Green Tea : New Episode

POSITIONING เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชาเขียวไว้ในฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2547 ในชื่อ “Green Tea : The Never Ending War ผ่านพ้นไปครึ่งปี ตลาดเครื่องดื่มที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ยังมีสีสันไม่เสื่อมคลาย เปิดไตรมาสแรกของปีก็ส่อเค้าเดือดแล้ว เป็นอีก 1 ปีที่จะพิสูจน์ฝีมือกัน โออิชิหวังจะสร้างยอดขายให้ถึง 3,500 ล้านบาท เริ่มเดือนแรกก็ดูสดใส ไม่ทันไรกลับเจอวิกฤตรับวาเลนไทน์ ขณะที่ยูนิฟขอโตอีกกว่า 100 % ด้านเซ็นชะยังคงหวังอิทธิฤทธิ์ของน้องวิวดันส่วนแบ่งจาก 5% ที่มีอยู่ในขณะนี้ให้มากขึ้น พร้อมดอดเจรจากับคอนวีเนียนสโตร์ชื่อดัง 7-eleven ทำ First Best Only กับชาเขียวรสซากุระ (วางจำหน่ายก่อนที่ 7-eleven โดยเฉพาะ) ตามรอยโออิชิกลิ่นกุหลาบ ที่ทำ FBO กับที่นี่เช่นกัน

เป็นผู้เล่น 3 แบรนด์หลักในตลาด ขณะที่รายอื่นๆ ไม่มีสีสันมากนัก

ชาเขียวหมดยุคสร้างแบรนด์ เข็นโปรโมชั่นอัดกระหน่ำ

4 ปีของการกำเนิดชาเขียวในเมืองไทย เวลานี้สำหรับแบรนด์เกิดใหม่ที่ไม่แข็งแกร่งพอแทบจะไม่มีที่ว่างให้เลย ทางเดียวที่พอจะเชื้อเชิญให้ผู้บริโภคสนใจได้คงเป็นกลยุทธ์ดั้งเดิมแบบลด แลก แจก แถม ซึ่งแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยต่างเดินตามทิศทางนี้

“สงครามราคา (price war) กลยุทธ์เดิมๆ ในการดันแบรนด์ติดตลาดจะใช้ได้ผลกับกรณีของชาเขียวพร้อมดื่มรายเล็กรายน้อยหรือไม่ ในเมื่อแบรนด์เจ้าตลาด ก็ใช้ pricing สะกดมนตร์ลูกค้ามิให้ไปทดลองแบรนด์น้องใหม่ที่จ่อคิวเกิดได้เลย แม้ยูนิฟจะไม่เน้นการห้ำหั่นราคาก็ตามแต่ก็มีราคาขายต่ำสุดที่ 17 บาทต่อขวด จากปกติที่ขวด PET ขายกันขวดละ 20 บาทเป็นมาตรฐาน “เราทำหนังสือถึงคู่ค่าว่าให้คงราคาขายไว้ต่ำสุดที่ขวดละ 17 บาท เพราะเรามองเห็นว่าสงครามราคมไม่เคยทำให้ใครได้ผลดีในระยะยาว” ก้องเกียรติ วัติรางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของยูนิฟบอก ด้านโออิชิดั๊มราคาอย่างแรงโดยเฉพาะใน 7-eleven เหลือขวดละ 15 บาทเท่านั้น ขณะที่พ๊อคคาซึ่งดูพรีเมียมกว่าก็ยังอดใจไม่ไหวขอลดกับเขาด้วยเหมือนกัน

รสชาติ…ด่านหลักมัดใจผู้บริโภค

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเป็นเครื่องดื่มสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคคำนึงถึงก็คือรสชาติ ต้องถูกลิ้นถูกปาก หากไม่อร่อยอย่างเก่งผู้บริโภคก็คงซื้อเพื่อหวังโปรโมชั่น ส่วนจะเอาชาเขียวไปเทลงบ่อทิ้งลงท่อที่ไหนก็เป็นอีกเรื่อง

