ABOUT ART RELATED ACTIVITES กับงานขายศิลปะไร้กรอบ

สีสันที่ถนนไมตรีจิตต์แตกต่างจากชายคาเยาวราชทั่วไป ในซอกหลืบของร้านขายยาจีน ร้านก๋วยเตี๋ยวไหหลำ โรงพิมพ์ตำราเรียน โบสถ์คริสต์ และอาบอบนวดในตึกเก่าสวย

บนถนนสายนี้ยังมีศิลปะสมัยใหม่วนเวียนมาแสดงตลอดปี ในรูปแบบของนิทรรศการเพื่อทัศนศิลป์เป็นหลัก แต่บางครั้งมีศิลปะแขนงอื่นๆ ทั้งภาพยนต์ ดนตรี ดีเจ การแสดง การอ่านบทกวี ตลาดนัดศิลป์ งานออกแบบและแฟชั่น ไปจนถึงห้องสมุดศิลปะที่เก็บรวบรวมประวัติศิลปินไทย ให้ค้นคว้าฟรีที่อาคารตึกหัวมุม

ก่อนหน้า “อะเบ้าท์ อาร์ท รีเลเต็ด แอ็คทิวิตี้ส์” เริ่มตั้งสำนักงานที่ถนนไมตรีจิตต์ ใกล้วงเวียน 22 กรกฎา เมื่อปี 2540 การนำเสนองานศิลปะสมัยใหม่ในรูปแบบนี้ยังหาชมค่อนข้างยากในวงการศิลปะของประเทศไทย ซึ่งคำจำกัดความของศิลปะ ส่วนใหญ่ติดอยู่กับรูปแบบตายตัวและดั้งเดิมของจิตรกรรมและประติมากรรม เนื่องจากพื้นฐานการศึกษา ทัศนคติ วัฒนธรรม ของเรา ไม่เน้นส่งเสริมการตระหนักรับรู้และสร้างสรรค์ศิลปะมากไปกว่าการอนุรักษ์ของเก่าแก่โบราณตามประเพณีดั้งเดิม

“เราอยากปรับจากรูปแบบเดิมที่พิพิธภํณฑ์ถูกมองว่าเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมขาวๆไว้เก็บของเก่า มาเป็นพิพิธภัณฑศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบใหม่ที่สามารถเข้าถึงชุมชนและคนดู ” คือความตั้งใจของ เกล้ามาศ ยิบอินซอย กับการให้ความรู้ด้านศิลปะแก่สังคม เมื่อเธอก่อตั้ง”อะเบ้าท์ อาร์ท รีเลเต็ด แอ๊คทิวตี้ส์” ขึ้น ภายหลังใช้ความรู้จากดีกรีด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย นิวยอร์ค ดูแล สวนศิลป์เซียม ยิบอินซอย ผู้เป็นย่า ในอำเภอสามพราน เธอเริ่มเปิดกิจการเพิ่มในรูปแบบคาเฟ่กึ่งแกลอรี่และเวทีการแสดง ในนามของ “อะเบ้าท์ คาเฟ่/แกลอรี่” เมื่อปี 2540(1997)

“ราวปี 1998-99 จนถึง ปี 2000 เป็นช่วงที่อะเบาท์คาเฟ่ป๊อปปูล่ามาก คนมาเที่ยวกันเยอะ แต่เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่สามารถทำพื้นที่ศิลปะตามเจตนาที่วางไว้ เราอยากเป็นพื้นที่ดึงดูดให้คนมาสัมผัสกับงานศิลปะและมีร้านอาหารให้นั่งสบาย แต่ไม่ใช่ทำร้านอาหารที่มีศิลปะประดับให้ดู พอถึงจุดที่ว่าเราไม่สามารถชักชวนให้คนที่มาเที่ยวที่นี่ กลายมาเป็นผู้ชมงานศิลปะได้ และมีการจัดการดูแลที่เราไม่ถนัด เราเลยหยุดทำ”

เมื่อหันมาเน้นหนักด้านศิลปะอย่างเดียว ในช่วงสี่ปีหลัง ชื่อ “อะเบาท์ อาร์ตฯ” กลายเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวของศิลปินอิสระในประเทศ และผู้ประสานงานกับพิพิธภัณฑ์และองค์กรทางศิลปะทังในประเทศทั่วโลก โดยมีการจัดนิทรรศการศิลปะอย่างถี่ปีละ 4-6 รายการ และเริ่มทำ AboutTV รายการทีวีทางอินเตอร์เนต ทั้งรายการสด และเทปบันทึก ออกอากาศที่ www.superchannel.org ส่วน”อะเบ้าท์ สตูดิโอ / อะเบาท์ คาเฟ่” เปลี่ยนมาเป็นสถาณที่ค้นคว้าทางศิลปะ และแสดงนิทรรศการเป็นหลัก

