เน็ตไอดอลเฟื่องจัด แบรนด์จัดหนักไม่มีไม่ได้แล้ว

จากเน็ตไอดอล สู่พรีเซ็นเตอร์สินค้า แบรนด์นิยมใช้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ รีเฟรชแบรนด์ให้ดูเด็กลง ด้านเอเยนซีใหม่แจ้งเกิด รับปั้นเน็ตไอดอลป้อนสู่ตลาด
 
ในยุคที่เน็ตไอดอลสามารถแจ้งเกิดได้ง่ายพอๆ กับการหาเซเว่นฯ ตามริมถนน ทำให้มีเน็ตไอดอลตั้งแต่วัยมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเกิดเพราะหน้าตาดี และมีไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่น พอมีแฟนคลับติดตามจำนวนมากก็เลยยกตำแหน่ง “เน็ตไอดอล” ให้ไปโดยปริยาย
 
ยิ่งกระแสออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ด้วยแล้ว หลายแบรนด์จึงหันมาเลือกใช้เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารไปยังผู้บริโภค คนรุ่นใหม่ ที่นิยมเสพสื่อบนโลกออนไลน์ บวกกับจำนวนฐานแฟนคลับจำนวนมาก ทำให้เน็ตไอดอลไม่น้อยที่กลายมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์สินค้าหลายชนิด
 
สินค้า หรือแบรนด์ที่เลือกใช้บริการเน็ตไอดอลในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มบิวตี และแฟชั่นอย่างเดียวแล้ว แต่ยังขยายไปยังสินค้าประเภทคอนซูมเมอร์โปรดักต์ ไลฟ์สไตล์ และอาหาร ใช้เน็ตไอดอลมาเป็นตัวแทนในการสื่อสารมากขึ้น อย่าง โออิชิ, เป๊ปซี่, โค้ก และเลย์ เป็นต้น 
 
 
แจ้งเกิด “จับของร้อน” เอเยนซีน้องใหม่ปั้นเน็ตไอดอล
 
ด้วยความที่ “เน็ตไอดอล” เป็นที่นิยมของทั้งผู้ติดตามและเจ้าของสินค้า จึงทำให้มีผู้เล่นที่ลงมาจับตลาดเน็ตไอดอลอย่างจริงจัง จากเดิมในตลาดจะมี “นัฟแนง” ที่ทำตลาดมาก่อนหน้านี้ โดยมุ่งเน้นเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งโดยเฉพาะ และมีการปั้นเน็ตไอดอลและบล็อกเกอร์ในสังกัดขึ้นมาเพื่อป้อนงานให้ด้วย
 
ล่าสุด “บริษัท จับของร้อน จำกัด” ดิจิตอลเอเยนซีน้องใหม่ ที่เห็นโอกาสอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง เข้ามาทำธุรกิจ “เน็ตไอดอล” ในรูปแบบของอะคาเดมีในการปั้นเน็ตไอดอล และเอเยนซี ดูแลหางานในการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าให้กับเน็ตไอดอล เพราะมองเห็นโอกาสและมูลค่าจากตลาดนี้ ซึ่งยังสามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะ ตราบใดที่ดิจิตอลยังมีการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมคนไทยกับการเล่นโซเชียลมีเดียที่มากขึ้น
 
พงษ์ศักดิ์ เจริญกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จับของร้อน จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องการเป็นเน็ตไอดอลเป็นจำนวนมาก ด้วยสังคมโซเชียลทำให้คนกล้าแสดงออก และแต่ละคนมีคอนเทนต์และมีสไตล์เป็นของตัวเองด้วย บางคนก็มีรับงานเป็นของตัวเองแล้วแต่ก็อยากมาร่วมกับเรา เพราะว่าบางคนไม่ต้องการติดต่อกับแบรนด์โดยตรง บริษัทจึงรับหน้าที่เป็นเอเยนซี เป็นผู้จัดการคอยติดต่อและหางานให้
 
กระบวนการดูแลเน็ตไอดอล จะมีตั้งแต่การมิตติ้งสอนทำคอนเทนต์ โดยจะไม่มีการเซ็นสัญญาผูกมัดว่าจะอยู่กี่ปี แต่เป็นเรื่องของ Agreement เป็นสัญญาใจมากกว่า แต่จะซีเรียสเรื่องไทม์ไลน์ในการลงคอนเทนต์เท่านั้นเอง รายได้จะมีการแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์กัน ซึ่งแบรนด์เองมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องการให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น
 
นอกจากเป็นผู้จัดการคอยดูแลให้กับเน็ตไอดอลแล้ว ยังมีในส่วนของ The Hotties เป็นเหมือนอะคาเดมีในการปั้นเน็ตไอดอล เริ่มตั้งแต่การสรรหาผู้ที่สนใจต้องการมาเป็น “เน็ตไอดอล” ในสังกัด โดยจะดูจากที่มีคาแรกเตอร์และมีโอกาสที่จะปั้นได้ ในตอนนี้มีในสังกัดแล้ว 3 คน แต่เริ่มมีคนสนใจอยากเข้าสังกัดอีก 10 คน
 
“ล่าสุดน้อง 2 คนในสังกัด ชื่อ สไมล์ และ ดุ๋ยดุ๋ย ที่ได้มีการโปรโมตคลิปวิดีโอเป็นคอนเทนต์แบบของน้องเขา เรื่องแฟชั่น และเรื่องสกินแคร์ โปรโมตผ่านเฟซบุ๊กเพจของน้องเขา ก็มีฟีดแบ็กที่ดี ทำให้มี 5 แบรนด์เริ่มให้ความสนใจเข้ามาแล้ว”
 
