สีสันชีวิต กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์

ท่ามกลางบรรยากาศพลุกพล่านของสังคมเมือง ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เด็กน้อยคนหนึ่งในจังหวัดเลย ได้เริ่มต้นเรียนรู้ และสร้างโลกศิลปะของตัวเองจากการบ่มเพาะของ ครูสังคม ทองมี ครูสอนวาดภาพศิลปะชื่อดัง มุมศิลปะในโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ ได้สร้างจินตนาการให้เด็กน้อยต่างจังหวัดคนหนึ่ง ที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนบ้าประกวดคนหนึ่ง ให้กลายเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตในสังคมเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยแสงสีและความบันเทิงที่หลายหลาก

จากภาพเทคนิคสีอะคริลิกที่ดูมีความสุข และมีเรื่องราวในตอนเด็กของเขา คือแหล่งวัตถุดิบสำคัญ งานประดิษฐ์ที่อาจถูกเรียกว่าศิลปะเทคนิคผสมแบบส่วนตัวของเขาสร้างเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่งที่ใช้ศิลปะ…เพื่อค้นหา สร้างสรรค์ และเติมเต็มให้กับชีวิต

เส้นทางนักเรียนต่างจังหวัดก่อนที่จะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการเป็นนักวาดภาพประกอบที่มีฝีมือและสไตล์ให้กับนิตยสารไลฟ์สไตล์เกือบทุกเล่มของสิ่งพิมพ์กลุ่มอมรินทร์ ทำให้เส้นทางที่ต่อยอดจากความเป็นคนช่างครีเอทีฟ มีความสามารถที่หลากหลาย ตั้งแต่ศิลปะ แฟชั่น จนถึงการเขียนหนังสือ ไปสู่แวดวงสังคมที่ต่อเนื่องจากนิตยสารที่เขารู้จัก ก่อนที่จะยึดแนวทางการแสดงผลงานสไตล์โมเดิร์นอาร์ตของตัวเอง บวกไปกับการรับเชิญไปร่วมงานในแง่มุมที่หลากหลายแต่เกี่ยวข้องศิลปะ

“โอ่ง-กงพัฒน์” เป็นชื่อที่เจ้าตัวยอมรับในความเป็นแบรนด์ระดับหนึ่ง ว่ามีบุคลิกของแบรนด์ที่น่าสนใจ คาแร็กเตอร์บางอย่างที่ตัวเองก็พอใจกับความเป็นตัวของตัวเอง ที่เจ้าตัวเน้นว่าไม่ได้สร้างให้เกิดความน่าจดจำ จากสไตล์การแต่งตัว ทรงผม ผูกโยงไปกับเส้นทางของสื่อ ที่เขาไปปรากฏตามงานอีเวนต์ที่ใช้ศิลปะมากขึ้น ตลอดจนการใช้ชีวิตในต่างประเทศนานนับปีเพื่อศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมด้านศิลปะ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหน้าที่การงานของเขา

ตอนนี้ลายเซ็น ”กงพัฒน์” ตัวโตบนภาพ คงเป็นนัยและสะท้อนภาพของศิลปะที่กำลังเปลี่ยนไป

– เริ่มต้นรู้จักศิลปะมาได้ไง

เป็นลูกศิษย์อาจารย์สังคม ทองมี ที่โรงเรียนศรีสงครามวิทยา แล้วมาต่อที่ช่างศิลป์ ลาดกระบัง และเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยสวนสุนันทา และไปเทกคอร์สนิดหน่อยที่พาร์สัน นิวยอร์ก (Parsons School of Design)

– แล้วเริ่มต้นมาทำงานตรงนี้ได้ยังไง

จากภาพประกอบ เริ่มทำงานที่อมรินทร์ ตอนแรกทำที่บ้านและสวนก่อน ทำภาพประกอบเกี่ยวกับต้นไม้ และก็ทำในแพรว สุดสัปดาห์ด้วย มาทำเต็มตัวที่สุดสัปดาห์ ทั้งทำภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เป็นงานประจำตอนนั้น ตอนนี้ก็ทำอยู่แต่เป็น Freelance

