a day’s direction วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

อีก 3-4 เดือนข้างหน้า บริษัทของผมก็จะเข้าสู่ปีที่ 5 นึกดูแล้วเวลาผ่านไปไวเหลือเกิน บางครั้งผมยังรู้สึกเหมือนเหตุการณ์ที่พวกเราเชิญชวนให้ผู้อ่านมาร่วมลงขันทำหนังสือซ่าๆ บ้าๆ เล่มหนึ่ง มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันสองวันนี้เอง

ใครคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า แสดงว่าเรามีความทุกข์ แต่ถ้ารู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แสดงว่าห้วงยามนั้นเรามีความสุข

ใช่ ผมไม่ปฏิเสธว่า 4 ปีกว่าที่ผ่านมา ผมมีความสุขมาก และผมก็เชื่อว่า น้องๆ และเพื่อนร่วมงานของผมทุกคนในบริษัทก็รู้สึกเช่นเดียวกันกับผม

เรามีความสุขที่ได้ทำหนังสืออย่างที่เราชอบ เป็นหนังสือดีๆ ที่อ่านแล้วให้ความรู้ ความคิด จินตนาการ และความเพลิดเพลินเจริญใจ
และเราก็ยิ่งมีความสุขที่ได้รับรู้ว่า หนังสือแบบที่เราชอบ คนอ่านก็ชอบด้วยเช่นกัน

เรามีความสุขที่หนังสือทุกเล่มของเราขายดี

เรามีความสุขที่คนมากมายชื่นชมผลงานของเรา

เรามีความสุขที่เราได้ชื่อว่า เป็นบริษัทสิ่งพิมพ์รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ธุรกิจและในแง่การยอมรับจากผู้อ่าน รวมทั้งพี่น้องเพื่อนฝูงในวงการ

การทำหนังสือเป็น ‘ธุรกิจ’ แน่นอน ไม่ว่าคุณจะตั้งแง่รังเกียจรังงอนทุนนิยมแค่ไหน เมื่อคุณผลิตหนังสือออกมาแล้วไม่ได้แจกให้คนอ่านฟรี แต่แปะราคาขายไว้บนปก นั่นแปลว่าคุณทำธุรกิจแล้ว คุณค้าขายแล้ว คุณนิยมทุนแล้ว

เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ค่อยเข้าใจคนทำหนังสือบางคนที่ป่าวประกาศว่ามีอคติกับทุนนิยม เมื่อถึงเวลาที่หนังสือไปไม่ได้ ต้องปิดตัวลง ก็ก่นว่าว่าถูกระบบทำร้าย พร้อมรวบสรุปว่าหนังสือที่จะอยู่ได้ในประเทศนี้ต้องสยบยอมต่ออำนาจทุนนิยมอันชั่วร้ายเท่านั้น

พูดตรงๆ ว่าผมไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเช่นนี้อย่างสิ้นเชิง ถ้าให้แสดงทัศนะในเรื่องนี้จริงๆ คงยาวและแรงแน่ เอาเป็นว่าวิถีใคร วิถีมันก็แล้วกัน

แต่ผมเชื่อว่าวิถีของพวกเราเป็นวิถีที่ถูก

ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัท เราไม่เคยปฏิเสธเลยว่าเราจะทำธุรกิจ เป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ซึ่งเรามีทักษะ มีประสบการณ์และมีความรักที่จะทำ

เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะผสมผสานอุดมการณ์ในการทำหนังสือกับการค้าขายให้อยู่ควบคู่กันไปในสัดส่วนที่เหมาะสม

เรารู้ตัวว่าเรามีแต้มต่อน้อย มีเงินทุนไม่มาก เราจึงชดเชยข้อด้อยนี้ด้วยการทุ่มเททำงานกันอย่างหนัก

ครั้งหนึ่ง เคยมีคนมาสัมภาษณ์ผมที่บริษัท แล้วได้เห็นบรรยากาศการทำงานของทีมงานของผม เขาถึงกับเอ่ยปากว่า ไม่เคยเห็นบริษัททำหนังสือบริษัทไหนทำงานกันเต็มที่ แต่ยังสนุกสนานเฮฮากันได้อย่างนี้

ช่วงทำนิตยสาร a day สองสามปีแรก ความที่รู้ตัวว่าเราเป็นหนังสือใหม่ ผมจึงตั้งใจว่าเราต้องประชาสัมพันธ์หนังสือให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป

ดังนั้น เมื่อมีสถาบันการศึกษาไหนเชิญให้ไปบรรยาย ผมจึงแทบไม่ปฏิเสธเลย เพราะรู้ว่านอกจากจะถือเป็นวิทยาทาน ได้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องงานสื่อสารมวลชนแก่นักเรียนนักศึกษาแล้ว เรายังได้พ่วงการประชาสัมพันธ์หนังสือของเราให้พวกเขาได้รู้จักเข้าไปด้วย
ซึ่งในแง่ธุรกิจแล้ว นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ลูกค้าของเราทั้งนั้น

ทุกวันนี้ บรรณาธิการหนังสือในบริษัททุกเล่มของเรา จึงมีอีกหน้าที่คือต้องไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เชิญมาอยู่เนืองๆ รวมไปถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนด้วยกัน อย่างนิตยสาร หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ด้วย

ผมเชื่อว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าใช้มันให้ถูกทางและในปริมาณที่พอเหมาะพอควร ตรงกันข้าม ประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ ในสภาพของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เกลื่อนไปด้วยคู่แข่งขันเช่นปัจจุบัน

อีกสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยสำหรับการอยู่รอดของธุรกิจสิ่งพิมพ์ยุคใหม่ ก็คือ การทำการตลาด