อย่างไรก็ตาม พงศ์ศักดิ์ ยืนยันว่า เขาไม่ต้องการเน้นที่ปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ ต้องการผลักดันให้เน็ตไอดอลในสังกัดให้เปรี้ยงกว่านี้ ติดท็อป 5 ของเน็ตไอดอลที่คนนึกถึง โดยในอนาคตอาจจะแยกน้องเน็ตไอดอลตามความถนัด หรือตามคอนเทนต์ต่างๆ อย่าง แฟชั่น บิวตี ท่องเที่ยว แต่คงเน้นที่แฟชั่น และบิวตีมากกว่า ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงคอนซูมเมอร์โปรดักต์ด้วย
 
 
แบรนด์ฮิตใช้เน็ตไอดอล
 
ในส่วนของการตลาดที่ใช้เน็ตไอดอล พงษ์ศักดิ์ มองว่า เทรนด์การใช้เน็ตไอดอลของแบรนด์มีเพิ่มสูงมากขึ้น โดยมักจะใช้ควบคู่กับเครื่องมือการตลาดหลายหมวด โดยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในหมวดสินค้าบิวตีมากที่สุด แต่คอนซูมเมอร์โปรดักต์ก็เริ่มเห็นมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ อย่างเช่นของตกแต่งบ้าน ยาสีฟัน
 
การใช้เน็ตไอดอล จะเน้นสร้างการรับรู้ เพราะมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก และมีพลังในการจูงใจคนได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องการเรื่องความน่าเชื่อถือ มักจะเลือกใช้บล็อกเกอร์เป็นหลัก ซึ่งบางแบรนด์มองว่าการใช้เน็ตไอดอลคุ้มค่ากว่าการจ่ายก้อนใหญ่ให้กับเซเลบริตีที่มีค่าตัวค่อนข้างสูง ยิ่งเน็ตไอดอลบางคนที่นิยมมากๆ จะมีศักยภาพค่อนข้างมาก
 
การเลือกใช้เน็ตไอดอลของแบรนด์ จึงใช้ควบคู่กับพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดารา นักร้อง เซเลบริตี เพื่อต้องการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มแมสมากที่สุด ในขณะที่บางแบรนด์เริ่มหันมาใช้เน็ตไอดอลเพียงอย่างเดียว เพราะต้องการสื่อสารเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่นิยมเสพแต่สื่อออนไลน์
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อความนิยมเน็ตไอดอลเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็สูงตาม ราคาเฉลี่ยโพสต์ภาพผ่านเน็ตไอดอลเวลานี้พุ่งไปถึง 30,000-50,000 บาท/ภาพ สำหรับคนที่มีผู้ติดตาม 300,000-800,000 คนขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีราคาสูงกว่าบล็อกเกอร์ไปแล้ว เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าที่จะได้รับ ทำให้บางแบรนด์ต้องเลือกรัดเข็มขัดตามภาวะเศรษฐกิจขาลง ลดการใช้เน็ตไอดอล
 
 
ทำไมแบรนด์ต้องใช้เน็ตไอดอล
 
แม้จะมีเน็ตไอดอลมากมาย แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ต้อง แพรี่ พาย จนมาล่าสุด “พิมฐา” ฐานิดา มานะเลิศเรืองกุล เน็ตไอดอลขวัญใจฮิปสเตอร์ที่มีไลฟ์สไตล์โดดเด่นเรื่องการถ่ายภาพ และลุคสาวญี่ปุ่นด้วย ทำให้เธอถูกเลือกเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่น เซ็ปเป้ บิวติดริ้งค์, เดอะพิซซ่าคอมปะนี, ไอศกรีมกูลิโกะ, เย็นเย็น และขาไก่ โลตัส
 
ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นว่า ”การบริโภคสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เซ็ปเป้จึงเลือกใช้เน็ตไอดอลที่เป็น Upcoming หรือเป็น New star ดวงใหม่ เพราะเซเลบริตีมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก หลายแบรนด์มีการใช้กันทั้งสิ้น และเซ็ปเป้ก็เคยใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นเซเลบริตีแล้วเช่นกัน มองว่าไหนๆ จะรีเฟรชแบรนด์แล้ว ก็ทำให้มันแปลกใหม่ไปเลย และเพื่อต้องการที่จะจับกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลงด้วย
 
ในขณะที่ ไอศกรีมกูลลิโกะ เลือกพิมฐา เพราะเป็นเน็ตไอดอลที่คนติดตามเยอะ และต้องการสร้างกระแสในการทำตลาดตอนแรกด้วย จึงอาศัยความแรงของพิมฐามาช่วยโปรโมต รวมถึงต้องการคุยกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มวัยรุ่นด้วย อีกทั้งพิมฐายังได้ลุคของความเป็นญี่ปุ่นอยู่ เพราะเคยเรียนที่ญี่ปุ่นมา ทำให้คาแรกเตอร์เข้ากับแบรนด์
 
ส่วน เย็นเย็น มีพรีเซ็นเตอร์เป็นครั้งแรก โดยเลือก พิมฐา เป็น 1 ใน4 พรีเซ็นเตอร์ ประกอบไปด้วย เอกชัย ศรีวิชัย, เปาวลี พรพิมล, ศุกลวัฒน์ คณารศ  ซึ่ง ธนพันธุ์ คงนันทะ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า การที่เลือกพิมฐาซึ่งเป็นตัวแทนของคนภาคเหนือ ถึงแม้ว่าจะไม่แมสเหมือนกับพรีเซ็นเตอร์อีก 3 คน มาช่วยให้แบรนด์ดูกลมกล่อมและมีอายุไม่เยอะจนเกินไป