– ตอนนี้ทำอะไรบ้าง

ทำรายการทีวีด้วย กับคุณซุป (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ) ซุปเปอร์จิ๋ว และมีศุกร์สบาย ทำเป็นช่วงๆ เดือนเว้นเดือน ทำประกอบให้ Mars วาดภาพประกอบให้ประจำ

– ทำรายการประดิษฐ์ มันเกี่ยวอะไรกับงานศิลปะ

จริงๆ ชอบทำงานอาร์ตที่มีประดิษฐ์นิดหน่อย แบบคอลราจ (ศิลปะแบบปะติด) ชอบทำของแต่งบ้านเอง เพนต์โคมไฟ ตอนแรกไปช่วยในคอลัมน์ “ตกแต่งวันหยุด” ต่อมาเราก็เลยได้ทำ เป็นเจ้าของคอลัมน์เอง ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Idea Can Do แล้วก็ออกหนังสือ มา 3 เล่ม

– อะไรเป็นจุดเปลี่ยน

เปลี่ยนเองโดยอัตโนมัติ และก็ยังทำงานศิลปะและ ชอบวาดรูปอยู่ มีโชว์ทุกปี แต่จะเป็นแนวโมเดิร์นอาร์ตหน่อย

– นอกจากงานประจำ การแสดงงาน มีผลงาน

ก็พยายามให้มีโชว์ทุกปี ให้มีผลงานออกมา เป็น Modern Art เป็น Pop Art ช่วงแรกๆ ก็จะแบบคอลราจ วาดบนกระดาษ ประยุกต์ให้ใช้สีดีขึ้น เลือกสี ทำไปเรื่อยๆ ชอบไม่ชอบ อันนี้ก็ทำ

– มีความตั้งใจต้องการใช้ศิลปะเป็นอาชีพ

อาชีพอยากเป็นศิลปิน แนว Pop Art เมืองไทยคนไม่ค่อยทำ คนส่วนใหญ่จะทำงานแบบจริงจัง แต่ละคนแนวพวกดูยาก สำหรับผมดูง่าย เป็นการ์ตูนนิดๆ อะไรผสม เล่นเทคนิค เล่นสี เมืองไทยไม่ค่อยมีเท่าไร ไม่มีคนกล้าทำ พวก Modern Art มันดูง่ายไปหรือเปล่า แต่ดูจริงๆ มันก็จะเป็นเทคนิคของเรา

– มีตลาดยอมรับ

มี ตอนแรกคนก็ยังงงๆ ว่างานพวกนี้จะขายได้หรือ เราก็เป็นตัวของเราจริงๆ เราเคยวาดแบบนั้น เราไม่ค่อยถนัด เคยวาดตอนเรียน เราวาดได้ไม่ดี มันจะดูการ์ตูนนิดๆ ไปหมดเลย ชอบแบบนี้มากกว่า ชอบอะไรที่ทันสมัย ตอนเรียนก็ตามที่อาจารย์สั่ง งานแต่ละครเซ็ปต์ชื่องานเขาจะสั่งให้ทำ งานให้ออกแบบปกแผ่นเสียง ออกแบบปกซีดี จะอิสระหน่อย เราจะได้คิดชื่อ กราฟิกเอง รูป free from หน่อย ชอบมีความเป็นกราฟิกอยู่ด้วย

– ตอนเรียนเจอตัวเองหรือยัง

ก็ยังไม่เจอ เป็นแบบเรื่อยๆ …แรงบันดาลใจมาจากตัวเรา แบบที่เราชอบ สเก็ตหรือสะสมมาเรื่อย ประกอบกับความอยากทำ อยากลอง เรื่องเทคนิค แรงบันดาลใจมาจากตัวเอง ช่วงกระแส Modern Art เริ่มเข้ามา งานอะไรที่ใหม่ๆ แนวพวกนี้เริ่มมีมา ตอนหลังก็มีงานพวกกราฟฟิตี้

