แจ่มใส : ผู้จุดประกายนิยายรักเกาหลี

ถึงวันนี้ แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีเด็กวัยรุ่นคนไหนไม่รู้จัก “สำนักพิมพ์แจ่มใส” ต้นตำรับนิยายแนว Korean Love Story ซึ่งเรื่องดังที่จุดประกายให้คนอ่านติดเรื่องรักแบบเกาหลีกันงอมแงม คือ หนุ่มฮ็อตสาวเฮี้ยวรักเปรี้ยวอมหวาน กับสาวใสหนุ่มซ่าตามล่าหารัก นิยาย 2 เรื่องแรกที่นำเข้ามาราวเดือนเมษายน ปีที่แล้วนี้เอง

เฉพาะนิยาย 2 เรื่องนี้ แจ่มใสพิมพ์ไปประมาณแสนกว่าก๊อบปี้ และพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ทั้งยังทำให้เกิดแบรนด์ “Jamsai Love Story” ที่การันตีว่าเป็นเรื่องแปลจากเกาหลี และเรื่องจากนักเขียนไทยที่อิงสไตล์เกาหลี ให้บรรดาหนอนหนังสือหยิบอ่านได้อย่างมั่นใจว่าเป็นแนวรักกุ๊กกิ๊กสดใสวัยรุ่น อ่านได้สบายใจไม่ต้องคิดมาก

แต่คนที่เป็นแฟนหนังสือของแจ่มใสจะรู้ว่า กึ๋นของแจ่มใสไม่ใช่มีแค่เรื่องรักเกาหลีเท่านั้น เพราะรากของแจ่มใสนั้นเติบโตมากจากหนังสือชุด ภายใต้แบรนด์ “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” ที่ปัจจุบันมีซีรี่ส์รวมเรื่องสั้นออกมาถึงเล่มที่ 16 แล้ว ยังไม่นับเล่มพิเศษของบรรดานักเขียนที่แจ้งเกิดจากเว็บบอร์ด อีกกว่า 20 เล่ม นับตั้งแต่วางแผงครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2544 คิดเป็นจำนวนที่ตีพิมพ์ออกไปแล้วกว่า 100,000 ก๊อบปี้ แรงจนช่อง 3 ซื้อไปทำละครถึง 2 เรื่อง ช่อง 7 อีก 1 เรื่อง และคงจะมีอีกหลายเรื่องทยอยตามกันไป

รายรับรวมปี 2547 ที่ระดับ 70 ล้านบาท จึงไม่เป็นการกล่าวเกินเลย แต่กลับสนับสนุนข้อมูลของซีเอ็ดที่บอกว่า สำนักพิมพ์ที่โตเกิน 100% และน่าจับตามอง คือ สำนักพิมพ์แจ่มใส ซึ่งเป็นทั้งสำนักพิมพ์ที่มียอดขายหนังสือออกใหม่ที่ทำเงินมากสุด เป็นอันดับ 4 ทั้งยังมีรายการหนังสือติดใน 20 อันดับขายดีมากที่สุดเป็นอันดับ 4 และมียอดขายเรื่องแปลมากมากที่สุดเป็นอันดับ 1 (เมื่อนับจำนวนเล่ม) และเป็นอันดับ 2 เมื่อนับยอดขาย อีกด้วย

เพื่อที่จะตีแผ่โมเดลใหม่ของธุรกิจสำนักพิมพ์ที่เริ่มต้นจากคอนเทนต์ในเว็บบอร์ด และการเป็น trend setter ด้านนิยายรักเกาหลี POSITIONING ได้สัมภาษณ์ 2 (ใน 3 ซึ่งอีกคนคือ เกรียงไกร สื่อสุวรรณ) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แจ่มใส คือ บุษรา พรประเสริฐศรี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด และ ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ถึงที่มาในอดีต หนทางที่กำลังเดินอยู่ และแนวโน้มที่จะเป็นไปในอนาคต

