เผย 6 ไลฟ์สไตล์ใหม่ ชาว “เมียนมาร์” ปี ‘59 จากทานาคาสู่มอยส์เจอร์ไรเซอร์

เอ็นไวโรเซล (ไทยแลนด์) เปิดไลฟ์สไตล์ คนเมียนมาร์ ยุคปี  2559 เปิดรับสิ่งใหม่ด้วยกระแสจากภายนอก เปลี่ยนจากทานาคาสู่มอยส์เจอร์ไรเซอร์ จากรถมือสองสู่รถนำเข้า จากกาแฟชงแบบซองสู่กาแฟสด
 
สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด ที่ไม่ใช่เพียงแค่ที่ปรึกษาด้านการทำวิจัยเท่านั้น แต่เน้นการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองของเมียนมาร์ ที่เป็นที่จับตามองของนักลงทุนจากทั่วโลก เอ็นไวโรเซลเดินหน้าศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง  
 
โดยครั้งนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลใน 2 หัวเมืองใหญ่ของประเทศพม่า คือ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็น 2 เมืองหลัก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศพม่า และมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจด้วยกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง อายุ 18 ปีขึ้นไป และมีรายได้ ในระดับล่างถึงบน (A, B, C และ D) พบว่าสังคมพม่ามีการเปลี่ยนอย่างมาก และมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปอย่างน่าจับตามอง ดังนี้
 
 
1.เปลี่ยนรสนิยม
 
ชาวเมียนมาร์ยุคนี้ ยอมใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อประสบการณ์ใหม่ๆ เห็นได้จากตัวบ่งชี้หลายอย่าง เช่น ชาวเมียนมาร์บางกลุ่มนั้นเริ่มจะเปลี่ยนจากร้านกาแฟริมถนนที่อยู่คู่กับชาวเมียนมาร์มาอย่างยาวนาน แต่มายอมจ่ายแพงขึ้นถึง 10  เท่าโดยเฉลี่ยเพื่อทานกาแฟในคาเฟ่ที่สมัยใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันในย่างกุ้งนั้นมีร้านกาแฟสดเพิ่มมาขึ้นราว 30 ร้านใน 2-3 ปีที่ผ่านมา 
 
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลมาจากการเสพสื่อที่เห็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งละครเกาหลี ถึงแม้บางคนอาจจะยังสั่งไม่ถูก ยังไม่เข้าใจความแตกต่างของกาแฟสดแต่ละชนิด แต่อย่างไรก็ตาม กาแฟสดก็ได้เข้ามามีบทบาทกับไลฟ์สไตล์ของชาวพม่ามากยิ่งขึ้น เปลี่ยนวิถีชาวเมียนมาร์จากนั่งยองกินกาแฟเป็นนั่งเก้าอี้มากขึ้น
 
 
2.ท่องเที่ยวต่างประเทศ 
 
ไม่เพียงแค่ชาวต่างชาติสนใจเมียนมาร์ ชาวพม่าก็สนใจโลกภายนอกเช่นกัน กำลังซื้อที่มีมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและค่าเงินที่แข็งขึ้นกว่า 30% นั้นทำให้ชาวพม่าสนใจไปเที่ยวนอกประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในเอเชียแปซิฟิกอย่าง ไทย เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น โดยมีอัตราส่วนการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศมากกว่า 200% ตั้งแต่ปี 2011 ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะประเทศต่างๆ เริ่มใช้นโยบายลดหย่อนวีซ่าเพื่อชาวพม่าบ้างแล้ว
 
 
3.เสพสื่อออนไลน์
 
ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ ชาวเมียนมาร์มีทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากขึ้น คนพม่ามีสัดส่วนการติดจานดาวเทียมเพื่อรับสื่อนอกประเทศมากขึ้นกว่า 200% จากปีที่แล้ว และกว่า 95% มีโทรศัพท์ใช้ โดย 80% ของโทรศัพท์ทั้งหมดเป็นสมาร์ทโฟน นอกจากนั้น 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์ยังใช้บริการบนโลกออนไลน์ ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2012 ซึ่งในขณะนั้น มีตัวเลขเพียงแค่ 2% เท่านั้น รวมทั้งเทรนด์การใช้ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ยังเติบโตขึ้นถึง 200% ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตสะท้อนถึงพฤติกรรมการเสพข้อมูลของชาวพม่าที่เพิ่มสูงมากขึ้นได้เป็นอย่างดี 
 
 
4.นิยมแบรนด์เนม 
 
เมื่อคนพม่าเสพสื่อและเปิดรับกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น คนพม่ายังมีทางเลือกในแง่ของความหลากหลายของสินค้ารวมถึงแบรนด์มากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นตลาดเครื่องใช้อุปโภคบริโภค (FMCG)ในเมียนมาร์นั้นเติบโตราว 14% ใน 4 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันทางการตลาดในพม่านั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีทั้งแบรนด์ในประเทศและแบรนด์ต่างชาติ งบโฆษณาของแบรนด์ต่างชาติเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากปี 2010 เช่นเดียวกับแบรนด์ท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นราว 2.3 เท่าเช่นกัน หากย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับปี 2001 งบโฆษณาโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 13 เท่า ซึ่งสามารถชี้ชัดได้ว่าตลาดที่กำลังเติบโต และการแข่งขันที่จะทำให้ความภักดีของแบรนด์สินค้าลดลงด้วยเช่นกันจากค่าเฉลี่ยที่เคยใช้สินค้ายี่ห้อเดียวก็เป็น 2 แบรนด์ 2 ยี่ห้อไปโดยปริยาย
 
 
5.จากทานาคาสู่มอยส์เจอร์ไรเซอร์
 
คนเมียนมาร์นั้นเริ่มรู้จักและใช้สินค้าเพื่อดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าในประเภทครีมหรือโลชั่นมีการเติมโตถึง 2 เท่าใน 3 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประเภทครีมนวดผม ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นสูงสุด จาก 5% ในปี 56 สู่ 50% ในปีนี้ นอกจากนั้นในเรื่องของการดูแลผิวพรรณของชาวพม่า ในอดีตเป็นเรื่องของผู้หญิงซะส่วนใหญ่ หากแต่ในปัจจุบันนั้นกลุ่มผู้ชายก็เริ่มปรับตัวมาสนใจสินค้าใหม่ๆ และดูแลผิวพรรณของตัวเองด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อัตราการใช้โฟมล้างหน้าในกลุ่มผู้ชายนั้นเติบโตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 24% สู่ 29% และ 36% ในปีนี้ตามลำดับ 
 
 
6.พกบัตร 
 
เมื่อชาวพม่าใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้น การซื้อขาย จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์นั้นก็มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับระบบการจ่ายเงินแบบเครดิตในพม่านั้น แต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการร่วมมือและกระตุ้นการใช้งานมากขึ้นเช่น Myanmar Payment Union ได้ร่วมมือกับ 2C2P ผู้ให้บริการ Online Payment และแบงก์ในประเทศเพื่อออกบัตรเดบิตสำหรับชาวพม่าหรือ MPU cards ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อเปิดประตูให้ชาวพม่าได้ซื้อสินค้าจากในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันผู้ใช้บริการอยู่มากกว่า 900,000 คน นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาด E-commerce ในพม่า