Cotto Studio : The Path of Trend Setter

เปิดคลังอาวุธลับ “Cotto Studio” หน่วยงานวิจัยและออกแบบ ที่ทำให้กระเบื้อง Cotto พลิกฟื้นจากผู้ผลิตกระเบื้องราคาถูกที่ต้องแข่งขันด้วยการตัดราคาจนต้องประสบปัญหาขาดทุน กลับสู่ตลาด กลายเป็น trend setter เทียบชั้นผู้ผลิตกระเบื้องระดับ “เวิลด์คลาส” เทียบชั้นผู้นำด้านดีไซน์กระเบื้องโลก

แต่กว่าจะถึงจุดนี้ พิชิต ไม้พุ่ม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ “ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างซิเมนต์ไทย” บริษัทแม่ของ “เซรามิคอุตสาหกรรมไทย” ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องแบรนด์ “คอตโต้” ย้อนรอยให้ฟังว่า เริ่มต้นจากการปรับจุดยืน (reposition) สินค้าคอตโต้ใหม่ จากเดิมที่เคยเป็นสินค้าราคาถูกสำหรับตลาดภายในประเทศ ขยับเป็นแบรนด์สินค้าในตลาดพรีเมียม และเป็นผู้นำเทรนด์ในวงการกระเบื้องมีดีไซน์ของโลก

“ผมเข้ามาที่นี่เมื่อ 3 ปีก่อน ช่วงนั้นมีปัญหาขาดทุนเยอะ ก็มานั่งวิเคราะห์ว่าถ้าขืนเรายังทำสินค้า low-end และสู้กันด้วยราคาต่ำๆ อยู่ ต่อไปคงลำบาก ก็เลยคิดว่าน่าจะทำธุรกิจให้เป็น fashion business ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้ ปัจจัยความสำเร็จคือ ดีไซน์ โดยดีไซเนอร์ก็ต้องเก่ง อุปกรณ์ก็ต้องพร้อมถึงจะทำได้” เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับจุดยืนของ Cotto Studio และการยกเครื่องบทบาทหน้าที่ของดีไซเนอร์เสียใหม่

Cotto Studio เป็นสถาบันออกแบบและพัฒนาของคอตโต้ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 แต่ทว่าบทบาทเดิมของดีไซเนอร์ของสถาบันฯ คงเป็นแค่พนักงานออกแบบสินค้าให้บริษัท ภายหลังการปรับจุดยืนสินค้าซึ่งมีดีไซน์เป็นหัวใจสำคัญของกระเบื้องคอตโต้… Cotto Studio จึงถูกยกระดับเรื่อยมาตลอดช่วงเวลากว่า 3 ปี ด้วยเงินลงทุนร่วม 100 ล้านบาท ในการปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และพัฒนาศักยภาพของทีมดีไซเนอร์

เทวินทร์ วรรณะบำรุง ในฐานะ Design Director และทีมผู้ก่อตั้ง Cotto Studio เล่าว่า “เดิมเราดีไซน์ตามฝ่ายการตลาดซึ่งเชื่อมลูกค้ากับดีไซเนอร์ พอออกแบบตามนั้นเสร็จก็จบ ไม่ได้พัฒนามาก แต่พอเราตั้งเป้าจะเป็นผู้นำเทรนด์ เราก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ร่วมกับจินตนาการของเรา ซึ่งสนุก แปลกใหม่ และมันกว่า…จริงๆ แล้วดีไซเนอร์ทุกคนก็ชอบทำอะไรที่เกิดจากแรงขับภายในของตัวเอง”

สำหรับกระบวนการพัฒนาดีไซเนอร์ เริ่มจากระบบการเรียนรู้ผ่านงานแฟร์ระดับโลก และการฝึกงานกับสตูดิโอกระเบื้องชั้นนำที่เป็นคู่ค้า ซึ่งเปิดโอกาสให้ทีมดีไซเนอร์ได้ซึมซับสไตล์การทำงานดีไซน์จาก “เบอร์หนึ่ง” ทั้งหลายของโลก พร้อมไปกับศึกษากระบวนการถอดรหัส (decoding process) เทรนด์แฟชั่นโลกจากบริษัทสไตลิสต์ของฝรั่งเศสและอิตาลี เพื่อมาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ชนชาติ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง แล้วแปลออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ลวดลายบนกระเบื้อง