– จุดที่แตกต่างไปจากสำนักพิมพ์อื่นอย่างไรบ้าง

บุษรา – ก่อนหน้าที่จะมาสำนักพิมพ์ ไม่ได้ทำเกี่ยวข้องกับวงการหนังสือเลย เป็นบริษัทไอที ทำเว็บดีไซน์และโปรแกรมเมอร์ พัฒนาเว็บ ก็มีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลี ได้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในเว็บไซต์ เป็นอะไรที่ยังไม่มี และตรงกับความชอบส่วนตัว ก็เลยลองจากตรงนั้น คอนเซ็ปต์ก็คือ เราทำเรื่องที่เราคิดว่าอ่านแล้วสนุก

ศศกร – เล่มแรกของเรา “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” เวลานั้นเราอยากทำ สิ่งที่ไม่มีอยู่ในท้องตลาด ทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น เรามองว่าเรื่องราวบนอินเทอร์เน็ตมีศักยภาพ มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และมีคุณภาพด้วย เพราะว่าช่วงเวลานั้นนักเขียนที่ไม่มีชื่อ ไม่เคยมีงานเขียนมาก่อนก็จะไม่ได้รับการสนับสนุน คนจะอ่านแต่นักเขียนที่ดังอยู่แล้ว แม้นักเขียนใหม่จะมีคุณภาพแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ตีพิมพ์ หรือจะได้ตีพิมพ์แต่โอกาสยากมาก ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะลองทำดู เปิดโอกาสให้เป็นเวทีสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ พอออกเล่มแรกไป ฟีดแบ็กกลับมาดีมาก จากคอนเทนต์ที่มาจากอินเทอร์เน็ต ตอนนั้น “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” เล่ม 1 ออกมาเมื่อตุลาคม 2544

– กลุ่มคนอ่านเป้าหมายเป็นใคร

ตอนแรกเป้าหมายอยากจะทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าเว็บได้อ่านไม่ได้มองว่าจะเป็นวัยไหน ไม่มองเชิงธุรกิจมากนักในตอนนั้น และไม่ได้ทำการตลาดอะไร ประชาสัมพันธ์ตามปกติ ใช้เว็บไซต์ แล้วนักเขียนก็มีการบอกต่อกันเอง

– เล่มแรกใช้เวลาสร้างยอดขายนานไหม

ศศกร – จำนวนพิมพ์ครั้งแรก 3,000 เล่ม หนังสือกว่าจะรู้ฟีดแบ็กจริงๆ ว่าขายได้เท่าไหร่ เวลาอาจจะผ่านไปนาน แต่เราดูว่าพอพิมพ์ออกไปรู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหวดี ขายหมดเร็ว เราก็เลยตัดสินใจจะพิมพ์ใหม่ และมีคนอ่านเขียนจดหมายเข้ามาหา หรือโทร. มาคุย

บุษรา – เวลานี้ “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” เล่มธรรมดาที่เป็นรวมเรื่องสั้น ถึงเล่ม 16 แล้ว ส่วนชุดพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องยาว หรือว่าเป็นรวมเรื่องสั้นของนักเขียนคนเดียว ออกมา 20 กว่าเล่มแล้ว รวม 30 กว่าไตเติ้ล พิมพ์ออกมากว่าแสนก๊อบปี้ ถือว่าผลตอบรับดีเพราะว่ามีกลุ่มแฟนประจำ

– กลยุทธ์การตลาดทำอย่างไร

ศศกร – ตอนแรกมาจากตัวสินค้าล้วนๆ ถ้าสินค้ามีคุณภาพตรงใจคนอ่านอยู่แล้ว แต่ว่าหลังจากนั้น ก็อาจจะต้องใช้กลยุทธ์การตลาดบางอย่าง มี CRM เพื่อรักษาลูกค้าไว้ หรือว่าสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมา ส่วนใหญ่จะใช้เว็บไซต์เพื่อที่จะให้มีการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าตลอด พยายามทำให้รู้สึกเป็นเพื่อนกัน เอาไว้แลกเปลี่ยนข้อมูล เราก็รับฟีดแบ็กจากลูกค้าตลอดเพื่อที่จะพัฒนาทั้งบริการ ทั้งสินค้าให้ดีขึ้น

