Robert S. Kapla

Robert S. Kaplan จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก MIT จากนั้นไปได้ปริญญาเอกสาขา Operations Research จากมหาวิทยาลัย Cornell ในปี 1968 ซึ่งระหว่างนั้นทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie-Mellon จนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งคณบดีของ The Graduate School of Industrial Administration (GSIA) ในระหว่างปี 1977-1983 นับเวลาที่อยู่กับ Carnegie-Mellon นานถึง 18 ปี ก่อนย้ายสังกัดไป Harvard Business School ในปี 1984 ซึ่งมีส่วนให้เขาผลิตผลงานสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ Activity-based Costing (ABC) ในปี 1988 ปัจจุบัน Kaplan ดำรงตำแหน่ง Marvin Bower Professor ด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำ ที่ Harvard Business School

แนวคิดทฤษฎีที่ Kaplan คิดค้นนั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Stuttgart ในปี 1994 ตลอดจนรางวัลเกียรติยศต่างๆ อาทิ Outstanding Accounting Educator Award จาก American Accounting Association (AAA) ในปี 1988 รางวัล CIMA จาก the Chartered Institute of Management Accountants (UK) ในปี 1994 รางวัล The Institute of Management Accountants Distinguished Service Award ในปี 2001 และถูกจัดเป็น 1 ใน 50 สุดยอดนักคิดนักเขียนด้านการจัดการ โดย The Accenture Institute for Strategic Change ในปี 2002-2003

ผลงานสำคัญเสมือนเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1992 เมื่อเขาและ David P. Norton ได้ตีพิมพ์บทความ Balanced Scorecard (BSC): Measures That Drive Performance ใน Harvard Business Review ซึ่งจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจทั่วโลก ต่อมาจึงออกหนังสือในปี 1996 ในชื่อ Balanced Scorecard : Translating Strategy into Action ซึ่งได้รับรางวัล Wildman Medal เมื่อปี 2001 จาก American Accounting Association ในฐานะหนังสือที่มีผลสำคัญต่อวงการบัญชี ถึงวันนี้ได้รับการแปลออกเป็น 21 ภาษา องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ (กว่า 50% ของบริษัทขนาดใหญ่ในอเมริกา หรือในไทย อาทิ ธนาคารกสิกรไทย กลุ่มซีพี กลุ่มชินวัตร และ TRUE) ตลอดจนหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร เช่น พรรคการเมือง มูลนิธิ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ต่างหันมาใช้ BSC ในการดำเนินงาน

เหตุที่ BSC สำคัญต่อการบริหารองค์กรสมัยใหม่นั้น Kaplan และ Norton กล่าวว่า “ที่ผ่านมาในยุคอุตสาหกรรม บริษัทต่างๆ จะคำนึงถึงตัวชี้วัดทางการเงินเท่านั้น ส่วนการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ แต่ในปัจจุบันตัวชี้วัดทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะประเมินและชี้นำการดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป เพราะในยุคข้อมูลข่าวสารบริษัทต้องหันไปใส่ใจและมีการลงทุนเกี่ยวเนื่องกับลูกค้า ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ กระบวนการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น” (http://www.balancedscorecard.org)

คุณลักษณะสำคัญของ BSC คือ การแปลงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่เป็นนามธรรม ไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องได้ด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจน ด้วยการเชื่อมโยงตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicator : KPI) ทั้งเชิงการเงินและไม่ใช่การเงิน เข้ากับเป้าหมายของธุรกิจ และนำไปสู่แผนดำเนินการในท้ายสุด โดยคำนึงถึงมุมมอง4 ด้านหลักคือ การเงิน ลูกค้าและการตลาด กระบวนการภายใน และนวัตกรรมและการเรียนรู้ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า BSC ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือประเมินผลเท่านั้น แต่ช่วยชี้นำการบริหารจัดการทั้งองค์กร และการใช้งานในปัจจุบันก็สะดวกมากขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ BSC ที่มีหลายบริษัทผลิตออกมา อาทิ Peoplesoft และ Oracle ซึ่งได้รับการรับรองจาก Balanced Scorecard Collaborative

หลัง BSC สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการธุรกิจ Kaplan และ Norton ได้ทำวิจัยต่อเนื่องในกว่า 200 บริษัทที่ใช้ BSC ในการดำเนินงาน รวมทั้งกรณีศึกษาของ Mobil, CIGNA, Nova Scotia Power, AT&T Canada จนพัฒนาแนวคิดของ BSC มาสู่หนังสือเล่มถัดมาในปี 2000 ชื่อ Strategic-Focused Organization (SFO): How Balanced Scorecard Companies Thrive in the New Business Environment ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ถูกแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ถึง 18 ภาษาแล้ว

