ปุ่มไลค์ใหม่ของ Facebook ดีจริงหรือ?

เชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กแทบทุกคนต้องเคยกดปุ่ม “ไลค์” กันมาแล้วอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ชีวิตเราจะยากขึ้นอีกนิด เพราะต่อไปเฟซบุ๊กจะไม่ได้มีเฉพาะปุ่มไลค์เท่านั้น
 
โซเชียลเน็ตเวิร์คอันดับหนึ่งของโลกกำลังจะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Reactions ที่จะช่วยให้ผู้ใช้แสดงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนขึ้นอีกนิด
 
ในการประชุมทางไกลกับนักวิเคราะห์หลังจาก Facebook ได้เผยรายงานทางการเงินของบริษัท ซีอีโอคนดัง Mark Zuckerberg ยืนยันว่า Reactions ซึ่งได้ทดลองใช้แล้วในบางประเทศ อย่างสเปนและไอร์แลนด์ จะเปิดให้บริการทั่วโลก “ในไม่ช้า”
 
Zuckerberg กล่าวว่าไอเดียของฟีเจอร์นี้คือการเพิ่ม “ความซับซ้อนขึ้นอีกนิด” ให้กับสิ่งที่ง่ายมากๆ “ก่อนหน้านี้มีเพียงปุ่มไลค์ เมื่อมีการแชร์เรื่องราวที่น่าเศร้า หรือสร้างความโกรธ ผู้ใช้ไม่มีเครื่องมือที่จะแสดงความรู้สึกต่อสิ่งนั้น”
 
ตอนนี้เฟซบุ๊กจึงมอบเครื่องมือชิ้นใหม่ให้กับผู้ใช้ในรูปแบบของอีโมติค่อนที่มีการแสดงอารมณ์ทั้ง “รัก” “ฮ่าๆ” “ว้าว” “เศร้า” และ “โกรธ” โดยที่ปุ่มไลค์แบบเดิมก็ยังคงอยู่
 
อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้มีอีกหนึ่งปุ่ม คือ “Yay” แต่ปุ่มนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากผู้ใช้งานกลุ่มทดลองไม่เข้าใจว่าปุ่มนี้แสดงความรู้สึกแบบไหนกันแน่
 
สำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีอยู่เป็นพันล้านคนในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจสร้างความลำบากใจในการตัดสินใจแสดงความรู้สึกของตัวเองต่อสิ่งต่างๆ ในโลกโซเชียลแห่งนี้มากขึ้น ฉันควรแค่กดไลค์ให้รูปสุนัขของเพื่อนหรือจะกด “รัก” ดี ฉันควรแสดงความรู้สึกตรงๆ ให้เพื่อนรู้ไปเลยไหมว่าฉันไม่พอใจความคิดเห็นของเขาต่อปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการกดปุ่ม “โกรธ” หรือจะแค่กดปุ่ม “ฮ่าๆ” ก็พอ
 
แต่กลุ่มคนที่น่าจะ “ว้าว” กับไอเดียนี้ที่สุดสมควรจะเป็นกลุ่มผู้ลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก จากข้อมูลล่าสุด กลุ่มผู้ลงโฆษณาซื้อไอเดียนี้ของเฟซบุ๊ก และชอบที่จะมีหนทางให้แบรนด์สามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าในรูปแบบที่ต่างออกไป และสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้าได้ในทุกแง่มุม เพราะตอนนี้เฟซบุ๊กจะมีข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างมากของผู้บริโภคอยู่ในมือ
 
Simon Calvert หัวหน้าด้านกลยุทธ์การตลาดจากเอเจนซี่ Lida ให้ความเห็นว่า หากระบบใหม่นี้สามารถแสดงความรู้สึกของผู้ใช้ได้จริงจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
 
“ความรู้สึกไปเร็วกว่าความคิดอย่างมีเหตุมีผลถึง 5 เท่า” เขากล่าว “ดังนั้นการที่เราสามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าด้านความรู้สึกได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ลงโฆษณาอย่างยิ่ง”
 
คุณค่าของยอดไลค์เฟซบุ๊กนั้นถูกลดทอนลง “เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ สะสมยอดไลค์กันอย่างไร้เหตุผล” Calvert กล่าว แต่สำหรับ Reactions เขาเห็นว่าผู้ลงโฆษณาจะสามารถใช้เพื่อดูข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนได้
 
Kristal Ireland ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คอีกคนจาก Twentysixdigital กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จากเฟซบุ๊กมักจะสร้างความตื่นเต้นได้อยู่เสมอ และเชื่อว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ว่าผู้รับสารคิดเห็นอย่างไรกับข้อความการตลาดที่ส่งออกไป แต่ก็ยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลนี้อย่างไร “สุดท้ายแล้วคุณอาจได้รับข้อมูลที่แยกย่อยออกไปจนไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าหน้าตาของโฆษณาของคุณควรจะเป็นอย่างไรกันแน่”
 
แล้วผู้ใช้เฟซบุ๊กธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ คิดเห็นอย่างไรกับการแสดงความรู้สึกด้วยปุ่มอีโมติค่อนใหม่ที่เฟซบุ๊กเพิ่มเข้ามาครั้งนี้? Nick Oliver อยากให้ทุกคนระมัดระวังในส่วนนี้ บริษัท Pelple.io ของเขาก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวผ่านโซเชียลมีเดีย และตระหนักถึงมูลค่าของข้อมูลนี้ที่มีต่อนักโฆษณา
 
“จากมุมมองของผู้บริโภค นี่เป็นการเปิดเผยข้อมูลความรู้สึกของพวกเขา แต่ข้อมูลนี้ถูกนักโฆษณาควบคุมและนำไปใช้” เขากล่าว “ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนกับโลกโซเชียล แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปถูกนำไปใช้อย่างที่ไม่คาดคิด”
 
พร้อมเสริมว่า อัตราการใช้บริการบล็อกโฆษณาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถใช้ได้ในเฟซบุ๊กนั้น ยิ่งทำให้ข้อมูลตรงนี้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นไปอีก “ความต้องการที่จะดึงความสนใจของผู้คนยิ่งจะมีราคาสูงขึ้นไปอีก”
 
แน่นอนว่า คำถามสำคัญสำหรับนักโฆษณาคือ ผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจแค่ไหนในการใช้งานปุ่ม Reactions ต่างๆ
 
เราต่างได้เห็นผู้คนเป็นล้านๆ คนแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาผ่านสื่อโซเชียล และเราก็ได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วเช่นกันว่าการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกสามารถสร้างอันตรายกับตัวเราได้มากแค่ไหน
 
การถอดรหัสตีความหมายการแสดงความรู้สึกรัก ตลก และเศร้าใจต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะกลายเป็นทักษะสำคัญที่นักการตลาดต้องเรียนรู้และจำเป็นต้องมีในอนาคตอย่างแน่นอน