บุษรา – ช่องทางจัดจำหน่ายขายผ่านอมรินทร์ มีขายผ่านเว็บไซต์ ก็จะมีโอกาสพิเศษที่ไปออกบูธงานสัปดาห์หนังสือ มหกรรมหนังสือ แล้วก็มีตามโรงเรียนเวลาเขาจัดงานสัปดาห์ห้องสมุดก็จะเชิญไปบ้าง

– จาก “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” พัฒนาต่ออย่างไรบ้าง

ศศกร – ต่อมาก็ทำหลายแนว ทั้งนิยายแปลตะวันตก แนว Chic-lit แนวโรมานซ์ เพราะเราอ่านหลากหลายแนวอยู่แล้ว ไม่ได้ชอบเฉพาะเจาะจง ก็เลยพยายามทำหนังสือให้หลากหลาย ช่วงที่แนวตะวันตกเข้ามาเยอะ เราก็ทำวรรณกรรมแปลแนว Chic-lit เรื่องที่ประสบความสำเร็จ เช่น Come Together หนุ่มอยากหนาวสาวอยากอุ่น, เจ้าสาวสติแตก พวกนี้ถือว่าขายดีในตอนนั้น

บุษรา – เวลานั้นเราต้องการทำให้หลากหลาย เพราะฉะนั้นจึงเปิดกว้างหมด ทั้งงานไทย งานต่างประเทศ จุดสำคัญก็คือ อ่านสนุก ตรงใจนักอ่านคนไทย

– จุดเปลี่ยนที่มาจับเรื่องเกาหลี และมีนิยายเกาหลีเราเอาเข้ามาปีไหน

ศศกร – ตอนประมาณปลายมีนาคม–เมษายน 2547 ช่วงสัปดาห์หนังสือพอดีเลย

– ใช้เกณฑ์การเลือกเรื่องอย่างไร

บุษรา – คอนเซ็ปต์ต้องอ่านสนุก

ศศกร – อ่านแล้วสนุกได้อารมณ์ แล้วก็รู้สึกว่ามันยังไม่มีในเมืองไทย เรื่องแรกของเราคือ หนุ่มฮ็อตสาวเฮี้ยวรักเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เกาหลีนานมากแล้ว แล้วตอนนี้ค่ายหนังก็กำลังจะเอาเข้ามาฉายในเมืองไทย

การเลือกเรื่อง พยายามดูรวมๆ หลายอย่างประกอบกัน บางทีเราเลือกมาก่อน แต่พอดีเรื่องนั้นถูกเอาไปทำเป็นหนังก็มีบ้างเหมือนกัน ฟีดแบ็กจากนักอ่านของประเทศเขาเองเราก็จะดู แต่บางทีหนังสือไม่ได้ติดเบสต์เซลเลอร์ เพราะลักษณะการอ่านของเกาหลีกลุ่มคนอ่านเขาจะกว้าง แล้วก็อ่านหนังสือแนวอื่นเป็นพิเศษ ส่วนหนังสือแนวนี้เด็กๆ จะอ่าน หนังสือที่ฮิตในหมู่เด็กก็อาจไม่ได้ไปติดเบสต์เซลเลอร์ เราจะดูจากที่ได้ดูได้อ่านเรื่องย่อ แล้วก็ค่อยตัดสินใจว่าจะเอาไหม แหล่งข้อมูล ก็คือ ไปดูจากร้านหนังสือที่เกาหลี เข้าเว็บไซต์ ซึ่งเกาหลีก็จะมีเว็บไซต์ร้านหนังสือของเขา ดูเรื่องย่อ ดูรีวิว ดูว่าคนอ่านมีฟีดแบ็กยังไงกับหนังสือเล่มนี้แล้วค่อยหามาอ่าน