ฉะนั้นการครีเอตรสชาติใหม่ๆ ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่กระนั้นรสชาติหลักๆ ยังคงเป็นรสชาติที่ทำยอดขายได้ดีอยู่เช่นเดิม เนื่องจากเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ส่วนรสชาติใหม่จะเป็นเพียงสีสันของตลาดเท่านั้น รสชาติหลักๆ ที่แต่ละค่ายมีเหมือนๆ กัน เช่น รสต้นตำรับ รสซูการ์ฟรี รสมะนาว รสน้ำผึ้ง เป็นต้น ขณะที่ innovation เป็นสิ่งที่แต่ละค่ายพยายามโชว์จุดขายหวังสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2547 และนับจากนี้ไป เช่น ยูนิฟ ฮาลุชา เน้นถึงความพรีเมียมของยอดชา โออิชิ สลิมซีจีเน้น functional benefit ดื่มแล้วรูปทรงสะโอดสะอง โออิชิ กลิ่นกุหลาบ ผลิตขึ้นเพื่อเป็น FBO กับ 7-eleven (เช่นเดียวกับเซนชะ ซากุระ) และฉลองเทศกาลวาเลนไทน์ โออิชิ ข้าวญี่ปุ่น เน้นความสดชื่นจากกลิ่นหอมของข้าวญี่ปุ่น และเทรนด์ต่อไปที่จะมาแรงคือ 2 รสชาติในขวดเดียว เช่น เซนชะ ยูสุผสมฮันนี่ และยูนิฟ รสต้นตำรับผสมฮาลุชา ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแต่จำหน่ายในราคาเพียงเท่าเดิม ผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่า “ได้” มากกว่า”

Family Mart ทางรอดทางเลือกของแบรนด์เล็ก

ถึงขั้นแยกตู้แช่สำหรับชาเขียวโดยเฉพาะเลยทีเดียว แม้แต่น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงกว่ายังหลีกทางให้ และที่ Family Mart นี้เองที่เปิดทางให้แบรนด์เล็กๆ ใหม่ๆ ที่ไม่ได้วางขายใน 7-eleven หันมาซบอก ทำให้ Family Mart กลายเป็นคอนวีเนียนสโตร์ที่จำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่มมากแบรนด์ที่สุด เช่น มาโนบุ (รับจ้างผลิตโดยไอดีล ฟู้ดแอนด์เบฟเวอร์เรจ ซึ่งผลิตเซโซะและโออิชิขวด PET ขนาด 350 มล.ให้กับ 7-eleven ด้วย) โอไฮโย

นมใส่ชาเชียว คุณค่าที่ไม่คู่ควร?

ด้วยความเป็น milk base หลายค่ายนึกว่าจะทำให้การลงเล่นในตลาดชาเขียวมีชัยไปกว่า 50% เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเหมือนกัน แต่เวลานี้คงรู้แล้วว่า “คิดผิด” กระนั้นก็ยังมีบางแบรนด์ที่ยังวางจำหน่ายอยู่ อาทิ พรีโก และเมจิ เป็นต้น

สยามกรีนที Positioning สุดโต่ง

ประสบความสำเร็จจากการทำตลาดน้ำดื่มยี่ห้อ “สยาม” มาแล้ว แต่ทีซีซี น้ำดื่มสยาม ก็อดใจไม่ไหวโดดร่วมวงชาเขียว ที่สร้างปาฎิหาริย์ (ไม่หยุดหย่อน) ด้วยอีกราย การเกิดขึ้นของ “สยามกรีนที” โดยวาง positioning เป็นชาเขียวพร้อมดื่มแบบไทยแท้รายแรกและรายเดียวในขณะนี้ สื่อภาพลักษณ์ทั้งไร่ชาเขียวขจีทางตอนเหนือของประเทศไทย และ TVC ถ่ายทอดเรื่องราวนำเสนอโดยชาวเขา ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแบรนด์อื่นที่มะรุมมะตุ้มแย่งชิงความเป็นญี่ปุ่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ทั้งนี้สยามกรีนทีต้องพยายามสุดชีวิตที่จะทำให้ perception ของผู้บริโภคที่มีต่อ ชาเขียวเปลี่ยนแปลงไป จาก Japanese green tea เป็น Thai green tea โอกาสจึงจะอยู่ในมือ

ฟูจิกรีนที…โอกาสที่ไม่มีอยู่จริง?