“ที่ผ่านมาถือว่าเราได้สนับสนุนทั้งศิลปินและบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ศิลปะแขนงต่างๆ และเราก็เชื่อว่าเรามีส่วนในการกระตุ้นวงการและความสนใจทางด้านศิลปะหลากหลายขึ้นบ้าง”

แปดปีนับถึงวันนี้ ”อะเบ้าท์ อาร์ต รีเลเท็ด แอ็คติวิตี้ส์ ” ปรับเต็มรูปแบบเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรในการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำเสนองานศิลปะ จัดนิทรรศการและกิจกรรม จนเป็นกลุ่มแกนนำหัวก้าวหน้าในวงการขาย”ศิลปะไร้กรอบ” ขณะที่องค์กรอื่นที่หลงเหลืออยู่ เน้นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ศิลปะตามขนบเก่า

แปดปีเต็มเช่นเดียวกัน ที่”อะเบ้าท์ อาร์ตฯ” เหน็ดเหนื่อยกับการหาทุนสนับสนุนการทำงาน นอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐที่มีงบประมาณจำกัด และธุรกิจรายย่อยเพียง 2-3 รายที่สนับสนุนเป็นประจำแล้ว เกล้ามาศเองใช้เงินส่วนตัว รวมถึงเงินสนับสนุนจากครอบครัวยิบอินซอยไปเป็นจำนวนมาก ในจำนวนตัวเลขที่เธอไม่ยอมเปิดเผย แต่ทุนการบริหารองค์กรและการจัดโครงการต่างๆโดยคร่าวๆ อยู่ที่ราว 4 ล้านบาทต่อปี

ต้นทุนหนักอยู่ที่ค่าเช่าพื้นที่ ค่าสาธารณูปโภค บุคลากรประจำ 7 คนในงานบริหารและงานวิชาการเฉพาะด้านต่างๆ รวมถึงการจัดทำ ABOUT TV ส่วนต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายให้สนับสนุนให้ศิลปินสร้างชิ้นงาน และกิจกรรมเสริม งานประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ

ผลงานของ “อะเบาท์ อาร์ตฯ ” ล่าสุดคือการเช่าพื้นที่แสดงศิลปะถึงสี่อาคารบนถนนไมตรีจิตต์ ในนิทรรศการ Here & Now ระหว่างเดือนกรกฏาคม-กันยายน ทีเชิญศิลปินไทย-ฝรั่งเศสมาร่วมงาน ปรากฎว่างานมีสปอนเซอร์ร่วมเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการจัดงานทั้งหมด

โดยผู้ร่วมสนับสนุนประกอบด้วยกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย บริษัทอุตสาหกรรม จิม ทอมป์สัน และผู้สนับสนุนที่ไม่ประสงค์ออกนามหนึ่งราย นอกจากนั้นมีหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นให้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ และการไฟฟ้าฝรั่งเศสสนับสนุนการเข้าร่วมงานของกลุ่มศิลปินฝรั่งเศส ภายใต้ เทศกาลLa Feteหรือเทศกาลศิลปะวัฒนธรรมฝรั่งเศส

“เราพยายามขอสปอนเซอร์จากองค์กรธุรกิจเอกชน ที่มีนโยบาย”ส่งเสริมศิลปะ”ประกาศให้สาธารณชนยอมรับ เราเข้าไปหาทุกที่ แต่ปรากฎว่าได้รับการสนับสนุนน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่มองด้านการตลาดเป็นหลัก ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะสนับสนุนกีฬากันมากกว่า มีน้อยรายมากที่อยากสนับสนุนศิลปะ”

เกล้ามาศยอมรับว่า ขณะนี้ถึงแม้เสียงตอบรับจากคนดู และคนในชุมชน รวมถึงคนในวงการศิลปะทั้งไทยและต่างชาติทวโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นับเป็นความสำเร็จสูงเมื่อเทียบกับช่วงที่ก่อตั้งใหม่ๆ แต่หาก”อะเบ้าท์ อาร์ต” ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจไทยในรูปของสปอนเซอร์เลย องค์กรก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อโอกาสที่จะยืดหยัดเสนอศิลปะไร้กรอบจากทั่วโลกบนถนนไมตรีจิตต์ต่อไป