– ทีมของแจ่มใสมีกี่คน

ศศกร – มี 20 กว่าคน เป็นทีมแปล 6 คน ที่แปลให้เราเป็นประจำ มีพนักงานประจำที่ใช้ภาษาเกาหลีได้ 3 คน เป็นคนอ่านเรื่องย่อ จากนั้นเราจะนำมาประชุมกันเพื่อเลือกว่าจะเลือกแนวไหน

– คิดว่าทำไมจึงยังไม่มีใครทำแนวนี้

ศศกร – น่าจะเป็นเพราะเรื่องภาษา มีคนเป็นภาษานี้น้อยมาก อาจจะมีช่องว่างด้านการถ่ายทอดเรื่องภาษา วัฒนธรรม และหนังสือแนวนี้ไม่ได้ติดเบสต์เซลเลอร์ของเกาหลี ในขณะที่สำนักพิมพ์อื่นอาจจะมองเรื่องนี้ เลือกจากการที่หนังสือติดชาร์ตอะไรแบบนี้ ตอนนั้นพ็อกเกตบุ๊กแนวนี้ที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นแนวเครียดหน่อย หรือว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ถ้าแนวโรแมนติกใสกิ๊ก วัยรุ่น ยังไม่มีเลย

– ค่าลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร

บุษรา – แพงค่ะ อย่างเล่มแรกก็แพง เพราะเป็นนักเขียนมีชื่อ และดังที่สุดของแนวนี้ คือโดยพื้นฐานมันสูงอยู่แล้ว ตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ไม่แน่นอน เราติดต่อผ่านเอเยนซี่บ้าง ติดต่อโดยตรงกับสำนักพิมพ์เองบ้าง เอเยนซี่ในไทยที่เริ่มเอาเรื่องเกาหลีเข้ามาก็มี Tuttle Mori

ศศกร – และขึ้นกับว่าถ้าเขาขายลิขสิทธิ์ไปในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน แล้วเขาเรียกค่าลิขสิทธิ์สูง เราก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงตามไปด้วย แต่ไม่เข้มงวดเรื่องดีไซน์เหมือนญี่ปุ่น ให้เราเลือกเองว่าจะใช้ภาพเขาไหม ถ้าออกมาแล้วคิดว่าสไตล์ไม่เข้ากับเล่มที่ออกมาก่อน เราก็จะทำใหม่

– สัดส่วนรายได้มาจากหนังสือแนวไหนมากที่สุด

ศศกร – “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” กับเรื่องเกาหลี รวมกันน่าจะประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมด แต่ถ้าเทียบระหว่าง 2 แนวนี้ก็ถือว่าพอๆ กัน นิยายเกาหลีแม้เพิ่งทำปีเดียว แต่สร้างรายได้เท่ากับเรื่อง “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” เพราะมีกลุ่มคนอ่านเดิมที่หันมาอ่านเรื่องแปลด้วย และก็มีกลุ่มใหม่เข้ามาด้วย

บุษรา – จากข้อมูลของซีเอ็ดที่บอกว่าแจ่มใสโต 100% มาจากหนังสือ 2 กลุ่มนี้ล้วนๆ เลย เมื่อปี 2547 รายรับรวมอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท

– คนอ่านเป็นกลุ่มไหนบ้างขยายไปกลุ่มใหม่ได้อย่างไร

ศศกร – เซกเมนต์จริงๆ คงเป็นผู้หญิง เราไม่ได้กำหนดช่วงอายุ หรือเป็นแค่วัยรุ่นเท่านั้น เท่าที่มีโอกาสได้พบเอง พบว่ามีช่วงกว้างมาก มีตั้งแต่เด็ก ม.ปลาย ไปจนถึงคนทำงาน อายุราว 20-30