– ตอนอยู่ที่อมรินทร์นานๆ ได้สอนอะไรเรามาบ้าง

ตอนอยู่อมรินทร์ได้เยอะ เพราะงานแต่ละชิ้น ชื่องานแต่ละอัน มันทำให้เราได้คิด เราก็จะวางคอนเซ็ปต์ บางทีเมื่อก่อนตอนสุดสัปดาห์ เล่มหนึ่งวาดตั้ง 4 – 5 รูป ต้องมีหลายคอนเซ็ปต์ให้มันแปลกแตกต่าง อย่างเรื่องพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ด้วยรักแกล้มรำคาญ เราก็จะวางคอนเซ็ปต์ ปกติภาพประกอบเขาจะส่งชิ้นเดียว เราก็จะส่งหลายๆ ชิ้น เป็นแบบซอย 8 เป็นภาพ 8 รูปเล็กๆ หรือไม่ก็พวกคอลราจ เป็น Pop-Up เป็นตัวๆ กล่องๆ เป็นชิ้นๆ แล้วเอาไป บางอันถ้าเป็นเรื่องน่ากลัว เรื่องซีเรียสหน่อย ก็จะใช้เป็นเทคนิคคอลราจ มืดๆ ทึมๆ พวกด้ายมาผสม เรื่องภาพขาวดำ ก็จะใช้วิธีแฟกซ์ เอาภาพวาดที่วาดเสร็จแล้วแฟกซ์มา เอาไปลง ซึ่งเป็นหน้าขาวดำก็สามารถไปลงได้

– ถือเป็นความโชคดีหรือเปล่าที่ได้ทำหนังสือแนวนี้

โชคดีที่เป็นเราตอนเด็ก เรียนอยู่ช่างศิลป์ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวาดภาพประกอบอยู่แล้ว ตอนเรียนก็ส่งผลงานไปลง ก็ดีใจ ได้ลงหนังสือเป็นภาพขาวดำ พอไปสมัครงานก็ได้ทำงาน คือความฝันของเรา ตอนนั้นกระแสการวาดภาพประกอบเหมือนงานอย่างหนึ่ง อย่างอาจารย์โต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) พี่ศักดิ์วุฒิ (วิเศษมณี) พี่จิตสิงห์ สมบุญ นักวาดภาพประกอบ เขาก็จะมีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง ไม่ใช่อาร์ทิสที่เราเห็นทั่วไปเหมือนสมัยก่อน ผมยาว ใส่เสื้อม่อห้อม ซึ่งผมไม่ใช่ ไม่ชอบแนวนั้น …ขายไอเดีย ขายความคิดมากกว่า ชอบมากกว่า มีกิมมิกเล็กๆ ชอบดู ชอบงานมีที่สีสัน วาไรตี้

– งานขายไอเดีย มันเริ่มต้นมาได้ยังไง

ชอบประดิษฐ์ของตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบทำนั่นทำนี่ ช่วงเรียนตอนเด็กๆ มันจะมีอุปกรณ์น้อย เอากล่องยาสีฟันมาทำเป็นที่ใส่ปากกา วัสดุมันจำกัด เราอยู่ต่างจังหวัดด้วย ของไม่เยอะ ตอนนี้เดินไปไหนก็คิดงานได้ เอามาประยุกต์ได้ ไปไหนอยากทำอะไร ลองคิดดู แล้วเอาของใกล้ตัวมาทำ

