Beyond Chat! เปิดแผน “ไลน์” กับ 3 ความท้าทายสู่ซิงเกิลแพลตฟอร์ม

เป็นเป้าหมาย และความท้าทายอันดับหนึ่งมาสักพักแล้ว สำหรับ “ไลน์ ประเทศไทย” ที่หลังจากได้ “อริยะ พนมยงค์” ขึ้นแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของประเทศไทย ก็เร่งเดินหน้าเพื่อปั้นไลน์ที่เติบโตมาจากแชตแอพพลิเคชั่น ให้กลายเป็น “ซิงเกิล แพลตฟอร์ม” ที่รวบรวมบริการหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน
 
หลังจากที่ได้นำร่องในการสร้างฐานลูกค้า และออกบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ไลน์มี 5 ธุรกิจหลักด้วยกันคือ เกม, ธุรกิจ (B2B), คอนเทนต์, อีคอมเมิร์ซ และเพย์เมนต์
 
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “เราต้องการให้ไลน์เป็นมากกว่าแชต เป็นมากกว่ามีเดีย แต่ต้องการให้เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นรวมทุกบริการเอาไว้ ไม่ต้องโหลดหลายแอพ ส่วนทางด้านธุรกิจอยากต้องการช่วยแบรนด์ทั้งในการสร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย และนวัตกรรมใหม่ๆ ยังมีอีกหลายบริการที่ยังไม่มีในไทย จะได้เห็นในปีนี้แน่นอน”
 
อริยะได้เสริมถึงความท้าทายสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน ในการที่จะปั้นไลน์สู่การเป็นซิงเกิลแพลตฟอร์ม ข้อแรกคือ แอพพลิเคชั่นมีเยอะเกินไปแบบโอเวอร์โหลด ซึ่งปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่อยู่บน GooglePlay จำนวน 1.6 ล้านแอพ และอยู่บน AppStore จำนวน 1.5 ล้านแอพ แต่ผู้ใช้งานมีการดาวน์โหลดไว้บนเครื่องเฉลี่ยคนละ 39 แอพ และใช้งานจริง 17 แอพเท่านั้น การรวมบริการเข้าด้วยกันในที่เดียวทำให้ผู้ใช้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยที่ในอนาคตจะมีการพัฒนาโลคอลคอนเทนต์ที่เกิดจากประเทศไทย เพื่อคนไทยโดยเฉพาะด้วย และมีการจับมือ พร้อมกับสนับสนุนสตาร์ทอัพในการช่วยพัฒนานวัตกรรม และระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
 
 
ข้อสอง การสร้างระบบนิเวศของโลกดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาด หรือแบรนด์ทำงานได้ง่ายขึ้นในการเลือกใช้บริการ แอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่างการใช้ Official Account ในการช่วยการสร้างเอ็นเกจเมนต์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคมากขึ้น สามารถคุยแบบ 1 ต่อ 1 ได้ ไปจนถึงสามารถสร้างยอดขายได้จาก Official Account
 
และข้อที่สาม การช่วยเหลือ SME ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาส และการเติบโตสูง ซึ่งกลุ่ม SME ยังคงสำคัญอยู่ ตอนนี้มีผู้ประกอบการ SME ในไทยอยู่ราว 2.8 ล้านราย แต่มีเพียง 500 รายเท่านั้นที่อยุ่บนออนไลน์ แต่ไม่ได้แอคทีฟทั้งหมด ซึ่งเขามองว่าดิจิทัลซับซ้อนสำหรับเขา และมีงบลงทุนไม่ได้เยอะเท่าแบรนด์ใหญ่ ทางไลน์จึงหาบริการเพื่อมาตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มนี้กับบริการ LINE@ ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการใช้ไลน์ปกติได้ เป็นอะไรที่คุ้นเคยอยู่แล้ว
 
แต่บริการอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลักของไลน์แล้ว อาจจะมีเสริมเป็นบริการใหม่เข้ามาที่เป็นบริการที่มีประโยชน์ อย่างเช่นการแปลภาษาที่อาจจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในเร็ววันนี้ก็ได้
 
ทำให้ตอนนี้ไลน์มี 5 ธุรกิจหลักด้วยกันคือ เกม, ธุรกิจ (B2B), คอนเทนต์, อีคอมเมิร์ซ และเพย์เมนต์