The Met…มุมสงบใจกลางกรุง

หลังการเปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค. 2546 โรงแรม The Metropolitan (The Met) บนถนนสาทรก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวผู้นิยมความ “chic” หรือ “hip” มาจนวันนี้ ทั้งนี้คงเป็นอานิสงส์จากการดีไซน์ของนักออกแบบหลายท่าน ร่วมกับพลังสร้างสรรค์ของเจ้าของโรงแรม คือ Christina Ong สาวใหญ่ชาวสิงคโปร์ อายุ 50 กว่าปี นักธุรกิจวงการแฟชั่นและบันเทิง เจ้าของร้านบูติก “Club 21” ที่ขายเสื้อผ้าแบรนด์เนมระดับโลก และเครื่องเพชรระดับ world-class ซึ่งมีสาขาในเมืองใหญ่ทั่วโลก

ด้วยหน้าที่การงาน และไลฟ์สไตล์ของเธอที่มีความเป็นศิลปินสูง ทันแฟชั่น เป็นตัวของตัวเองสูง และใส่ใจดูแลความงามจากภายใน ครั้นเมื่อเดินทางเธอจึงมักมองหาโรงแรมที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเธอ แต่สิบกว่าปีก่อนไม่มีโรงแรมใดตรงใจเธอ นั่นจึงเป็นที่มาของกลุ่ม COMO Hotels & Resorts เจ้าของโรงแรม The Met กรุงเทพฯ และโรงแรมอีกหลายแห่ง 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรม The Halkin ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของเธอ ตามมาด้วย The Met ลอนดอน ก่อนจะมาเปิดรีสอร์ต Parrot Cay บนเกาะ Turks & Caicos ในทะเลแคริบเบียน และรีสอร์ต Cocoa Island ที่หมู่เกาะมัลดีฟส์

The Met กรุงเทพฯ ถือเป็น The Met แห่งที่สองของโลก และเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอังกฤษขณะนี้ ซึ่ง James Low ในฐานะผู้จัดการทั่วไป บอกถึงเหตุผลว่าที่มาเปิด The Met บนถนนสาทร (ตึก YMCA เก่า) ในกลางกรุงเทพฯ ถือเป็น “the right place at the right time” โดยมีจุดยืนเป็น “contemporary five-stars boutique hotel” ที่มีสถาปัตย์สะท้อนความไม่หยุดนิ่งของกรุงเทพฯ และความเป็นเมืองอย่างกรุงเทพฯ แต่ทว่า เมื่อเข้าไปกลับอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความสงบเรียบง่ายจาก “ภายใน”

แม้ดีไซน์หลายอย่างค่อนข้างเทรนดี้ตามสไตล์ตะวันตก แต่ก็กลมกลืนอย่างลงตัวกับงานศิลปะตะวันออกหลายชิ้นทั้งที่ล็อบบี้และภายในห้องพัก ซึ่งมีดีไซน์ร่วมสมัยสไตล์อังกฤษ (เหมือน The Met ลอนดอน) ผสมกับของตกแต่งที่แฝงกลิ่นอายอารยธรรมตะวันออก หรือแม้แต่บริการอาหารก็เป็นการผสานระหว่างวัตถุดิบจากตะวันตกกับเครื่องเทศของตะวันออกโดยแม่ครัวมือหนึ่งจากออสเตรเลีย

James นิยามกลุ่มลูกค้าที่นิยมเข้ามาที่นี่ว่าเป็นกลุ่ม “5M” คือ คนรุ่นใหม่ในวงการ Movie, Media, Music, Model และ Money เหมือนที่ลอนดอน เพราะคนเหล่านี้มักจะเข้าถึงคอนเซ็ปต์ดีไซน์ของที่นี่ได้ง่าย และหลายคนก็มาหาแรงบันดาลใจได้จากที่นี่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ James อยากให้เป็น “เราไม่ได้ต้องการลูกค้าทุกคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์และบุคลิกของโรงแรมได้ เราอาจจะเลือกแค่บางกลุ่มที่เหมาะกับโรงแรมเรา” และพนักงานก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างเสริมภาพลักษณ์นี้ของโรงแรมให้เข้มแข็งขึ้น “คนที่จะมาทำงานที่นี่ต้องกระตือรือร้น สร้างสรรค์ และมีความมั่นใจแบบคนสมัยใหม่ ตรงกับคอนเซ็ปต์และสไตล์ของโรงแรม”

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่น่าสนใจของ The Met ก็คือ “ความเป็นไลฟ์สไตล์ โฮเต็ล” ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้ดูแลสุขภาพ (จากภายใน) ได้เป็นอย่างดี เพราะที่นี่มีทั้ง Como Shambhala สปาชั้นดี มี Glow ร้านอาหารประเภท health cuisine organic food มีห้องโยคะไว้บริการ และมีเสื่อโยคะสำหรับนั่งฝึกโยคะรับแสงอาทิตย์ยามเช้าประจำทุกห้อง โดย James สรุปว่า “The Met คือโรงแรมที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของมาดาม Ong ซึ่งเธอหาไม่ได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน”

โรงแรมและกิจการในเครือ COMO

โรงแรมในเครือ COMO มีแบรนด์ที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่ม City Hotels
– 1st The Halkin ในกรุงลอนดอน (2534)
– 2nd The Metropolitan ในกรุงลอนดอน (2540)
– 5th The Metropolitan ที่กรุงเทพฯ (2546)

2. กลุ่ม Seaside Resorts
– 3rd Parrot Cay Resort บนหมู่เกาะ Turks & Caicos ทะเลแคริบเบียน (2541)
– 4th Cocoa Island Resort ที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ (2545)

3. กลุ่ม Hillside Resorts*

– Uma Ubud ที่บาหลี
– Uma Paro ในภูฏาน

* รีสอร์ตในกลุ่มนี้กำลังจะเปิดพร้อมกันภายในปี 2547 นี้

กลุ่ม COMO ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่พยายามสร้างให้เป็นแบรนด์เอกเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เกื้อหนุนแบรนด์อื่น เช่น “COMO Shambhala” ซึ่งเป็นแบรนด์สปาและรีทรีท (retreat) แบรนด์ “Glow” ซึ่งเป็นร้านอาหารแนว health cuisine organic food แบรนด์ “Met Bar” ซึ่งเป็นบาร์ที่มีทั้งเครื่องดื่มและอาหารสไตล์ Modern Asian Food และแบรนด์ Cy’an ร้านอาหารสไตล์ Mediteranian & Sea Food นอกจากนี้ กลุ่ม COMO ยังมี The Metropolitan Aparments ไม่ไกลจากโรงแรม The Met ลอนดอน และปัจจุบันทางกลุ่มก็เข้าไปบริหารรีสอร์ต “Begawan Giri Estate” ในบาหลีด้วย

มาดาม Ong เป็นภรรยาของมหาเศรษฐีและนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ชื่อ Ong Beng Seng เขาเป็นเจ้าของบริษัท Hotel Properties Limited ซึ่งเป็นเจ้าของ Four Season, Concorde และ Hilton ในสิงคโปร์ และเป็นเจ้าของ Hard Rock Caf? ในกรุงเทพฯ และ Hard Rock Hotel ที่พัทยา ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เธอได้วางแผนจะร่วมหุ้นกับบริษัท HPL ของสามีเพื่อเปิด Bali’s Hard Rock Hotel ในบาหลีอีกด้วย