– เริ่มเป็นที่รู้จักได้อย่างไร

ตอนที่อยู่สุดสัปดาห์มีอีกหน้าที่หนึ่งคือไปจัดพร็อพถ่ายรูป ถ่ายอาหาร หรือไม่ก็ ไปช่วยพี่เขาซื้อวัสดุมาทำ คนหนึ่งถ่าย คนหนึ่งทำ เมื่อก่อนนั้นเขียนเท่านั้น หลังๆ ก็ทั้งทำ ทั้งเขียนเอง แล้วมันดูเหมาะกับเรามากกว่า… Idea Can Do ทำมาประมาณ 6 – 7 ปีแล้ว ช่วงนั้นกระแสการประดิษฐ์ของก็เพิ่งเริ่ม มันก็เป็นโลโกที่คนรู้จักโอ่ง รุ่นใหม่ก็มีเยอะ วาดรูป ก็จะเป็นคำพูดสนุกสนาน คำเหมือนเป็นที่คล้ายๆ การ์ตูน มันจะมีคำพูดภาษาไทยเขียนรกๆ คำบ่นๆ ซึ่งมันก็มีคนเอาไอเดียไปทำเหมือนกัน

– ที่เขาบอกว่าศิลปินเดี๋ยวนี้ไม่ไส้แห้งแล้ว จริงหรือเปล่า

จริงๆ แล้วมันก็ต้องมีอย่างอื่นทำไปด้วย มาเป็นศิลปินอย่างเดียว ถ้าไม่เก่งจริงๆ มันก็ยาก เหมือนทำให้เราอยู่ด้วยได้ ทำอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย หรือทำให้คนรู้ว่าศิลปินไม่ได้หายไปไหน ไปโผล่ตามที่ต่างๆ ทีวี นิตยสาร ทำควบคู่ไปด้วย ถ้าจะออกมาทำเองจริงๆ ต้องมีคนรู้จักมากพอสมควร

– จุดขาย ด้วยการออกไปให้สื่อเห็น เป็นสิ่งจำเป็นใช่ไหม

มันก็มีส่วนนะ แต่จริงๆ ช่วงนี้กระแส how to มันมาด้วย พอมีอีเวนต์งาน ก็จะให้เราไปทำ งานตกแต่งภาพ เขาก็จะชวนเราไปทำ

– สังเกตไหมว่าทำไมอีเวนต์ช่วงนี้ต้องเอามาผูกกับอาร์ต

สร้างความหลากหลาย ต้องการให้คนที่ไปร่วมงานมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น อีเวนต์งานก็มีของแบบ how to ให้เขาทำเอง ทำได้เอากลับบ้าน ทุกอย่างได้ฟรี อุปกรณ์มีให้อยู่แล้ว และได้กลับบ้านอีก สนุกด้วย ดูมีสีสัน มีส่วนร่วม ไปต่างจังหวัดทำผ้าบาติก หรือทำเป็นช่วงๆ เป็นชั่วโมง รายการวิทยุก็ชวนก็ไปทำเหมือนกัน

– เดือนนึงมีเยอะไหม

ประมาณ 4 – 5 งาน บางทีไปทำปราณบุรี หัวหิน งานรถ ถ้าไปต่างจังหวัดเขาจะชวนไปทำกิจกรรม ปกติงานข่าวแมกกาซีนจะเยอะ ช่วยเรื่อง connection ด้วย เขาคงคิดถึงเราเหมือนเป็นโลโก้ เห็นแล้วนึกถึง ไอเดีย แคน ดู

– เลือกออกงานหรือเปล่า

ถ้ารู้จักคนจัดทำ เขาชวนเราก็ไป แล้วแต่งานด้วย มีคนรู้จักไปด้วยหรือเปล่า

– แบ่งเวลาอย่างไร

ถ้าว่างก็มาวาดรูป ส่วนงานก็ไปก่อน แต่อย่างไรก็ต้องนึกถึงวันที่ปิดต้นฉบับ วันที่ 15, 31 ของทุกเดือน ต้องรีบส่ง ช่วงนี้มากกว่านี้ แต่ตอนนี้น้อยลง จัดสรรเวลาได้ ถ้าไม่มีอะไรทำก็มานั่งวาดรูป