เปิดฉากมาแบบชนิดที่โออิชิต้องร้องอื้อฮื้อ ไม่ใช่เพราะทึ่งแต่คงเป็นเพราะคาดไม่ถึง ไม่นึกว่าฟูจิจะกล้าซ้ำรอยความเป็นญี่ปุ่น ชนิดที่เรียกว่าโขกกันมาเห็นๆ เลยทีเดียว แต่ฟูจิยังต้องทำการตลาดอีกเยอะ เนื่องจากกลวิธีชูญี่ปุ่นนี้ โออิชิกินรวบไปหมดแล้ว ไม่เหลือที่ ไม่เผื่อแผ่ให้แบรนด์อื่นๆ ที่เกิดตามมาได้อีกเลย แม้เซนชะที่ก้าวเข้ามาอย่างองอาจประกาศเป็นญี่ปุ่น 100% ก็ไม่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนเท่า

นอกจากนี้ภาพยนตร์โฆษณาของฟูจิก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่พอจะสร้างความจดจำให้กับผู้บริโภคได้ อีกทั้งช่องทางจัดจำหน่ายที่ไม่ครอบคลุมก็เป็นอุปสรรคขัดขวางโอกาสเกิดของฟูจิกรีนทีได้เช่นกัน

เซนชะ…หวังปาฏิหาริย์จากน้องวิว

โดดเด่นด้วยการชูพรีเซ็นเตอร์คนดัง คว้าน้องวิวขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของเซนชะ ปฏิบัติการหักหน้าตัน โออิชิ หลังจากมอบหุ้นโออิชิ 50,000 หุ้น มูลค่ากว่า 1 ล้านบาทให้น้องวิว-เยาวภา บุรพลชัย ที่คว้าเหรียญทองแดงจากกีฬาโอลิมปิก เอเธนส์เกมส์ 2004 นับเป็นเพียงแบรนด์เดียวที่ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นคนดัง ด้วยสินค้าที่มีมากมายในเครืออายิโนะโมะโต๊ะ ทำให้การต่อรองการวางสินค้าแบบ FBO ที่ 7-eleven เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นจะทำให้เราได้เห็นเซนชะ ซากุระ วางจำหน่ายแบบ exclusive ที่นี่ก่อนร้านใด

แม้เซนชะจะเข้ามาในตลาดที่มีผู้เล่นมากรายแล้วก็ตาม ยังสามารถแซงหน้าลิปตัน เวฟ ทิปโก้ และชาลีวัง ขึ้นสู่อันดับ 3 ได้อย่างงดงาม

ยูนิฟ…ฤทธิ์เยอะ

แม้ยูนิฟจะโดนลูบคมด้วยการเบียดของโออิชิ แต่กระนั้นก็ยังไม่ยอมหยุดนิ่งเป็นยักษ์ปักหลั่นให้คู่แข่งหวดแข้งหวดขาได้ฝ่ายเดียว การไล่บี้จี้ติดจนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจไม่น้อย แต่ยูนิฟก็งัดสารพัดยุทธวิธีเข้าสู้ ทั้งปรับ packaging ออกรสชาติใหม่ๆ และยังคงส่งหนอนชาเขียวซึ่ง (ตาย?) กลายเป็นหนอนผีสร้างกระแสในจออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการทุ่ม 50 ล้านบาทสำหรับแคมเปญแรกของปี “ล้านฝา ล้านรางวัล” หวังเร่งเครื่องแซงโค้งโออิชิ ประจวบเหมาะความซวนเซ (ชั่วขณะ) ของโออิชิ น่าจะทำให้ยูนิฟมีโอกาสทำแต้ม

