสรรคทางเครื่องมือสื่อสารหรือปัญหาเรื่องสัญญาณการเชื่อมต่อ 
 
นอกจากฟีเจอร์ใหม่บน Facebook แล้ว ยังนำเสนอโครงการ Creative Accelerator เพื่อช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ในประเทศที่มีการเติบโตสูง ให้เรียนรู้ถึงพลังของการเล่าเรื่องและนำมาปรับใช้กับการสื่อสารสินค้าให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น
 
5. ผลักดันให้เอเชียเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น
 
ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกมีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่ก็ยังมีช่องทางที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้มากขึ้น เราตระหนักเป็นอย่างดีว่าการเชื่อมต่อมีพลังในการเปลี่ยนชีวิตผู้คนและสังคมให้ดีขึ้นได้ ผลการศึกษาจาก Deloitteเมื่อปี 2014 พบว่าอัตราการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ช่วยสร้างงานให้กับผู้คนมากกว่า 140 ล้านคน โดยผู้คนกว่า 160 ล้านคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กได้ถึง 7 เปอร์เซ็นต์
 
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการให้โตขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น Kalpana Rajesh ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ธุรกิจเครื่องประดับของเจ้าสาวในประเทศอินเดียที่ชื่อว่า PelliPoola Jada สร้างงานให้กับผู้คนมากมายทั่วประเทศ เธอเริ่มต้นธุรกิจในปี 2013 ด้วยพนักงานหญิงเพียงสามคนที่ช่วยเธอประดิษฐ์และขายเครื่องประดับผมสำหรับเจ้าสาว มาในปี 2015 เธอมีพนักงานหญิงมากกว่า 200 คน ที่ทำงานดูแลธุรกิจที่แตกไลน์มากมายจำนวนกว่า 36 สาขา