จากการเรียนรู้ ทีมคอตโต้ สตูดิโอพบว่า วงจรของดีไซน์เทรนด์จะถูกนำไปประยุกต์กับวงการแฟชั่นเสื้อผ้าก่อน ตามมาด้วยเทรนด์การออกแบบภายใน ก่อนจะถูกนำมาเป็นเทรนด์วัสดุตกแต่ง (covering) โดยมี lead time และ lag time ที่ต่างกันในแต่ละเทรนด์ “ฉะนั้นถ้าเราจะดีไซน์ก่อนชาวบ้าน ก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนที่เทรนด์ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับงานออกแบบภายใน” เป็นหนึ่งบทเรียนที่พิชิตสรุปให้ฟัง

นอกจากนี้ คอตโต้ยังมีงบให้ทีมดีไซเนอร์ออกทริปภาคสนาม (field trip) เพื่อออกไปหา “original idea” หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ หาประสบการณ์ในวิถีชีวิตที่แตกต่าง และเป็นการเปิดโลกทัศน์ อันเป็นรากฐานของไอเดียเรื่องดีไซน์ ซึ่งเทวินทร์ถือว่าโชคดีที่เทรนด์ตลาดโลกกำลังมาทางตะวันออกมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของคอตโต้ที่ต้องการนำเสนอ “ความเป็นเอเชียและไทย ร่วมสมัยกับวิถีชีวิตของคน ออกสู่สากล”

“กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้สอนให้เราต้องปรับตัว ต้องหาข้อมูล ต้องศึกษาทั้งวัสดุที่จะนำมาใช้ เทรนด์ และความต้องการของลูกค้า ความยอมรับของตลาด จนผลิตออกมาเป็นสินค้า ต้องทำงานหนักขึ้นแต่ก็สนุก ยิ่งน้องใหม่ที่มีความเป็นอาร์ติสมากกว่าก็จะยิ่งสนุก แต่เราก็ต้องจูนกับความเป็นธุรกิจให้ได้ ต้องดูด้วยว่า มันจะผลิตได้ไหมในแง่ของเทคโนโลยีและต้นทุน ขณะเดียวกันตลาดจะรับได้ไหม หรือสินค้าจะใช้งานได้ดีไหม” เทวินทร์สรุป

หลังจากได้คอนเซ็ปต์ดีไซน์กระเบื้องที่กลั่นกรองเรียบร้อยแล้ว ทีมคอตโต้ สตูดิโอยังมีหน้าที่ต้องนำเสนอแนวคิดเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ และจุดเด่นการใช้งาน เพื่อขายไอเดียให้กับฝ่ายการตลาดและผู้บริหารรับฟัง นอกจากจะเป็นการเช็กความเป็นไปได้ที่ดีไซน์จะออกสู่ตลาดแล้ว ยังเป็นการฝึกสื่อสารข้อมูลไปสู่ลูกค้าอีกด้วย “นอกจากเราจะขายกระเบื้องแล้ว เรายังขายเบื้องหลัง หรือเรื่องราวที่อยู่ในลวดลายของกระเบื้องด้วย ซึ่งตรงนี้เราต้องสื่อสาร และ educate ลูกค้าให้รับทราบ”

จนถึงวันนี้ ทีมคอตโต้ สตูดิโอ ผลิตงานดีไซน์ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นสินค้าได้กว่า 300 คอลเลกชั่นต่อปี บนจุดยืนใหม่คือการเป็นผู้นำเทรนด์ดีไซน์กระเบื้องของตลาดโลก โดยผลงานที่ออกมามีหลายคอลเลกชั่นที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น “จัสมิน ไรซ์” เป็นเรื่องราวของรวงข้าวที่บอกเล่าบนกระเบื้อง “ซีเรียล” ที่ใช้เมล็ดธัญพืชท้องถิ่นไทยมาเป็นลายกระเบื้อง “ไซเบอร์” ซึ่งจำลองแผงวงจรคอมพิวเตอร์เป็นลวดลาย พร้อมลูกเล่นสะท้อนแสงในที่มืด และ “ปลาตะเพียน” ที่นำเอาเทคนิคไม้บรรทัดสามมิติมาเล่นกับกระเบื้องบุผนัง เป็นต้น