โออิชิ กับ Crisis Management

สีหน้าและท่าทางของตันในวันแถลงข่าวชี้แจงเรื่องชาเขียวโออิชิเป็นกรด ดูอ่อนเปลี้ยเพลียแรงช่างต่างกับวันที่เขานำนักข่าวตะลุยแดนเก่าบ้านเกิดเขาที่พัทยาเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมากับงาน “No 1 Back to Step 1” 2 วันนั้นตันสนุกสนาน เฮฮาเป็นอย่างมากกับการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการก้าวขึ้นแท่นผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเมืองไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นตันบอกว่า เมื่อผลยืนยันการตรวจสอบกระบวนการผลิตที่โรงงานไม่พบกรดในทุกขั้นตอนการผลิต ก็แสดงว่าต้นเหตุไม่ได้เกิดจากตัวโออิชิเอง ตันบอกว่า “ผมกำลังสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น ช่วยหาหน่อยสิ” เขาพูดอย่างละเหี่ยใจ แต่ไม่วายหย่อนอารมณ์ขันกับนักข่าว

การออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ดื่มชาเขียวขวดเจ้าปัญหาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งตะลุยออกรายการทีวีและวิทยุ ตลอดจนการเปิดแถลงข่าวเรียกความมั่นใจกลับคืนมาด้วยการทุ่มเงิน 100 ล้านบาท ติดตั้งระบบผนึกฝาขวดเพิ่มอีกชั้น ระบบสแกนนิ้วมือก่อนเข้าโรงงาน ระบบสแกนดูความผิดปกติของน้ำชาเขียว นับว่า “ตัน” เรียนรู้การจัดปัญหาเมื่อเกิดภาวะวิกฤติได้ดีกว่าบางบริษัท ซึ่งหากตันเพิกเฉย ความรุนแรงก็คงจะลุกลามไปกว่านี้ คืออาจส่งผลเสียต่อเครื่องดื่มชาเขียวทั้งระบบเลยก็เป็นได้…

แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ตันเองก็หวังว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายเดิม คือ 3,500 ล้านบาท

ต้องรอดูกันว่าโออิชิจะกู้ศรัทธาที่สั่นคลอนกลับมาได้เร็วเพียงใด

Cool Packaging

ขวด PET : Mainstream Packaging

ยอดขาย 30 ล้านขวดต่อเดือน เมื่อเทียบกับ 20 ล้านกล่องต่อเดือนของโออิชิ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า ขวด PET เป็น packaging ที่ผู้บริโภคชื่นชอบมากกว่าแบบกล่องและแบบกระป๋อง อีกทั้งยังเป็น packaging ที่นิยมผลิตหลายขนาด

พ๊อคคาชาเขียวชื่อดังแดนปลาดิบที่โด่งดังในสิงคโปร์ หลังจากจับจ้องดูท่าทีการเติบโตของตลาดอยู่พอควร พ๊อคคาได้ออก packaging ขวด PET ขนาด 500 มล. 3 รสชาติ โดดเด่นด้วยขวดเกลียว สีสันสดใส แม้จะไม่มี TVC มาสนับสนุนแต่ก็เชื่อว่าด้วยรสชาติที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่จะซุ่มเก็บแชร์แบบเงียบๆ เช่นเคย

มิโนบุ : ออกฤทธิ์ไม่แพ้กัน หลังจากปล่อยให้ SEISO โดดเด่นใน packaging แบบขวด PET ขนาด 250 มล. เพียงผู้เดียว มิโนบุมีกว่า 4 รสชาติ ขายในราคา 13 บาท จับกลุ่มผู้บริโภคที่ดื่มในปริมาณน้อยพบได้ใน Family Mart

ยูนิฟ : ปรับฉลากใหม่จากเดิมที่ยืนพื้นที่เขียวอมเหลือง แต่ละรสชาติจะแตกต่างกันที่โลโก้เท่านั้น มาเป็นฉลากสีสันสดใสสะดุดตา ทันสมัย สีเดิมถูกสอดแทรกบริเวณแถบบนและล่างของฉลากด้วยสีใหม่