ความที่รายได้หลักทางหนึ่งของนิตยสารมาจากการขายโฆษณา ซึ่งลูกค้าโฆษณาจำนวนมากทุกวันนี้มักไม่พอใจเพียงแค่ลงหน้าโฆษณาในนิตยสาร แต่อยากได้อะไรที่พิเศษมากกว่านั้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือแต่ละเล่ม ต้องมีกิจกรรมทางการตลาดมารองรับ ต้องมีการจัด
อีเวนต์โน่นนี่อยู่เสมอ

หนังสือแต่ละเล่มในบริษัทผมก็มีการทำอีเวนต์เช่นกัน แต่ก่อนที่จะทำอีเวนต์อะไรออกมาสักงาน สิ่งที่เราคำนึงเป็นลำดับแรกก็คือ อีเวนต์ที่ว่ามัน ‘เข้า’ กับหนังสือแต่ละเล่มของเราหรือไม่ และทำไปแล้วผู้อ่าน ‘ได้อะไร’

นั่นคือที่มาของอีเวนต์ Live in a day ฟรีคอนเสิร์ตโดยวงดนตรีหน้าใหม่ของนิตยสาร a day ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว อีเวนต์ HAMBURGER Fair ของนิตยสาร HAMBURGER อีเวนต์ ‘สัปดาห์หนังสังคมการเมือง’ ของนิตยสาร a day weekly หรืออีเวนต์ KNOCK KNOCK! Gang ของนิตยสาร KNOCK KNOCK! นิตยสารวัยรุ่นน้องใหม่ในเครือบริษัทเรา

ความที่อีเวนต์เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันบริษัทผมจึงตั้งแผนกใหม่ล่าสุดขึ้นมา นั่นคือ Creative Marketing Event รับหน้าที่คิดกิจกรรมทางการตลาดของหนังสือแต่ละเล่มออกมาเป็นระยะๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่ถือว่าต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ หนังสือคุณจะเงียบ

พอหนังสือคุณเงียบ ต่อไปหนังสือคุณก็จะหาย

เมื่อหนังสือหายไปจากการรับรู้ของผู้คน ก็เท่ากับรอวันที่จะตายจากไปเท่านั้น

นอกจากกิจกรรมเชิงการตลาดที่พูดง่ายๆ ว่า ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่องแล้ว บริษัทเรายังมีกิจกรรมที่เอาแต่ ‘กล่อง’ อย่างเดียวอีกด้วย

เรื่องของเรื่องเกิดจากเรามาคิดว่า หนังสือเราเกิดและเติบโตขึ้นมาได้ ก็ด้วยการได้รับการสนับสนุนจากผู้คน ดังนั้น เมื่อถึงวันที่เราพอมีเหลือ พอมีกำลัง เราจึงควรที่จะเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนคนอื่นบ้าง

a day poets society, a day support และ a team junior คือ สามโครงการเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนที่ว่า โครงการแรกเราจัดสอนหนังสือนอกห้องเรียน โดยรับสมัครนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศให้มาเข้าฟังประสบการณ์ชีวิตของวิทยากร ซึ่งเป็นผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้พวกเขา โครงการนี้ตระเวนไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งล่าสุดทำติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว โครงการที่สองเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีแนวคิดทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสังคมที่น่าสนใจมาเสนอโครงการ เพื่อรับทุนไปทำความฝันให้เป็นความจริง รวมทั้งตัวนิตยสารก็ช่วยใช้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ด้วยอย่างเต็มที่ ส่วนโครงการสุดท้ายเปิดรับสมัครนักศึกษา คัดเลือกเข้ามาลองปฏิบัติงานจริงกับนิตยสาร a day ในช่วงปิดเทอมเป็นเวลา 2 เดือน นอกจากจะได้เรียนรู้งานหนังสือแบบมืออาชีพ ได้ลงมือทำหนังสือเองจริงๆ ในทุกกระบวนการแล้ว ยังมีค่าน้ำพักน้ำแรงให้อีกด้วย

กิจกรรมแนว ‘กล่อง’ ทั้งหมดที่กล่าวมา ใครจะเรียกเชยๆ ว่าเป็นการ ‘ให้เปล่า’ หรือ ‘คืนกำไร’ แก่สังคมผมก็ยินดี

ตอนเริ่มต้นทำ a day ใหม่ๆ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว บริษัทผมมีพนักงานแค่ 7 คน ปัจจุบันบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด มีพนักงานทั้งสิ้นรวม 96 คน จากนิตยสารเล่มเดียว ทุกวันนี้เราทำนิตยสาร 4 หัว และทำ 1 สำนักพิมพ์คือ a book อีกทั้งยัง รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ให้บริษัทอื่นอีกหลายฉบับในนาม a day graphic

แม้คนภายนอกจะดูว่าพวกเราเติบโตขึ้นมาก ซึ่งในทางหนึ่งผมก็ยอมรับว่าจริง แต่ในฐานะแรงงานคนหนึ่งที่คลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับบริษัทนี้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผมรู้ดีว่าถึงแม้พวกเราจะเติบโตขึ้นสักเพียงใดหรือขยับขยายจนกว้างขวางสักขนาดไหน ทว่าปรัชญาดั้งเดิมที่เราใช้มาตลอดตั้งแต่แรกเริ่มจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป เป็นปรัชญาที่เราเชื่อว่า กลมกลืนสอดคล้องกับวิถีของเรา

นั่นคือ Less is more ทำอะไรเล็กๆ แล้วเจ๋ง ดีกว่าทำอะไรใหญ่โตมโหฬารแต่เอาไม่อยู่