ล่าสุด คอตโต้เพิ่งเปิดตัว “พิมาย คอลเลกชั่น” ที่หยิบเอาลวดลายสายแร่ในหินทราย การผุกร่อนซึ่งเป็นงานดีไซน์ของกาลเวลา รวมถึงพื้นผิวและโทนสีของหินทรายที่ปราสาทหินพิมายมาจำลองไว้บนกระเบื้อง ด้วยพลังความคิดของดีไซเนอร์ที่ต้องการให้กระเบื้องเหมือนหินจริงตามธรรมชาติ เป็นแรงดลใจให้คอตโต้ทุ่มทุนสร้างเทคโนโลยีชั้นสูงที่แรกในวงการดีไซน์กระเบื้องของโลก นั่นคือ เทคนิคการฝังลวดลายริ้วสายของหินทรายลงในเนื้อกระเบื้อง เพื่อคงความเป็นหินทรายอยู่แม้พื้นผิวของกระเบื้องจะถูกกะเทาะออก

“อาจเรียกได้ว่านี่เป็นเทคโนโลยีจำลองการเกิดหิน ซึ่งช่วยย่อเวลาการเกิดหินตามธรรมชาติด้วยคุณภาพที่ดีกว่าหินจริง” อุมาพร เจริญศักดิ์ ผู้จัดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชิ้นนี้ ซึ่งเชื่อว่าอาจเบิกทางธุรกิจ “technology provider” ในวงการกระเบื้องของโลกให้กับคอตโต้ได้อีกด้วย เหมือนกับที่เทวินทร์ก็มองว่า ในอนาคตอันใกล้ Cotto Studio ก็น่าจะขยายไลน์ธุรกิจสู่การเป็นสไตลิสต์หรือที่ปรึกษาเรื่องเทรนด์ให้กับวัสดุตกแต่งบ้านที่ต้องการดีไซน์ได้ไม่ยาก ถ้าหากว่า ในวันนี้ Cotto Studio จะเร่งสร้างแบรนด์อิมเมจของตัวเองให้แข็ง และสร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพของชื่อ Cotto Studio นี้ได้แล้ว

“นี่เป็นสาเหตุที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มโปรโมตตัวคอตโต้ สตูดิโอมากขึ้น เพื่อสร้างอิมเมจให้กับตัวสตูดิโอ ทำให้คนเชื่อถือและนึกถึงว่า Cotto Studio หมายถึงดีไซน์ เหมือนที่เวลาเราพูดถึงอิตาลีเราจะนึกถึงดีไซน์อันดับหนึ่ง อีกอย่าง พิชิตก็อยากให้ Cotto Studio เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจของบริษัท ทำให้คนอยากติดตามว่าเราจะมีผลงาน หรือเรื่องราวอะไรใหม่มาเสนอ อย่างปีนี้เราก็มีออกมาหลายซีรี่ส์ให้เลือก” เทวินทร์กล่าวถึงเหตุผลหนึ่งที่ Cotto Studio เปิดห้องทำงานที่บ้านหินกอง สระบุรี ต้อนรับนักข่าว เมื่อ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา (อ่านล้อมกรอบ)

กับการทุ่มเทเวลา เงินทุน แรงกายและแรงใจ ในการพัฒนาศักยภาพของคอตโต้ สตูดิโอ แม้จะเป็นต้นทุนที่สูงในการปรับจุดยืนเข้าสู่ตลาดพรีเมียม และการก้าวเป็นเทรนด์เซตเตอร์ แต่ทั้งนี้ ผู้บริหารต่างก็เห็นตรงกันว่าคุ้มค่า “เรามองแล้วว่าการพัฒนาดีไซเนอร์เป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นกลยุทธ์และเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในตลาดโลกลำบาก เพราะเรายิงเป้าถึงระดับ world-class product ไว้แล้วตั้งแต่ 3 ปีก่อน” พิชิตกล่าว