เซนชะ : แปะชื่อตัวใหญ่เป้ง ถือว่าเป็นชาเขียวที่ให้พื้นที่สำหรับชื่อแบรนด์เยอะที่สุด สีเหลืองจัดจ้านสำหรับรสยูสุและสีชมพูเด็ดดวงสำหรับรสซากุระ ดึงดูดสายตาได้ดีเมื่อตัดกับสีเขียวเข้มของใบชา

โออิชิ : สร้างความต่างระหว่างฉลากของแบบขวดและกล่อง สีเขียวและเหลืองยังคงถูกใช้เป็นสีหลัก สำหรับขวด เด่นด้วยอักษรภาษาญี่ปุ่นและตราสัญลักษณ์วงกลมสีแดงของโออิชิ ขณะที่ชื่อแบรนด์เล็กกว่าเซนชะหลายเท่าตัว ส่วนแบบกล่องกลับเลือกใช้ใบหน้าของเด็กสาวญี่ปุ่น ดูคิคุอาโนเนะ อีกทั้งมีสีส้ม ฟ้า เหลือง เขียว ชมพู พาดเป็นแถบเน้นความเด่นด้านบนของกล่อง

ชาลีวัง : ไม่รู้ว่าหมดแรงเพราะแชร์หดหมดกำลังใจหรืออย่างไร ถึงคงฉลากสีอึมครึมไว้เหมือนเดิม แต่ไม่แน่ท่ามกลางนี่อาจเป็นกลยุทธ์แตกต่างอย่างโดดเด่นบนตู้แช่ซึ่งแบรนด์ร่วมอุทรของยูนิฟต้องการก็เป็นได้

ซัมเมอร์ : แหวกแนวยึดสีขาวเป็นพื้นฉลาก และสร้างความต่างอีกครั้งด้วยรูปทรงของ packaging ที่มีเน้นเหลี่ยมมุมมากกว่าใครเพื่อน

ขณะที่ทิปโก้ส่งข่าวมานานแล้วว่าจะออกแบบขวด PET หลังจากที่ยอดขายชาเขียวแบบกล่องไม่เป็นที่น่าพอใจ…ความเป็นเจ้าตลาดน้ำผลไม้ไม่ได้ช่วยให้ทิปโก้ลืมตาอ้าปากในตลาดชาเขียวได้เลย

เช่นเดียวกับ Lipton Wave ที่ Unilever คงหมดหนทางในการดันแบรนด์ Lipton ให้เป็น King of Teaได้ นอกจากการมีภาพลักษณ์ไม่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ Say Hi อีกทั้งมี packaging เพียงแบบกล่องและแบบกระป๋องเท่านั้น โดยไม่มีขวด PET ซึ่งเป็นเทรนด์นิยม…Lipton Wave เลยคงสถานะได้เพียงตัวประกอบเท่านั้น

Basic on Label…นี่คือสิ่งสำคัญ

1. ใบชา : ชื่อก็บอกว่าเป็นเครื่องดื่มประเภทชาเขียวบนขวดหรือกล่องไม่ว่าแบรนด์ไหนต่างมีใบชาประดับเสริมบารมีกันทั้งนั้น ใบเล็กใหญ่ มากบ้างน้อยบ้างต่างกัน…แต่มีแค่ใบชาคงสะใจไม่พอ สยามกรีนทีเลยขนมาทั้งไร่เลย
2. ภาษาญี่ปุ่น : เมื่อเป็นสินค้าชาเขียวญี่ปุ่นจะไม่มีภาษาญี่ปุ่นก็ดูไงๆ อยู่ จะมียกเว้นให้โดยดุษฎีก็เพียงชาลีวัง ซึ่งวาง positioning เป็นชาเขียวไต้หวันแต่อ้อนแต่ออก และสยามกรีนทีเท่านั้น
3. สีเขียวและสีเหลือง : คิดกันง่ายๆ ใบชาสีเขียว น้ำชาสีออกเหลืองๆ 2 สีนี้จึงเป็นสีที่ถูกเลือกใช้กันมากที่สุด
4. Copy เก๋ๆ : เช่น จากใบชาเขียวธรรมชาติ คัดเฉพาะยอดอ่อนใบชา (ยูนิฟ) ชาเขียวรสชาติญี่ปุ่นแท้ หอมอร่อยแบบต้นตำรับ (เซนชะ) เป็นต้น