จากการวิจัยดังกล่าวพวกเขาพบว่าในองค์กรที่ใช้ BSC ในการบริหารจัดการได้มีส่วนสร้างสรรค์ให้เกิดกรอบการทำงานแบบใหม่ ซึ่งถอดออกมาเป็น 5 หลักการสำคัญของ SFO ก็คือ การแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการ การปรับทุกหน่วยงานในองค์กรให้มุ่งสู่ยุทธศาสตร์เดียวกัน การสร้างแรงจูงใจด้วยการสื่อสารและผลตอบแทนเพื่อให้แผนกลายเป็นงานประจำวันของทุกคน การทำให้แผนยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการต่อเนื่อง และการสร้างผู้นำที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลักการเหล่านี้จะพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าการนำเสนอผลงานใหม่แต่ละครั้งจะทิ้งช่วง 4 ปีเท่ากัน ล่าสุด Kaplan และ Norton ก็ปล่อยภาคต่อเนื่องของ BSC และ SFO ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2004) คือหนังสือ Strategy Map: Converting Intangible Assets into Tangible Outcomes ซึ่งต่อยอดแนวคิดที่พัฒนามาจาก 2 เล่มแรก ด้วยการวิจัยและกรณีศึกษาในองค์กรธุรกิจเช่นที่เคยทำ แต่คราวนี้มากขึ้นเป็นกว่า 300 บริษัท โดยรวบรวมและแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 กลุ่มตามวิธีเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ที่ปรับให้ทรัพยากรบุคคลมีแนวคิดเป็นไปในทางเดียวกัน งานด้าน IT ที่ปรับให้ทรัพยากรข้อมูลตอบรับกับกลยุทธ์ และระเบียบวาระขององค์กรที่ผสานและปรับทรัพยากรทั้งหมดให้เกิดการปรับปรุงและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 5 ส่วน เริ่มจากบทนำ ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนเข้าสู่บทถัดๆ ไป ได้แก่ กระบวนการสร้างมูลค่า (Value-Creating Processes) ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) การสร้างกลยุทธ์และแผนยุทธศาสตร์ ส่วนบทสุดท้ายว่าด้วยกรณีศึกษาจากองค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่สิ่งสำคัญในฐานะไตรภาคแห่ง Balanced Scorecard การนำแนวคิดจากเล่มล่าสุดนี้ไปปรับใช้ Kaplan จึงย้ำว่าต้องมีการวางเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน ตามมุมมอง 4 ด้านของ BSC ก่อน

หนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง

ชื่อหนังสือ : Six Sigma Business Scorecard: Creating a Comprehensive Corporate Performance Measurement System
ผู้เขียน : Praveen Gupta, A. William Wiggenhorn (2003)

ชื่อหนังสือ : Balanced Scorecard Step-by-Step: Maximizing Performance and Maintaining Results
ผู้เขียน : Paul R. Niven (2002), คำนำโดย Robert S. Kaplan

ชื่อหนังสือ : เส้นทางจากกลยุทธ์สู่การปฏิบัติด้วย Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators
ผู้เขียน : ดร. พสุ เดชะรินทร์ (2544)

ชื่อหนังสือ : Using the Balanced Scorecard as a Strategic Management System (บทความ)
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan and David P. Norton (2000)

ชื่อหนังสือ : Having Trouble with Your Strategy? Then Map it (บทความ)
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan and David P. Norton (2000)

ชื่อหนังสือ : Performance Measurement & Control Systems for Implementing Strategy: Text & Cases
ผู้เขียน : Robert Simons (1999)

ชื่อหนังสือ : Advanced Management Accounting
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan, Anthony A. Atkinson (1998)

ชื่อหนังสือ : Design of Cost Management Systems
ผู้เขียน : Robin Cooper, Robert S. Kaplan (1998)

ชื่อหนังสือ : Cost and Effect: Using Integrated Cost System to Drive Profitability and Performance
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan and Robin Cooper (1997)

ชื่อหนังสือ : Management Accounting
ผู้เขียน : Anthony A. Atkinson, Rajiv D. Banker, Robert S. Kaplan (1995)

ชื่อหนังสือ : Putting the Balanced Scorecard to Work (บทความ)
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan and David P. Norton (1993)

ชื่อหนังสือ : Implementing Activity-Based Cost Management: Moving from Analysis to Action
ผู้เขียน : Robin Cooper, et al (1993)

ชื่อหนังสือ : Relevance Lost: The Rise and Fall of Management Accounting Thomas H. Johnson (1991)
Measures for Manufacturing Excellence
ผู้เขียน : Robert S. Kaplan (1990)

Website

www.bscol.com
www.balancedscorecard.org
www.valuebasedmanagement.net/methods_balancedscorecard.html
www.schneideman.com