ณ วันนี้ เทวินทร์มองว่า คู่แข่งสำคัญของคอตโต้ในตลาดโลกคือ อิตาลี ขณะที่ในตลาดไทยก็คือสินค้านำเข้าจากอิตาลี “สินค้าเราอยู่ที่ตลาด medium – hi-end ซึ่งคิดว่าคู่แข่งไทยยังไม่มีใครอยู่ใน position เดียวกันกับเรา” ขณะที่พิชิตเองก็มองว่า แม้ดีไซน์ของคอตโต้จะล้ำหน้าผู้ผลิตกระเบื้องหลายรายในยุโรป และอิตาลี แต่ทว่าแบรนด์อิมเมจของคอตโต้ในตลาดโลกยังไม่มากพอที่จะส่งเสริมให้ คอตโต้ ในวันนี้ ก้าวเป็นผู้นำเทรนด์ หรือผู้นำนวัตกรรมด้านดีไซน์กระเบื้องใหม่ๆ ในตลาดโลกได้

“สินค้าพวกนี้ถ้าไม่มีการสร้างแบรนด์จะขายราคาแพงก็ยาก” เป็นที่มาของการออกงานแฟร์ระดับโลก และสร้างโชว์รูมในรูปแบบ cotto tiles library และ cotto shop ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สกอตแลนด์ อินเดีย เนปาล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส เป็นต้น และในอนาคต จะมีโชว์รูมคอตโต้ในเยอรมนี ออสเตรีย แคนาดา และเป้าหมายสำคัญอย่างอิตาลี เจ้าแห่งการดีไซน์ของโลกด้วย

Cotto Studio

แตกต่าง แต่สร้างสรรค์

เข้าสู่โรงงาน “เซรามิคอุตสาหกรรมไทย” ที่บ้านหินกอง จ.สระบุรี ยังต้องเข้าไปลึกพอสมควรกว่าจะถึงสถานที่ตั้ง Cotto Studio ที่แยกโซนเป็นเอกเทศจากโรงงานฝ่ายผลิต อาคารเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ตรงกลางกล่องเป็นพื้นที่โล่งกลางแจ้ง มีต้นโพต้นใหญ่ไว้ให้ร่มเงา เหมาะจะนั่งเล่นผ่อนคลาย หรือพักสมองและสายตา ใกล้กันมีสระน้ำขนาดย่อมตกแต่งด้วยหินและกระเบื้องอย่างลงตัว

ภายในห้องทำงานของทีมดีไซเนอร์ถูกแบ่งเป็นมุมส่วนตัวของแต่ละคน สร้างโลกส่วนตัวให้กับดีไซเนอร์ ซึ่งทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และส่งเสริมให้เกิดไอเดียในการทำงาน ขณะที่พื้นที่กลางห้องถูกใช้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน หรือ “informal meeting room” ของทีมดีไซเนอร์ที่จะมาระดมสมอง นำเสนอผลงานดีไซน์สู่ทีมผู้บริหารและการตลาด หรือประยุกต์เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

องค์ประกอบอื่นในสตูดิโอแห่งนี้ก็เช่น มุมกาแฟพร้อมกาแฟอย่างดีจากอิตาลี มุมหนังสือและนิตยสารดีไซน์จากทั่วโลก เสียงเพลงเพราะๆ เพื่อผ่อนคลายและเพิ่มจินตนาการ และข้อยกเว้นบางประการ เช่น ดีไซเนอร์ไม่ต้องใส่ชุดฟอร์มพนักงาน สามารถใส่ชุดธรรมดาที่ทำให้รู้สึก “free” และ “create” ขึ้นมาก็ได้ และดีไซเนอร์ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศประจำ และอยู่ตลอดชั่วโมงทำงาน (office hours) ก็ได้ เป็นต้น

รายละเอียดต่างๆ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมบรรยากาศของ Cotto Studio ให้เป็น “good working life quality place” ด้วยความเชื่อว่า “สถานที่ทำงานที่สบาย และบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์จะทำให้คนอยากมาทำงาน ทำให้ผ่อนคลาย และก่อเกิดไอเดียใหม่ในการทำงาน”