บุษรา – บางทีก็มีหลุดเข้ามา 40 กว่าก็ยังอ่าน เป็นคนทันสมัย บางท่านเคยโทร.มาคุย อายุ 50 กว่าก็มี การขยายส่วนใหญ่จะเป็นปากต่อปาก ที่คิดว่าได้เยอะน่าจะมาจากเด็ก ที่ไปบอกต่อเพื่อนที่โรงเรียน ผู้ใหญ่ก็แนะนำเพื่อนที่ทำงาน ตอนหลังก็เกิดเป็นคอมมูนิตี้คุยกันในเว็บ และบางคนที่อ่านแต่ไม่เข้ามาในเว็บก็เยอะ ซึ่งก่อนหน้ามีเว็บก็มีคนอ่านอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง พอมาเป็นคอมมูนิตี้ก็เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น

– งานพบนักเขียน Choi Yu Ri ที่สัปดาห์หนังสือ นับเป็นครั้งแรกของการจัดนักเขียนพบนักอ่านไหม

ศศกร – ถ้าเรื่องเกาหลี มีการจัดมีตติ้งครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว หลังหนังสือออกแล้วประมาณ 4-5 เรื่อง เช่น หนุ่มฮ็อตสาวเฮี้ยว, เซี้ยวนักรักซะให้เข็ด โดยเชิญนักแปลมา ซึ่งนักแปลมีหลายคน เช่น ทาลิทา, จี เยวอน, envy, คุณนาย ส่วนใหญ่ใช้นามปากกาหมด กับคนอ่านเขาก็จะมีกลุ่มของเขาเอง แต่ละครั้งมาประมาณ 200 คน จัดที่ Korean Town สุขุมวิท ใกล้ๆ อโศก เรามีแผนว่าจะจัดแบบนี้ทุกปีปีละครั้ง เป็นมีตติ้งสำหรับคนอ่านที่ชอบแนวเดียวกัน คอเดียวกัน อย่าง “ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก” ก็จะมีการจัดทุกปีเหมือนกัน เพื่อให้แฟนๆ ได้เจอนักเขียน เราก็รับฟีดแบ็กจากนักอ่าน

– ตอนนี้ทำเรื่องแนวเกาหลีออกมากี่เล่ม

ศศกร – เฉพาะนิยายแปลเกาหลีประมาณสิบกว่าเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องหลายเล่มจบก็จะทยอยออกเดือนละเล่ม

บุษรา – อย่าง Tokyo Love Story 4 เล่มจบ ตอนนี้พิมพ์ถึงเล่มที่ 2 แล้ว ออกมาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2-3 เรื่อง จากจุดนี้เองที่จุดประกายนักเขียนไทยเขียนเรื่องแนวนี้ขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่าแนว Jamsai Love Series เราจะไม่ใช้คำว่า Korean แล้ว เพราะมีงานของนักเขียนไทยด้วย แต่ว่าอารมณ์ที่ได้จะเหมือนกัน เรามีนักเขียนนักเขียนที่เด็กสุดอายุประมาณ 13 ปี

ศศกร – นักอ่านหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เล่มที่จุดประกายคือหนุ่มฮ็อตสาวเฮี้ยว พออ่านจบเขาก็อยากจะเขียนบ้าง บางคนเขียนแล้วก็เอามาลงเว็บไซต์ กลายเป็นแนวเฉพาะไปเลย ตอนนี้ก็เลยเป็น Jamsai Love Series เกิดเป็นแบรนด์ขึ้นมา อยากอ่านแนวนี้ต้องมาแจ่มใส

