“ศุภชัย” ใจป้ำ ไม่คิดเงินเช่าคลื่น 900 MHZ ให้เอไอเอสใช้ฟรี 3 เดือน

“ศุภชัย” โชว์ป๋า ให้เอไอเอสใช้คลื่น 900 MHz จำนวน 5MHz ฟรี เผยเป็นห่วงลูกค้าซิมดับ ชี้แม้โรมมิ่งกับดีแทคลูกค้าก็ไม่มีสัญญาณ 3-4 ล้านราย เพราะเครือข่ายไม่ครอบคลุม ด้าน “ฐากร” รับลูกพร้อมเป็นกาวใจ ก่อนนำเรื่องพิจารณาให้ใบอนุญาตทรูฯ วันที่ 14 มี.ค.นี้
 
วันนี้ (11 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.39 น. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรก จำนวน 8,040,000,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 562,800,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,602,800,000 บาท มาชำระให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทได้วางหลักประกันการประมูล จำนวน 644,000,000 บาทไว้แล้ว จึงเหลือเงินที่จะนำมาชำระในวันนี้ 7,958,800,000 บาท พร้อมกันนี้ ได้นำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 73,036,060,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนมาชำระเงินให้แก่ตัวแทน กสทช. ประกอบด้วย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
 
นายศุภชัย กล่าวภายหลังการมาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ว่า ตนเองยังกังวลใจเรื่องโครงข่ายที่กำลังขยายอยู่ และยังสร้างไม่เสร็จซึ่งกว่าจะครอบคลุม 97% ของจำนวนประชากร จำนวน 16,000 สถานี ในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้น จึงกลัวว่าลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) รายเดิม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จะไม่สามารถใช้งานได้ หรือซิมดับ แม้ว่าเอไอเอสบอกว่าได้โรมมิ่งกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แล้วก็ตาม แต่การโรมมิ่งกับดีแทค ระบบ 2G คลื่น 1800 MHz นั้น ดีแทค ก็ยังมีเครือข่ายไม่ครอบคลุมเท่ากับเครือข่าย 2G เดิมของเอไอเอส ซึ่งจากการประเมินของบริษัทพบว่า พื้นที่ที่ดีแทคไม่ครอบคลุมน่าจะกระทบต่อลูกค้าประมาณ 3-4 ล้านราย แม้ว่าลูกค้าจะเปลี่ยนเครื่องหรือซิมการ์ดก็ตามก็ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะไม่มีสัญญาณ
 
ทั้งนี้ การปฏิเสธของเอไอเอสในข้อเสนอของบริษัทเพื่อนำคลื่น 900 MHz กสทช.ให้เอไอเอสใช้เป็นเวลา 3 เดือนนั้น จะทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ โดยตนเองขอยืนยันว่า ความตั้งใจตั้งแต่แรกคือ ต้องการให้ใช้คลื่นฟรี ถ้าเอไอเอสต้องการใช้ 5MHz บริษัทก็ให้ฟรีทั้งหมด ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เองก็ต้องลงขันเพื่อให้ใช้โครงข่ายด้วย ซึ่งในการประชุม 2 วันที่ผ่านมา มีการยกตัวเลขค่าใช้จ่ายขึ้นมา ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย ตนเองอยากให้ทุกฝ่ายพักเรื่องการแข่งขัน หรือการเป็นคู่แข่งเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ ดังนั้น ลูกค้าสามารถย้ายมาใช้งานระบบ 850 MHz ของทรูฯ ได้
 
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ตนเองก็เพิ่งทราบว่าทางทรูฯ ไม่คิดค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากเอไอเอสจะเปลี่ยนใจก็ยังมีเวลา กสทช.พร้อมเป็นเจ้าภาพนัดเจรจาให้ ซึ่งตัวเลขที่คิดนั้นมาจากการคิดต้นทุนโครงข่ายโดยเฉลี่ย ขั้นตอนจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 14 มี.ค. เวลา 08.00 น.เนื่องจากบ่ายวันนี้ (11 มี.ค.) กรรมการ กทค.บางคนติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ จากนั้นต้องรอดูมติที่ประชุมก่อนว่าจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ให้แก่ทรูฯ วันไหน ซึ่งจะเป็นการกำหนดวันสิ้นสุดมาตรการเยียวยาลูกค้า 2G ของเอไอเอสด้วย
 
สำหรับการชำระเงินประมูลงวดที่สอง จะชำระจำนวน 4,020,000,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 281,400,000 บาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สาม ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งงวดที่หนึ่งภายใน 15 วัน
 
ส่วนงวดที่สาม จะชำระ จำนวน 4,020,000,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 281,400,000 บาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สี่ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่สอง ภายใน 15 วัน และสำหรับงวดสุดท้ายจะชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมด จำนวน 60,218,000,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,215,260,000 บาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่สาม ภายใน 15 วันนับจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 4