PODCASTING สื่อใหม่ยุคออนไลน์

PODCASTING กำลังเป็นของฮิตใหม่ล่าสุด ที่หลายๆ คนกำลังหัดฟัง หรือหัดใช้เอง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นตลาดย่อยของอินเทอร์เน็ตที่เติบโตมากในทั่วโลก นั่นคือ การกระจายเสียงทางอินเทอร์เน็ตจากบ้าน หรือสถานีวิทยุที่ใครก็ทำได้ จะจัดเพลงอย่างไร หรือพูดอะไรก็ได้ และอาจมีคนฟังไปทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากด้วย

พ็อดแคสติ้ง เป็น New Media สื่อใหม่แขนงล่าสุดของโลก โดยมาจากการเลียนคำว่า Boardcasting ที่แปลว่าวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง บวกกับคำว่า พ็อด ใน i-Pod เครื่องฟังเพลงดิจิตอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก

ประเทศที่มีการพ็อดแคสติ้งมากที่สุดตอนนี้คือ อเมริกา แต่ก็มีคนอื่น ภาษาอื่น พ็อดแคสติ้งกันด้วยในทั่วโลก ทั้งที่สื่อแบบนี้เพิ่งเกิดได้สักครึ่งปีเท่านั้น

โดยมีบันทึกไว้ว่า หน้าร้อนอเมริกาปีที่แล้ว เดือนสิงหาคม Adam Curry อายุ 41 ปี อดีตวีเจของเอ็มทีวี ที่มีความรู้เรื่องเทคนิค เกิดอยากนำวิทยุอินเทอร์เน็ต และบันทึกไดอารี่เสียงหรือ audio blogs โหลดเข้าเครื่องไอพ็อดของเขา เพื่อสามารถฟังเวลาไปไหนมาไหนได้ เขาจึงคิดหาโปรแกรมมาโหลด และเป็นคนตั้งชื่อพ็อดแคสติ้งขึ้น คือการบันทึกเสียงไปฟังทางเครื่องไอพ็อดแทนหน้าจอคอมพิวเตอร์

เมื่ออดัมเผยแพร่การพ็อดแคสติ้งที่เขาคิดค้นขึ้น การพ็อดแคสติ้งก็แพร่หลายมากขึ้นในหมู่ผู้จัดพ็อดแคสติ้งส่วนบุคคล ที่นั่งพ็อดแคสติ้งอยู่ตามบ้าน และมีบริษัทใหญ่ๆ บางรายหันมาที่ให้บริการวิทยุแบบพ็อดแคสติ้งเป็นทางเลือกด้วย

ผู้ใช้พ็อดแคสติ้งส่วนตัว กระจายเสียงที่บ้านได้โดยใช้แค่ไมโครโฟน อัดเสียงเข้าคอมพิวเตอร์ ส่วนมากในรูปแบบไฟล์เสียงยอดนิยม นามสกุล MP3 จากนั้นส่งไฟล์เข้าเว็บไซต์ ที่หน้าโฮมเพจ หรือ พ็อดแคสเพจ โดยผ่านทางซอฟต์แวร์ Feed เสียงที่นิยมกันคือ RSS ของบริษัท UserLand เพื่อให้คนฟังเลือกดาวน์โหลดได้ โดยส่วนใหญ่มีให้เลือกทั้งแบบฟังเลย (Stream) หรือแบบดาวน์โหลดไปฟังในเครื่องเพลง (Podcast) ทั้งการฟังและดาวน์โหลดนี้ต้องใช้การต่ออินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์ถึงจะได้ เพราะไฟล์นั้นใหญ่มากๆ

นอกจากนั้น ซอฟต์แวร์กระจายเสียงทางอินเทอร์เน็ตที่นิยมกันอีกแบบคือ Shoutcast ของบริษัทชื่อ Nullsoft ซึ่งให้ใช้กันฟรีๆ และทำการกระจายเสียงจากการอัดเสียงเข้าโปรแกรม Winamp พวกที่อยากจัดเพลงแบบมืออาชีพยังมีซอฟต์แวร์ช่วยการจัดเพลงหรือดีเจ เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นสถานีวิทยุเพลงส่วนตัวที่ใครอยากเป็นดีเจ ก็ไม่ต้องแต่งตัวออกจากบ้าน ไปสมัครงาน มีปัญหากับองค์กร และต้องเปิดเพลงตามคำสั่งของผู้บริหารสถานี

ด้วยพ็อดแคสติ้ง เขาสามารถอยู่บ้าน เลือกเปิดเพลงอะไรก็ได้ที่เขาชอบฟังเป็นพิเศษ และเปิดเวลาไหนก็ได้ ส่วนรายได้นั้นก็หาเอาจากอาชีพอื่นๆ เพราะพ็อดแคสติ้งยังไม่ใหญ่พอจะทำตลาดโฆษณาได้ รายที่มีคนฟังมากๆ ก็ยังไม่ถึงยอดแสนคน

ส่วนผู้รับพ็อดแคสติ้งจะต้องมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยอัดไฟล์เสียงเข้าเครื่องไอพ็อด หรือเครื่อง MP3 อื่นๆ ส่วนเนื้อหาของพ็อดแคสนั้นแถบจะปลอดจากการเซ็นเซอร์หรือควบคุมใดๆ โดยกฎหมาย