– อะไรสิ่งที่เป็น Position ทำให้คนคิดถึง โอ่ง กงพัฒน์

อาจจะเป็นตัวเราด้วย เมื่อก่อนหัวตั้ง เป็นคาแร็กเตอร์ ก็ทำมาเรื่อย ไม่ใช่สร้าง แต่เป็นผมจริงๆ คนจดจำได้ ชอบแต่งตัว เดิร์นๆ หน่อย งานเขียนด้วย ไอเดีย แคน ดู ชอบความเป็นโมเดิร์นสมัยใหม่

– ช่วงนี้ดูเรียบง่ายขึ้นหรือเปล่า

แล้วแต่เป็นบางช่วง บางวันอยากแต่งก็แต่ง เพื่อนรุ่นเดียวกันมี แก็ปทีโบน รุ่นเดียวกันจากช่างศิลป์ แต่ไปเป็นนักร้อง ส่วนคนอื่น ไม่ทำงานโฆษณาก็เป็นผู้กำกับ

– ตอนที่เรียนรุ่นเดียวกันถูกมองไว้หรือเปล่าว่า ต่อไปต้องดัง

ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นเลย คนอื่นก็ดูเก่งกว่า เกรดเราก็ดี แต่ไม่มากเท่าเขา เราก็ไม่บอกว่าตัวเองเก่ง เพื่อนก็มีไม่กี่คนที่อยู่ ส่วนมากไปอยู่เบื้องหลัง ทำฉาก ทำโฆษณา

– สงสัยมั้ยว่าทำไมต้องเป็นเรา

ไม่รู้เหมือนกัน ก็คงได้ที่ทำงานดี ได้เพื่อนดี ได้คนสนับสนุนที่ดี ได้คนรู้จักที่ดี เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี

– Idea Can Do ทำมานานเท่าไรแล้ว

ทำมา 7 – 8 ปี แล้ว หนังสือออกเล่มแรก รวมเล่มก็ได้รับความสนใจมากเลย ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนทำ มีบ้างแต่ไม่ชัด แต่ของเรามีอาร์ตมาผสมด้วย เป็นไอเดียง่ายๆ อะไรยากๆ ก็ไม่ทำ ไปสอนงานอีเวนต์ก็สามารถสอนคนได้ ให้เขาดูแล้วทำตาม พูดได้ คุยได้

– มีศิลปินคนอื่นที่อาจจะไม่ใช่ในรุ่นเดียวกันหรือรุ่นเดียวกันมาวิจารณ์อะไรบ้างหรือเปล่า

เมื่อก่อนตอนเรียนอาจารย์ก็วิจารณ์เหมือนกัน ว่าทำงานอย่างนี้จะหากินได้หรือ ตอนนั้นอาจารย์ให้วาด ส.ค.ส. เราก็วาดสไตล์การ์ตูน แต่เพื่อนก็วาดแบบเนี้ยบเลย จะให้วาดแบบเก็บเนี้ยบเลย ราคา 15 บาท มันเสียเวลา

– ทำไมแนวการวาดแนวนี้ถึงดัง และเป็นที่ต้องการได้

เอาไปตกแต่งบ้านได้ ทำให้ห้องสนุกขึ้น มีสีสันขึ้น เพราะบ้านก็ทันสมัยขึ้น ภาพที่ประกอบตกแต่งก็ต้องเข้ากัน ไม่ใช่แบบที่ดูยากๆ น่ากลัว รูปซีเรียส มันจะไม่เข้ากัน

– ศิลปินบางคนจะไม่ชอบให้งานของตัวเองกลายเป็นเพียงแค่ภาพตกแต่งบ้าน โอ่งคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ไม่…จริงๆ ของเราก็ตกแต่งบ้านให้เขาสวยงามขึ้น แล้วก็ไม่คิดหรือยึดถึงตรงนี้ด้วย ส่วนมากมองว่าเป็นติส (อาร์ทิส) แต่ก็แค่แต่งตัวเป็นติส ต้องดูผลงานก่อนว่ามันกลมกลืน หรือว่าเข้ากับตัวเองแค่ไหน ซึ่งบางที่ก็แค่ติสเรื่อยเปื่อย ติสแค่การแต่งตัว ต้องลงไปดูที่เนื้องาน ดูทุกอย่าง ตัวหนังสือ การเขียน พวกรูปภาพ บางคนวาดไม่ได้เลย มีเยอะ ถ้าได้เข้าไปดูใกล้ๆ

– ยอมรับไหมกับคำว่าพาณิชย์ศิลป์

ใช่ อย่างแป้งก็เป็นพาณิชย์ศิลป์ เพราะงานของเขาไปเข้ากับพวกโฆษณา เพราะเขามีคาแร็กเตอร์ สำหรับเมื่อก่อนของเราก็ทำนิดหน่อย เน้นทำภาพประกอบมากกว่า ทำให้ดาราเกือบทุกคนไม่ว่าจะเป็นตุ๊ก ญาณี ศรัยญู ปราณประมูล โน้ต อุดม พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง

– ทำไมบอกยกเลิกงาน

ก็ต้องยกเลิกไปบ้าง บอกไปทุกงานก็คงไม่ได้ เรื่องราคาด้วย

– ราคาของการไปร่วมงาน event ส่วนใหญ่อยู่ที่เท่าไร

มันขึ้นอยู่กับงาน ขอบข่ายของงาน ความรู้จักกันส่วนตัว ให้ซื้ออุปกรณ์ด้วยหรือเปล่า ถ้าไปต่างจังหวัดก็ราคาหนึ่ง หรือหลายวันก็อีกราคาหนึ่ง นี่พูดถึงงานอีเวนต์ งานวาดรูป สอนวาดรูป งานชิ้นที่แพงมากที่สุดราคาประมาณ 5 หมื่น ขายได้หลายชิ้น คนที่ชอบก็มีหลายกลุ่ม celebrity ก็เช่น พี่ดี้ ม.ล.รจนาธร จิรประวัติ พี่มังคุด พี่ริกก้า ดีล่า ชอบสะสมงานของศิลปินรุ่นใหม่

– ก่อนแสดงงานมีไหมที่ต้องไปเก็บตัววาดรูป

ไม่เก็บตัวเลย ไม่ชอบอยู่คนเดียว นั่งวาดรูปคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อนด้วย บ้านมีอุปกรณ์เยอะ เราชอบวาดกับเพื่อน ให้เพื่อนดูให้ วิจารณ์ เวลามันจะผ่านไปเร็ว ช่วยกันดู เป็นคนสมาธิสั้น อยู่บ้านมีกิจกรรมเยอะ ทำโน่นทำนี่ เลยทำงานไม่ได้

– ทำงานขึ้นอยู่กับอารมณ์ด้วย

บางวันเศร้า งานก็ออกมาเศร้า เมื่อก่อนปี 1996 เราเขียน “กงพัฒน์ 2000” (เซ็นชื่อบนภาพ) ประวัติศาสตร์แยกไม่ได้ เขียนไปก่อน หรือบางทีพวกกระเป๋า ก็เซ็น ปี 2006 คือเขียนให้อินไปถึงปีนั้นเลย จะได้ไม่เชย สนุกดี

– มีรายการโทรทัศน์ เข้าไปได้อย่างไร

ตอนแรกเขาก็จะเชิญไปออก ทำเป็นช่วงแขกรับเชิญ ต่อมาก็เป็นวิทยากร อย่างทีนทอล์ก, รายการไลฟ์สไตล์, บ้านเลขที่ 5, รายการครบเครื่องเรื่องผู้หญิง เป็นรายการผู้หญิงๆ บ้าง รายการวัยรุ่นๆ บ้าง

– เคยคิดที่จะทำเป็นของตัวเองเลยหรือเปล่า

ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นของตัวเอง แต่พี่ซุปชวนมาทำช่วงหนึ่ง ชื่อ ซุปเปอร์อาร์ต ที่เด็กเขียนจดหมายเล่าถึงของเหลือใช้ เราก็เอามาคิดประดิษฐ์ให้เด็กเขาได้ทำ ประมาณ 5 –10 นาที เป็นรายได้ประจำ ถ้าทำประจำทุกเดือน รายได้ก็ไม่ดีมาก ภาพประกอบน้อยกว่าด้วย แต่ดีใจที่ได้ทำ แต่ถ้าเป็นงานอีเวนต์รายได้จะดีที่สุด

– รายได้ที่เป็นกอบเป็นกำจริงสำหรับศิลปินจริงๆ ตอนนี้มาจากไหน

อีเวนต์ด้วย วาดรูปโชว์ครั้งหนึ่งก็ดี สมทบรายได้ ขายได้ คนชอบเยอะ รูปไม่แพง คนซื้อเป็นคนรู้จักด้วย ตามบ้านเขามีรูปของเราอยู่

– เห็นด้วยหรือไม่ว่าศิลปินต้องมีความเป็นดาราด้วย

ก็มีส่วนนะ ศิลปินที่เป็นอาร์ตเป็นดาราด้วย อย่าง พล ตันฑเสถียร, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ก็จะมีงานเข้ามามากกว่า คุณต้องมีความสามารถอีกอย่าง บางทีโอ่งก็ไปทำแบบนี้บ้าง เป็นการชักชวนเพื่อนดาราให้ไปทำด้วย

– ชื่อ “กงพัฒน์” ตอนนี้คิดว่ากลายเป็นแบรนด์แล้วหรือยัง

มีส่วน ก็ขายชื่อ คนก็อยากมาทำ อยากมาเห็น

– มันเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไร

มีตั้งแต่ 2002 หลังจากกลับมาจากนิวยอร์ก เริ่มมีคนถามหา อย่างคนทำอีเวนต์ เสนอไอเดียไปว่าควรมีอาร์ต เชิญคนที่ร่วมสมัยมา เอาแบรนด์นั้นไปทำเป็นอาร์ตผสม เครื่องสำอางที่ทำจากผลไม้ อาจจะให้ศิลปินใช้จินตนาการจากผลิตภัณฑ์มาเป็นสินค้ามาคุยกันบนเวที มีแนวอย่างนี้เยอะ ดารามันขายได้ ช่วยดึงคน เขาก็จะเพิ่มรายได้ขึ้น ความเป็นอาร์ตก็น่าสนใจ กงพัฒน์ก็เป็นอาร์ต แล้วมาเป็นดาราทีหลัง มีกลุ่มเพื่อนให้ช่วยเป็นงานการกุศลก็ช่วยเหลือกัน ถ้าเป็นงานอีเวนต์ก็ชวนเพื่อนให้เข้าไปช่วยได้ด้วย

– เวลาคุณโอ่งไปงาน ช่วยให้งานดีขึ้นในแง่ไหน

อาจจะดึงเวลาให้อิ่มขึ้น แทนที่จะปุ๊บปั๊บเลิก ให้มีอะไรทำมากขึ้น

– บริหารทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างไร

เดิมอยู่คอนโดมิเนียม เวลานี้ก็เริ่มซื้อบ้าน อยู่แถวซอยราชครู บ้านสี่ชั้นไม่ติดกัน 12 หลัง ราคา 5 ล้าน มีรถฮอนด้าซีอาร์วี แล้วก็เวสป้า

– ถือว่าได้ใช้ชีวิตที่อยากทำแล้วหรือยัง

ได้… มากบ้าง น้อยบ้างก็โอเค เพราะมีสะสมอยู่นิดหนึ่งแล้ว ไม่ได้ดิ้นร้นมาก เรื่อยๆ ตามแบบของเรา ไม่เที่ยวก็ไปได้ เพิ่งไปลอนดอนมา รายได้ก็พอใช้ได้ มีความสุขที่ได้ทำมากกว่า

– เท่าที่คุยก็รู้ว่าศิลปินไม่ไส้แห้งแล้วนะ

สำหรับโอ่ง อยู่รอดได้ พอใจที่เรามี ไม่ได้โลภมาก มีเก็บนิดหน่อยแต่ละเดือน ไม่ได้เอาเดือนที่แล้วมาชน ไม่ได้หวังจะเก็บมาก ตะกายหา

– วางแผนอนาคตไว้ว่า

วางแผนเรื่อยๆ ช่วงนี้มีงานเยอะ งานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือทำยาวๆ ได้ แต่ถ้างานพวกนี้ซาลง เราอาจจะมีร้านของตัวเอง ร้าน ฮาวทู ร้านไอเดีย แคนดู อยากทำซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นน้ำตาลให้แพ็กเกจเก๋ๆ เป็นยี่ห้อของเราเอง เป็นน้ำปลา ผงชูรส เอาไอเดียมาใช้ ขายแพ็กเกจจิ้งด้วย ลองดูเพราะเราชอบกราฟิกด้วย เมืองนอกเราก็เห็นมาแล้ว ก็สวยดี บางคนซื้อหีบห่อของด้วย ไม่ได้ซื้อเฉพาะของข้างในอย่างเดียว ใช้ประดับบ้านได้ อาจจะไปขายร้านอาหารไทยที่เมืองนอก

– งานที่คิดจะทำไปถึงไหนแล้ว

กำลังคิดอยู่ คุยดูแล้วน่าจะดี เปิดร้านเล็กๆ ก่อน ลองดู แต่งานเดิมภาพประกอบก็ต้องคิดทำไปเรื่อยๆ เราชอบ มีความสุข ไม่ทิ้งไป เป็นส่วนหนึ่งที่เราเกี่ยวข้อง รายได้น้อยแต่ดีใจที่ได้ทำ…

Profile
Name : กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์
Born : 11 เมษายน
Education :
1982-1985 โรงเรียนศรีสงคราม จังหวัดเลย
1986-1988 วิทยาลัยช่างศิลป์ กรุงเทพ
1992 สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา กรุงเทพ
Professional experiences :
1982-1985 ได้รับรางวัลมากกว่า 50 รางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศ
1986-1988 นิทรรศการผลงานนักศึกษาวิทยาลัยช่างศิลป์ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
1990-1998 เริ่มวาดภาพประกอบในหนังสือพ๊อคเก็ตบุ๊คหลายต่อหลายเล่ม ในเครืออมรินทร์
1996 แสดงเดี่ยวครั้งแรกในชื่อ “color shock by k” ที่พรอมมินารด โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพฯ
1997 “love 5000” แสดงร่วมกับ 8 ศิลปิน
1998 แสดงผลงานในฐานะ Young Artist กับ Nokia
1998 แสดงผลงานในชื่อชุด “The art of illustrstors” ที่พรอมมินารด โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพฯ
1999 “พืช กับ สัตว์” แสดงร่วมกับ อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ที่สยามดิสคัฟเวอรี่
2000 “The world according to Kongpat” ที่ร้าน Eat me
2004 วาดภาพประกอบเสื้อยืดที่ ห้างสรรพสินค้าเกษร

ปัจจุบัน เขามีรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการประดิษฐ์ วาดภาพประกอบนิตยสาร และคอลัมน์ในสุดสัปดาห์ เขาเคยออกหนังสือ Idea Can Do มา 3 เล่ม และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในเมืองศิลปะที่ชื่อ “made in hong kongpat”

Website

www.kongpat.com