ของปลอม บทพิสูจน์ความดังของแบรนด์ (ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น)

“counterfeit” หรือ “ของปลอม” เป็นหอกที่ทิ่มแทงบรรดาแบรนด์เนมต่างๆ มาโดยตลอด มิใช่ไม่รับรู้ แต่ยากนักที่จะกำจัดให้หมดไปได้ มูลค่าของปลอม ของเลียนแบบที่ละเมิดสิทธิ์เหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของแบรนด์เป็นมูลค่านับสิบถึงร้อยล้าน (แม้ว่าอีกนัยหนึ่งของปลอมจะเป็นการสถาปนาแบรนด์นั้นๆ เข้าสู่การเป็นแบรนด์ยอดนิยมก็ตาม)

ผู้ผลิตของปลอมแบรนด์เนม ย่อมเป็นผู้ศึกษาแฟชั่นอย่างใกล้ชิด รู้ถึงกระแส ตามเทรนด์ได้อย่างไม่ตกหล่น การปลอมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชนิดที่ว่าแทบจะหายใจรดต้นคอของจริงเลยทีเดียว แบรนด์ดังๆ ต่างถูกปลอมมานับไม่ถ้วนไล่เรียงมาตั้งแต่แบบระดับ premium อาทิ Gucci, Prada, LV, Chanel ขณะที่ปัจจุบัน lifestyle brand ถูกปลอมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Diesel, Roxy, GAP หรือแม้กระทั่งแบรนด์แฟชั่นไทย เช่น Chaps ก็ไม่วายโดนหางเลขไปด้วย โดน “counterfeit product” เล่นงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทั้งของปลอมเกรดเอที่เลียนแบบได้เหมือนแทบทุกกระเบียดนิ้วจำหน่ายในราคาแพง หรือของปลอมที่สักแต่ว่าปลอมให้มีป้าย มีโลโก้แต่ไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดของสีและรุ่น (ของปลอมแบบนี้ราคาถูกมากกว่าของแท้หลายสิบหลายร้อยเท่า และเป็นที่นิยม)

เมื่อกลางปี 2547 ที่ผ่านมา Von Dutch แบรนด์เนมชื่อดังจากอเมริกาเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย แม้จะเพิ่งเริ่มสร้างแบรนด์ในไทย แต่กลับต้องมาเผชิญภาวะอันไม่น่าพิสมัยนี้ อาจเป็นเพราะชื่อเสียงจากอเมริกา (ประสบความสำเร็จจากยอดขายปีแรกทั่วโลก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายมาเป็น 35 ล้านเหรียญสหรัฐใน 3 ปีถัดมา และคาดว่าสิ้นปี 2547 จะปิดยอดขายที่ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ) กอปรกับสีสันจัดจ้านและรูปแบบตัวอักษรที่สวยงามมีเสน่ห์ทำให้ Von Dutch ซึ่งมีภาพลักษณ์ของการเป็นแบรนด์สำหรับ Hipster ทำให้เป็นที่นิยมในไทยโดยใช้เวลาไม่นาน

ตามแหล่งช้อปปิ้ง ถนนข้าวสาร ประตูน้ำ มาบุญครอง เต็มไปด้วยเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก พะยี่ห้อ Von Dutch ราคาเพียงหลักร้อยต้นๆ หากไม่พินิจอย่างละเอียด ก็จะพบว่าสีสัน ลวดลายแทบไม่แตกต่างจากของแท้ import เลย ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ ตามต่างจังหวัดก็พบ Von Dutch (เก๊) เต็มไปหมด เช่น แถวหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต

นับเป็นความชอกช้ำที่แบรนด์ของตนถูกลอกเลียนแบบ Tonny Sorensen เจ้าของและ CEO ของ Von Dutch Originals ต้องเดินทางมายังเมืองไทยตามคำเชิญของ Baskins ผู้เป็น distributor ในไทย พร้อมกับดูสถานการณ์ของปลอมในจีนและเกาหลีซึ่งเป็นแหล่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของ Von Dutch ที่ใหญ่มาก เขาประมาณการว่าของปลอมในแถบเอเชียสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจของ Von Dutch กว่า 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐ มาตรการขอร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ปราบปรามและว่าจ้างตำรวจพิเศษให้ติดตามจับกุมเป็นแนวทางที่ชัดเจนในขณะนี้

Von Dutch

Company : Von Dutch Originals (นำเข้าและจัดจำหน่ายในไทยโดย Fashion Group Asia)
Estabilshed : พ.ศ. 2543 เริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่าย
Product Detail : จำหน่ายสินค้าในหลาย category คือ men, women, kids, accessories โดยเสื้อราคาตั้งแต่ 1,600-8,000 บาท กางเกงและกระโปรงราคา 3,800-12,000 บาท หมวกราคา 1,600-4,000 บาท accessories (เครื่องเงิน) ราคา 4,000-40,000 บาท และกระเป๋าถือราคา 3,000-6,000 บาท
Positioning : เป็น lifestyle brand สะท้อนถึงความเซ็กซี่ และพละกำลังอันเหลือเฟือ เฉกเช่นเดียวกับจรวด หรือรถแข่งออกเทนสูง
Target : กลุ่มวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (15-30 ปี) ผู้คลั่งไคล้ใน American classic style เป็นลูกค้าระดับ B+ ขึ้นไป มีรายได้ขั้นต่ำ 50,000 บาท
Strategy : เน้นการทำ PR ผ่านทาง Celebrity ในเมืองนอก เช่น Madonna, Britney, Hally Berry, Justin Timberlake ในเมืองไทย เช่น ทาทา, Product placement ในรายการ ละคร คอนเสิร์ต
Location : store – สยามสแควร์ ซอย 3 (เต็มรูปแบบ) เป็น store แห่งแรกในเอเชีย
Shop — สยามสแควร์ ซอย 2
Corner – เซ็นทรัล ชิดลม
ปีหน้าวางแผนจะเปิดอีก 3-4 corner ในห้างสรรพสินค้า ใช้งบลงทุน 1-2 ล้านบาทต่อสาขา ขณะที่ทั่วโลกมี 12 store และ 4,000 corner พร้อมเปิดอีก 5 สาขาในญี่ปุ่น
Competitor : DIESEL, D&G

Did you know?

Von Dutch หรือ Kenny Howard เป็นชื่อของศิลปินและนักออกแบบลวดลายมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ที่สั่งทำพิเศษ ในช่วงทศวรรษ 1940-1960 และเขาเป็นผู้คิดค้น Flying Eyeball Logo เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Von Dutch มีรากฐานจากอารยธรรมแมคซีโดเนียและอียิปต์เมื่อ 5,000 ปีก่อน สื่อความหมายถึง ตาของเทพเจ้าผู้ยั่งรู้ในทุกสิ่ง

Website

www.vondutch.com