อีกวิธีหนึ่งของการพ็อดแคสติ้ง สำหรับคนไม่เก่งทางการใช้ซอฟต์แวร์ที่ยุ่งยาก คือ การเช่าสถานีพ็อดแคสติ้งทางอินเทอร์เน็ตแทน เช่นที่ Live365 ซึ่งให้บริการเช่าสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตในราคา 9.95 ดอลลาร์ต่อเดือนขึ้นไป สำหรับเปิดสถานีวิทยุเฉยๆ และถ้าเลือกเช่าสถานีที่หวังหาโฆษณาด้วยแล้ว ค่าเช่าก็เพิ่มขึ้น

พฤติกรรมการใช้พ็อดแคสติ้งแบบนี้น่าสนใจกว่า คือพฤติกรรมของดีเจที่อยากเป็นอิสระ หันมาเปิดสถานีเพลงทางอินเทอร์เน็ตแทน หรือคนทั่วไปที่เปิดสถานีพ็อดแคสติ้งในบ้านขึ้นทั้งแบบเพลงและรายการคุยหัวข้อหลากหลาย ซึ่งสองกลุ่มหลังนี้ทำให้เนื้อหาในการกระจายเสียงหลากหลายขึ้น ขณะที่การเข้าร่วมพ็อดแคสติ้งของสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตออนไลน์ จากองค์กรธุรกิจที่หวังผลทางการค้านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบไปจากการกระจายเสียงวิทยุอินเทอร์เน็ตเดิมๆ

นักพ็อดแคสเตอร์ตามบ้านนั้น มีพวกที่พ็อดแคสติ้งแล้วเปิดเพลงเป็นหลัก แต่ก็มีไม่น้อยที่พ็อดแคสติ้งโดยพูดอย่างเดียว ในหัวข้อที่ตัวเองชอบหรือเชี่ยวชาญ จะเป็นกีฬา ธุรกิจ เกษตร หรือศาสนา ก็ได้ พวกนี้ส่วนหนึ่งพัฒนามาจากพวกที่เขียนไดอารี่ประจำวันลงอินเทอร์เน็ต หรือเขียน Webblog เล่าเรื่องราวส่วนตัวอยู่แล้ว ตอนนี้เกิดคนที่ไม่ชอบเขียน หรือเปลี่ยนจากเขียนมาเป็นพูดเรื่อยเปื่อยกลายเป็น audioblog แทน

ตัวอย่างเช่น สองสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เป็นชาวไร่ ชานเมืองวิสคอนซิล ได้พ็อดแคสติ้งด้วยการกระจายเสียงบทสนทนาประจำวันของพวกเขาจากโต๊ะอาหาร ก็ยังมีคนฟังได้ตั้งสามหมื่นห้าพันคน โดยเขาให้ข่าวว่า เขามีคนฟังอยู่ที่ประเทศไทยของเราด้วย

หลังจากที่มีการเริ่มใช้เว็บบล็อกเมื่อปี 1999 ปัจจุบันเชื่อมีมากกว่าราว 4 ล้านคนที่เขียนเว็บบล็อกอยู่ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นพ็อดแคสติ้งนั้นเติบโตเร็วกว่ามาก ในปีเดียวประมาณว่ามีสถานีพ็อดแคสติ้งมากกว่าหนึ่งล้านสถานีแล้ว

สถานีพ็อดแคสติ้งตามบ้านนั้น พวกพ็อดแคสติ้ง เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้ทำเพื่อเงิน หรือการค้าใด แต่สนองความต้องการของตัวเอง และตลาดย่อยๆ เช่นคนที่ไม่ชอบฟังความจำเจทางวิทยุ

ส่วนวิทยุอินเทอร์เน็ตจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้งบริษัทวิทยุหรือบริษัทสินค้าที่แพร่เพลงทางอินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ทางการค้านั้น ถึงอาจมีฟังก์ชันพ็อดแคสติ้งให้เลือกด้วย แต่เรียกพวกนี้ว่าเป็น อินเทอร์เน็ต เรดิโอ หรืออินเทอร์เน็ต บรอดแคสติ้ง มากกว่า ซึ่งจะกล่าวถึงกลุ่มนี้ต่อไปในตอนหน้า

คนละวัตถุประสงค์ แต่มีผลอย่างหนึ่งที่กลุ่มพ็อดแคสติ้งอิสระและกลุ่มวิทยุอินเทอร์เน็ต บรอดแคสติ้งร่วมกันก่อให้เกิด คือทำให้ออนไลน์เข้ามาแทนที่วิทยุมากขึ้นทุกที บางประเทศเช่นอเมริกานั้นเริ่มกินเปอร์เซ็นต์แทนที่เข้าไปแล้ว โดยมีคนฟังพ็อดแคสอยู่ที่ 6 ล้านคน และในบางประเทศที่ตลาดการใช้อินเทอร์เน็ตและบอร์ดแบนด์พัฒนาช้ากว่า ก็เชื่อว่าอีกไม่นานในระยะห้าปีเท่านั้น