กรณีศึกษา กว่าจะเป็น “คอลเลกชั่น” : “พิมาย” พระเอกคนล่าสุดของ Cotto Studio

คอลเลกชั่น “พิมาย” เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชนไทยอย่างน่าสนใจ ที่ปราสาทหินพิมาย โคราช ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของดีไซน์คอลเลกชั่นนี้ นิพนธ์ ภัทโรวาสน์ หรือ “จ๊อด” ต้นคิดดีไซน์ “พิมาย” เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่ผลิตไอเดียจนเป็นสินค้าให้ฟังว่า

“ดีไซน์ที่นิยมในตลาด medium – hi-end ที่เราจับคือ แนวคิดอิงธรรมชาติ เช่น กระเบื้องเหมือนหินหรือไม้ ก่อนนี้เราเคยซื้อหินจากอิตาลีมาเป็นต้นแบบ แต่ถ้าเราดีไซน์อย่างนี้ก็เหมือนคนอื่นจึงมาหาหินในบ้านเรา และสิ่งก่อสร้างจากหินที่โดดเด่นของบ้านเราก็คือปราสาทหิน ซึ่งมีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเป็นตะวันออกแฝงอยู่ เมื่อศึกษาดูเทรนด์แล้ว ก็พบว่าเทรนด์หินทรายกำลังจะมา ก็ลงตัวพอดี”

“หลังค้นคว้าข้อมูล และออก field trip เพื่อศึกษาเนื้อหิน พบว่า สายแร่และเส้นสีของหินทรายจากปราสาทหินมีการเรียงตัวที่เป็นระเบียบและสวยงาม เราก็ไปปราสาทหินหลายที่เพื่อเลือกหินต้นแบบที่มีลวดลายในเนื้อหิน และลายสลัก (decorative) สมบูรณ์ที่สุด ก็พบว่า คือปราสาทหินพิมาย”

ในขั้นตอนผลิตต้นแบบ จ๊อดต้องเดินทางไปปราสาทหินพิมายไม่ต่ำกว่า 4 รอบ รอบแรกเพื่อศึกษาและค้นหาหินที่มีลายสายแร่และโทนสีสวยที่สุดมาเป็นต้นแบบ ส่วนรอบหลังๆ เป็นการเก็บรายละเอียดของหินต้นแบบ จนได้ดีไซน์กระเบื้องก็ต้องนำมาเทียบกับหินต้นแบบอีกครั้ง จนกว่าจะสมบูรณ์จึงนำเสนอต่อผู้บริหารและการตลาดเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า

ตั้งแต่แรกเกิดไอเดียเมื่อต้นปี 2546 จนพัฒนาเป็นคอลเลกชั่น “พิมาย” จ๊อดและทีมใช้เวลากว่าปี ทั้งนี้เวลาส่วนหนึ่งเสียไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรที่ใช้ฝังลวดลายหินทรายลงในเนื้อกระเบื้อง ซึ่งเป็นแห่งแรกของโลก อันเป็นการต่อยอดไอเดียของดีไซเนอร์โดยผู้บริหารที่ต้องการให้กระเบื้องพิมายเหมือนหินจริงมากที่สุด

7 ดีไซเนอร์แห่ง Cotto Studio

1. เทวินทร์ วรรณะบำรุง (ดิ๊ก)
เกิดวันที่ 5 มี.ค. 2506 เป็นชาวศรีสะเกษ จบจากคณะสถาปัตย์ฯ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สไตล์การทำงานที่ชอบ : แบบอิงแนวคิดท้องถิ่น (Ethnic Style) นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การยอมรับระดับสากล ความใฝ่ฝันสูงสุด : อยากให้กระเบื้องคอตโต้เป็นแบรนด์ชั้นนำของโลกและอยู่ในหัวใจของทุกคน

2. วชิราภรณ์ เทพทัย (ชิ้ง)
เกิดวันที่ 9 ส.ค. 2513 เป็นคนกรุงเทพฯ จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) สไตล์งานดีไซน์ที่ถนัด : แนวเหมือนจริง และแนวคิดอิงธรรมชาติ ผลงานเด่น : คอลเลกชั่น “Nature”