การอยู่รอดของ ”อะเบ้าท์ อาร์ต รีเลเท็ด แอ็คติวิตี้ส์” จึงรอคอยภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการปันกำไรให้สังคม ว่าจะมีบริษัทเอกชนใดเล็งเห็หรือไม่ว่า การเป็นสปอนเซอร์องค์กรเพื่อจัดนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางด้านศิลปะศิลปะไร้กรอบที่เป็นหน้าตาประเทศในแวดวงนานาชาติแห่งนี้ จะเป็นการสนับสนุนศิลปะอย่างแท้จริง และศิลปะนั้นเป็นความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนไม่น้อยกว่าการกีฬา

Artist & China town

โดยความบังเอิญที่”อะเบ้าท์ อาร์ต รีเลเท็ด แอ็คติวิตี้ส์” ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนเยาวราช เพราะตึกสองชั้นตรงหัวมุมติดบานประตูพับแบบกระจกยาวแห่งนั้น เป็นที่สะดุดตาของคนรักศิลปะ

โดยข้อเท็จจริงคือ ในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งของโลก กลุ่มศิลปินเกิดใหม่และผู้จัดการศิลปะนิยมปักหลักเช่าห้องพักหรือเปิดแกลอรี่กันที่ไชน่า ทาวน์ โดยแหล่งเก่าแก่และดั้งเดิมคือ นิวยอร์ค ตรงรอยต่อของโซโหและไชน่าทาวน์ ในย่านถนนคาแนล และที่กำลังเป็นแนวโน้มคือในลอสแอนเจลิส ซึ่งไชน่าทาวน์แยกตัวออกไปอยู่ระหว่างฮอลลีวู้ดและย่านดาวน์ทาวน์

ไชน่าทาวน์ กลายเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการสนับสนุนศิลปินอิสระและพัฒนาให้เป็นแหล่งศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยพร้อมไปกับกับสืบทอดศิลปวัฒนธรรมขนบ ธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมเนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้

1. พื้นที่ว่างจำนวนมาก การขยายตัวอย่างสูงของคนจีนในชุมชมต่างแดน เริ่มตั้งแต่ช่วงกว่าร้อยปีก่อน ทำให้เกิดธุรกิจและอาคารพักอาศัยรองรับจำนวนมาก แต่ปัจจุบันคนจีนมีลูกหลานและการอพยพเพิ่มเติมน้อยลง นอกจากนั้นคนจีนรุ่นใหม่ยังย้ายออกจากไชน่าทาวน์ และนิยมอาศัยกันเป็นบ้านเดี่ยวในย่านพักอาศัย แทนการอยู่อย่างจอแจในย่านการค้าอย่างเดิม ตึกในไชน่าทาวน์จึงเป็นตึกเก่า มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ห้องกว้าง เพดานสูง ค่าเช่ายังไม่สูงจนเกินไปนัก

2. วัฒนธรรมชั้นยอด วัฒนธรรมจีนนั้นแข็งแกร่ง มีคุณค่า และมีภูมิปัญญาสูง หลายอย่างกลายเป็นที่ยอมรับและร่วมปฎิบัติของคนต่างชาติ เช่น อาหารจีน กังฟู รำไทเก๊ก และการฝังเข็ม ที่กำลังเป็นที่นิยมมาก ศิลปินจึงมีความรู้สึกดีในจิตวิญญาณที่ได้อยู่ในชุมชนที่มีภูมิปัญญาแท้และพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ว่ามีคุณค่าต่อชีวิตจริง ศิลปะยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนมาแต่ดั้งเดิมด้วย

3. สีสันชีวิตหลากหลาย ศิลปินอิสระอาจถือเป็นแรงบันดาลใจมากกับการใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำของคนจีนในไชน่าทาวน์ ที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ต่างแดนแทนที่จะเป็นบรรยากาศเมืองใหญ่ซ้ำซากอย่างเขตอื่น คนจีนมีอุปนิสัยเสียงดัง เคลื่อนไหวเร็ว และทำการค้าเคร่งเครียด แต่ให้ความสำคัญกับการกิน รักพวกพ้อง และเฮฮาร่าเริงในเวลาสังสันทน์ ถือเป็นชาติที่มีบุคลิกลักษณะส่วนตัวชัดเจนและมีความทะเยอะทะยานสูง