– หนังเกาหลีมีส่วนช่วยปลุกกระแสคนอ่านไหม

ศศกร – ตอนแรกที่เอาเข้ามา ตอนนั้นกระแสหนังเกาหลีหายไปจากตลาดแล้ว เราก็รู้สึกดีใจว่าพอเราเอาเข้ามาแล้ว สามารถสร้างกระแสขึ้นมาได้ กระแส เกิดขึ้นหลังจากที่ทำหนังสือมาได้สัก 4-5 เดือน ออกพ็อกเกตบุ๊กแปลมาประมาณ 3-4 เรื่อง พอดีเรื่องที่เราพิมพ์เขาทำเป็นหนังฉายอยู่ที่เกาหลี เด็กไทยบางคนเขาก็หามาดูจนได้ ในเว็บบอร์ดมีเขียนถึง สื่อเองจึงเริ่มเข้ามาจับ ทีวีบางช่องเอากลับเข้ามาฉาย หรือมีบริษัทหนังเอาเข้ามา จังหวะเลยต่อยอดกันไป

– คิดว่ากระแสเกาหลีจะไปได้อีกนานแค่ไหน ดังพอๆ กับเกมออนไลน์ไหม

ศศกร – เกมออนไลน์จะเป็นเด็กผู้ชาย แต่ของเราเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่เด็กผู้หญิง บางที่เด็กมาเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนใครไม่รู้จักเรื่องนั้นเรื่องนี้ของแจ่มใสถือว่าเชย เด็กๆ เขาจะวนกันอ่านทั้งห้อง ไม่งั้นเดี๋ยวคุยกับเพื่อนแล้วไม่รู้เรื่อง ในมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน พูดยาก แต่คิดว่าก็น่าจะนานพอสมควร เราก็พยายามสร้างความหลากหลายให้คนอ่านเขาไม่รู้สึกเบื่อด้วย ถ้าเป็นแนวเดิมเราก็พยายามบอกเขาว่ามันมีคอนเทนต์ที่หลากหลายที่เขายังสนุกได้อยู่ นอกจากกระแสเกาหลีแล้วก็อาจะกว้างขึ้นเป็นเอเชี่ยน และหนัง ละคร ก็น่าจะทำให้เทรนด์ไปได้นานขึ้น กว้างขึ้น

Did you know?

Choi Yu Ri เจ้าของผลงาน Tokyo Love Story “ข้ามขอบฟ้ามาหาหัวใจ”

อายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยม 6 เป็นคนที่รักการเดินทางท่องเที่ยว ไปมาแล้วหลายประเทศ ทั้งแคนาดา อเมริกา อียิปต์ กัมพูชา การเขียนนิยายเรื่องนี้เธอได้แรงบันดาลจากการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง ใช้เวลาในการเขียนเล่ม 1 เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนเล่ม 2 ใช้เวลา 1 เดือน

เธอมีผลงานเขียนทั้งหมด 3 เรื่อง เฉพาะเรื่อง Tokyo Love Story ขายลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ในแถบเอเชียถึง 4 ประเทศด้วยกัน คือ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และไทย เฉพาะที่เกาหลีเรื่องของเธอตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 20,000 ก๊อบปี้ นิยายเรื่องนี้มี 4 เล่มจบ ในเมืองไทยใช้ชื่อเรื่องว่า “ข้ามขอบฟ้ามาหาหัวใจ” เล่ม 1 พิมพ์ออกไปแล้วประมาณ 12,000 ก๊อบปี้ ขณะนี้ตีพิมพ์ถึงเล่มที่ 2 ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 33

วันที่ 27 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา เธอเดินทางมากรุงเทพฯ ตามคำเชิญของสำนักพิมพ์แจ่มใสเพื่อพบปะกับบรรดาแฟนนักอ่าน ซึ่งเมื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับตัวจริงเสียงจริงของนักเขียนเกาหลี นักอ่านที่เป็นแฟนประจำอยู่แล้วก็ดูจะยิ่งเป็นแฟนเหนียวแน่นมากขึ้นไปอีก ส่วนคนที่ยังไม่ได้ลองอ่านก็นึกอยากอ่านขึ้นมาทันที