3. ขวัญชนก มงคลธง (น้ำ)
เกิดวันที่ 7 ม.ค. 2515 เป็นชาวกรุงเทพฯ จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ สไตล์งานดีไซน์ที่ถนัด : แนวกราฟิก (Decorative & Wall Tile Styled Graphic) ความคิด ณ วันนี้ : สนุกกับงานที่ทำ และจะทำให้ดียิ่งขึ้น เช่น ทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอดีไซน์กระเบื้องเรื่อยๆ

4. นิพนธ์ ภัทโรวาสน์ (จ๊อด)
เกิดวันที่ 24 ก.พ. 2518 เป็นคนเมืองชลบุรี จบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สไตล์ดีไซน์ที่ชอบ : แนวคิดอิงธรรมชาติ (Naturalism) ผลงานที่ภูมิใจ : คอลเลกชั่น พิมาย

5. สุธนัย โอสรประสพ (นัท)
เกิดวันที่ 15 มี.ค. 2520 ชาวกรุงเทพฯ จบด้านสถาปัตยกรรมภายใน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานที่ภูมิใจ : ทุกชิ้นที่ตนออกแบบ โดยมักเป็นงานที่สะท้อนสิ่งรอบตัว

6. คมกริช โสมอินทร์ (บอย)
เกิดวันที่ 10 พ.ค. 2521 เป็นชาวหนองคาย จบจากคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานชิ้นโปรด : งานสไตล์ Retro และในอนาคตอยากทำงานดีไซน์แนวร่วมสมัย (Contemporary) แรงบันดาลใจ : งานดีไซน์เป็นสิ่งสวยงามและสร้างสีสันให้โลกน่าอยู่ การได้ดีไซน์งานให้สวยงามและเป็นที่ยอมรับ ก็หมายความว่า เราได้ทำให้โลกสวยงามและน่าอยู่ยิ่งขึ้น”

7. วิริยะ วัฑฒนายน (โต้ง)
เกิดวันที่ 27 ก.ค. 2523 เป็นคนนราธิวาส จบภาควิชานฤมิตศิลป์ จากคณะศิลปกรรมฯ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สไตล์งานดีไซน์ที่ถนัด : แนวโมเดิร์น

Did You Know?

1. ปัจจุบัน “คอตโต้” มียอดส่งออกกระเบื้องไปตลาดต่างประเทศ 15.5 ล้าน ตร.ม. คิดเป็น 40% ของกำลังการผลิต กระจายอยู่ใน 60 กว่าประเทศทั่วโลก มีตลาดอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ราว 40-50% ขณะที่ยอดขายภายในประเทศ 25.5 ล้าน ตร.ม. เป็น 60% โดยคอตโต้ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกเป็น 50%
2. ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ “ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างฯ” ให้ข้อมูลอ้างอิงจากกรณีของคอตโต้เกี่ยวกับ “Power of Design” ไว้ว่า “การดีไซน์มีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ถึง 30-40%”
3. งบพัฒนาดีไซเนอร์ของคอตโต้ สตูดิโอ คิดเป็น 5% ของงบ R&D ของบริษัทซึ่งมีสัดส่วนราว 2-3% ของยอดขายทั้งหมด โดยปีหนึ่งๆ ดีไซเนอร์คนหนึ่งจะได้ดูงานอย่างน้อย 2 รอบ ทริปหนึ่งเป็นเงินหลายแสน
4. วันนี้ คอตโต้ สตูดิโอแบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 แนวทางหลัก คือ แบบอิงแนวคิดธรรมชาติ (Nature) แบบร่วมสมัย (Contemporary) แบบอิงแนวคิดขนบธรรมเนียม ประเพณีดั้งเดิม (Traditional & Ethnical) แบบสมัยใหม่ทั้งเทคนิคและความงาม (Modern -Tech & Pretty) และแบบเหนือจริง (Sur-realism)
5. “พิมาย คอลเล็กชั่น” มีแรงบันดาลใจมาจากปราสาทหินพิมายที่โคราช ซึ่งมีองค์ประธานใหญ่ที่สุด มีริ้วลายแร่หิน และลายสลักที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด เมื่อเทียบกับปราสาทหินอื่นในไทย โดยทีมงานคอตโต้ เชื่อว่า ปราสาทหินพิมายเป็นต้นแบบการสร้างนครวัด และเคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรมขอม