Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์นอกกรอบ

นับจากที่เคยมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2542 คนไทยกำลังจะได้มีโอกาสต้อนรับ ศ.พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญแห่งโลกเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ อีกครั้งหนึ่ง โดยเขาจะเดินทางมาเป็นองค์ปาฐกให้กับงานสัมมนาที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและไทยเดย์ ด็อท คอม เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและโอกาสการแข่งขันในเวทีโลก

ครุกแมน เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกที่กล้าออกมาทำนายเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียไว้ตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานฟองสบู่เศรษฐกิจเอเชียก็แตกสนั่น หลายประเทศบาดเจ็บกันระนาว ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 2541 ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ก็ได้ประกาศมาตรการเบ็ดเสร็จออกนโยบายควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งแน่นอนว่านโยบายนี้เป็นผลมาจากแนวคิดการควบคุมการปริวรรตเงินตรา (Exchange Control) ของครุกแมนนั่นเอง

การที่ครุกแมนมาเมืองไทยเมื่อปี 2542 เป็นการมาเพื่อแสดงปาฐกถาพิเศษที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งในตอนนั้นเขาได้วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจไทยว่า ฟื้นตัวช้ากว่าเกาหลีใต้และมาเลเซีย เนื่องจากดำเนินนโยบายผิดพลาดตามแนวทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเกินดุลงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้ต่อมารัฐบาลต้องเปลี่ยนใช้นโยบายขาดดุลแทน แต่การปรับเปลี่ยนที่ล่าช้า และโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ด้อยกว่าเกาหลีใต้และมาเลเซีย จึงทำให้ถูกโจมตีได้ง่ายจากพวกเก็งกำไร ขณะเดียวกันเงินส่วนใหญ่ยังจมอยู่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้านนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมต.คลังในตอนนั้น ก็ออกมากล่าวว่า สิ่งที่ครุกแมนพูดคือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ (ต่อมาเป็นอย่างไรคงไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว)

ประวัติส่วนตัวของครุกแมน เขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล เมื่อปี 2517 แล้วจบปริญญาเอกจากเอ็มไอทีในอีก 3 ปีต่อมา จากนั้นไปเป็นอาจารย์ที่สแตนฟอร์ดและที่เยล รวมถึงที่เอ็มไอที ซึ่งที่นี่เองเขาได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ Ford International Professor of Economics

ชื่อเสียงของครุกแมนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการนำเสนอทฤษฎีการค้าใหม่ (New trade theory) ที่เป็นครั้งสำคัญของการรื้อทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และนี่เองที่ส่งผลให้เขาได้รับรางวัล John Bates Clark เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลสำคัญจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกันมอบให้กับนักเศรษฐศาสตร์อายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีผลงานสำคัญ และเมื่อปลายปี 2546 นิตยสารอีโคโนมิสต์ก็ยังยกย่องให้ครุกแมนเป็นสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ขวัญใจคนอเมริกัน เป็นคนที่กล้าวิพากษ์นโยบายรัฐบาล “บุช” อย่างรุนแรงตรงไปตรงมา ทั้งยังเก็งว่าครุกแมนจะมีสิทธิถูกเสนอชื่อรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

นอกเหนือจากการเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์แล้ว หนังสือเล่มล่าสุดของครุกแมน คือ The Great Unraveling : Losing Our way In the New Century ซึ่งเป็นผลงานเขียนเล่มที่แปดของเขา ก็ยังติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดจากการจัดอันดับของนิวยอร์กไทมส์ นานถึง 8 สัปดาห์

เศรษฐวิบัติ (The Return of Depression Economics) แปลโดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
ครุกแมนเขียนถึงเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี ค.ศ. 1999 ยุโรปและเอเชียได้รับผลกระทบมากที่สุด กล่าวได้ว่ายุโรปประสบกับภาวะเส้นเลือดตีบ ในขณะที่เอเชียต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ บริษัทการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเอกชน ต่างประสบภาวะขาดทุน หุ้นราคาตก และปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าที่ตามมาในธุรกิจช่วงนั้น หนังสือเล่มนี้อธิบายรายละเอียดว่าระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เติบโตอย่างไร เกิดปัญหาได้อย่างไร และการจะฟื้นตัวจากวิกฤตได้ก็อยู่ที่ความหวังหนึ่งเดียวคือ การรู้ทันกลไกของเศรษฐกิจ

Website

www.nytimes.com/ref/opinion/KRUGMAN-BIO.html