ถนนทุกสายมุ่งสู่ชาเขียว

Tipco – น้ำผลไม้
Oishi – ร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น
Siam – น้ำดื่มสยาม
Betagen – นม
YJ – หมีคอมมานโด
Pokka – เครื่องดื่ม (นำเข้าโดยซีโน-แปซิฟิค ซึ่งนำเข้า แคมเบลล์ซุป)
ivy น้ำผลไม้ นมเปรี้ยว
Nestea Ice Rush – ชามะนาว โค้ก (ไทยน้ำทิพย์)
Zummer – ชาอู่หลง ชานม เครื่องดื่มสมุนไพรว่านหางจระเข้
Lipton Wave – ชาดำ ชาผลไม้
Sencha–ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ กาแฟเบอร์ดี้
Unif – น้ำผักผลไม้,กาแฟ AHA
Tipco – น้ำผลไม้
Next? – กระทิงแดง เป๊ปซี่ บุญรอด
Look at!! The leaders

Brand

* Unif
Packaging (CC) : PET: 500, UHT: 250,1000, CAN: –
Taste: 5 รสชาติ Original + Halu Cha (2 รสในขวดเดียว), Halu Cha ในช่วงวันแม่
Key:
– ชูจุดขายเรื่องคุณภาพวัตถุดิบ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ใช้สัญลักษณ์หนอนชาเขียว + หนอนผีช่วยทำให้เกิด brand awareness
– กิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
– ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของบริษัมแม่ที่ไต้หวัน
– innovation

* Oishi
Packaging (CC) : PET: 500, 350, UHT: 250, CAN: –
Taste: 6 รสชาติ Slim CG ชาเขียว กลิ่นกุหลาบ เฉพาะช่วงวาเลนไทน์
Key:
– ช่องทางจัดจำหน่ายครอบคลุม และได้เปรียบที่มีร้านอาหารในเครือช่วยกระจายสินค้า
– ภาพลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น (positioning ชัดเจน) นำเสนอผ่าน TVC ตัวละครที่ใช้วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น เช่น ชงชา
– กิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
– ตัน ภาสกรนที = โออิชิ
-innovation

* Sencha
Packaging (CC) : PET: 500, UHT: 250, CAN: –
Taste: 3 รสชาติ ส้มยูสุผสมน้ำผึ้ง (2 รสในขวดเดียว) ชาเขียว ซากุระ
Key:
– พรีเซ็นเตอร์มีชื่อเสียงทางด้านกีฬา (สุขภาพ) และมีหน้าตาดี (น่ารักเหมือนคนญี่ปุ่น)
– กิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
– innovation

Key to success

• Say Hi (Japanese) “พูดก่อนดังก่อน พูดที่สองแต่ต้องให้ดังกว่าคนพูดที่หนึ่ง แต่คนที่พูดหลังจากนั้นแล้วโอกาสเกิดยาก” ตัน ภาสกรนที ให้ความเห็นไว้กับ positioning
• Distribution ครอบคลุม โดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัดและพื้นที่ชุมชนหนาแน่น
• Variety of taste นอกจากนี้รสชาติต้องอร่อย ถูกปากคนไทย
• แคมเปญโฆษณา ที่เน้นตลกขบขัน จะสร้างการรับรู้และจดจำ เช่น โออิชิ และยูนิฟ
• Variety of packaging
• Innovation สร้างสีสันให้กับตลาด
• กิจกรรมส่งเสริมการตลาด โปรโมชั่น ชิงแลกแจกแถม
• Brand Image

มูลค่าตลาดชาเขียวพร้อมดื่มปี 2547 ประมาณ 3,330 ล้านบาท

ปี 2003

Unif 44%
Oishi 5%
Sencha 0%
ChaLeewong 4.2%

ปี 2004

Unif 38 %
Oishi 38 %
Sencha 5 %
ChaLeewong 2.4%

ที่มา AC Nielsen (released to press by Unif)