“หรูเริ่ด” Positioning ใหม่ การบินไทย

High Trust, World Class และ Thai Touch เป็นสถานะใหม่ของการบินไทย ในยุคที่ธุรกิจมี กนก อภิรดี นักการตลาดผู้ช่ำชองจากโอสถสภารับหน้าที่เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

การประกาศเปิดตัวเอกลักษณ์ใหม่ New Corporate Identity อย่างอลังการ ที่อาคาร Twin Hangar ฝ่ายช่างของการบินไทยที่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 บ่งชี้สถานะของการบินไทยอย่างชัดเจนว่า เป็นสินค้าระดับไฮเอนด์ มิใช่เป็นสายการบิน Low Cost ทั้งหลายที่ใครๆ ก็บินได้

งานนี้การบินไทยต้องควักเงิน 100 ล้านบาทเพื่อให้ บริษัท อินเตอร์แบรนด์ จากอังกฤษ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการยกระดับภาพลักษณ์

ผลงานแรก คือ โลโก้ใหม่ของการบินไทยที่มีมุมมอง 3 มิติ พ่นลำตัวเครื่องบินด้วยสีไมก้า ตกแต่งภายในด้วยภาพเขียนศิลปสุดคลาสสิก ฝีมือของ ปัญญา วิจินธนสาร ที่สื่อสารงานศิลป์ในรูปแบบของ อายตนะ ที่หมายถึงการติดต่อ สื่อสัมพันธ์อันดีงาม

เครื่องแบบพนักงานใหม่ ก็ได้ พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ดีไซเนอร์ชื่อดังของไทยมาเป็นผู้ออกแบบ ที่นั่งใหม่ในชั้นรอยัล ซิลค์ ถูกเปลี่ยนให้เอนได้ 170 องศา ชั้นพรีเมียม อีโคโนมี นั่งสบายขึ้น ส่วนชั้นประหยัดก็ตกแต่งใหม่ เน้นความทันสมัยเพิ่มแต่งความบันเทิงโดยทุกที่นั่งมีจอโทรทัศน์ส่วนตัวเฉพาะคน เหมือนอย่างที่สิงคโปร์แอร์ไลน์ทำได้ผลมาแล้วในชั้นประหยัดของ SQ เป็นจุดขายที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของการแข่งขันในระดับสายการบินนานาชาติ

การปรับเปลี่ยนที่ไม่ได้เป็นเฉพาะสีสันรูปลักษณ์ภายใน แต่ยังรวมไปถึงการสั่งเครื่องบินใหม่เอี่ยมแกะกล่องจากแอร์บัส ทั้งที่ได้รับมอบแล้ว และจะได้รับมอบอีกภายในปี 2548 จำนวน 8 ลำ ที่ถูกสั่งให้ลงสีปรับโลโก้ในเอกลักษณ์ใหม่ทั้งหมด รวมถึงการปรับเก้าอี้ให้เหมาะสมกับผู้โดยสารตามระดับที่การบินไทยต้องการเพื่อให้มี First Class และ Business Class เพิ่ม

เครื่องรุ่นใหม่ที่นำมาประเดิมเปิดตัวอวดโฉมลำแรกแบบสด ใหม่ ซิง เป็นเครื่องบินแอร์บัส 340-500 ขนาด 215 ที่นั่งใช้บินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เริ่ม May Day 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป และที่จะทยอยตามมาคือรุ่น A340-600 มูลค่ารวมๆ กันแล้วก็ไม่ต่ำกกว่า 50,000 ล้านบาท

การลงทุนเพิ่มเฉพาะส่วนเครื่องบินลำในฝูงบินที่มีอยู่เดิมจำนวน 83 ลำ ที่จะทยอยปรับปรุง ช่วง 2 ปีแรกประมาณ 23-24 ลำ เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 และ777-200 ที่บินในเส้นทางยุโรป วงเงินดำเนินการปรับปรุงรวมประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท คาดว่า เมื่อเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารจะได้สัมผัสเอกลักษณ์ใหม่ของการบินไทยมากขึ้น ทั้งเคาน์เตอร์ต่างๆ และห้องรับรอง

กนกเชื่อว่า การลงทุนครั้งนี้จะทำให้การบินไทยมีรายได้จากค่าโดยสาร ประมาณ 150,000 – 160,000 ล้านบาท และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รายได้ต่อปี ไม่น่าจะต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

และหากการบินไทยต้องการปรับค่าโดยสารเพิ่มก็ไม่น่ามีปัญหา ถ้าสามารถสร้างความน่าพอใจบนเครื่องบินหากมีถึงระดับหรูเริ่ดได้ เพราะระดับชั้นสถานะของผู้โดยสารที่ถูกจัดวางเพิ่มขึ้นในเครื่องการบินไทยนั้น จะกลายเป็น First Class กับชั้นธุรกิจ อีกไม่ต่ำกว่า 50% และจะทำให้ราคาตั๋วโดยสารปรับเพิ่มขึ้นได้โดยอัตโนมัติอีก 50-75%

Did you know?

การบินไทยวางแผนการตลาดเชิงรุก Proactive Expansion for Better Performance ใช้ระยะยาว 5 ปี คือ 2548/2549 – 2551/2552 ส่งผลให้การบินไทยมีเครื่องบินใหม่เอี่ยมอีก 14 ลำ การบินไทยเป็นแกนนำในการขนส่งทุกรูปแบบ โดยเฉพาะด้าน Logistic เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