Reality Show Fever คลั่งความจริง

รายการโทรทัศน์ประเภท “Reality” เริ่มต้นมาจากธุรกิจการค้าขายความจริง “Reality Commercials” เป็นการขายสินค้าใหม่ควบคู่ไปกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมที่ต้องการหาทางออกจากความบันเทิงแบบเดิมที่ถูก “สร้างขึ้น”…

ว่ากันว่า กระแสความนิยมในละครที่เป็นเคยเรตติ้งสูงสุด แต่ในบางประเทศ “เรียลลิตี้โชว์” เป็นตัวสร้างเรตติ้งสูงสุดใหม่ แน่นอนว่าระยะเริ่มต้นในไทยทำให้ผู้ผลิตต้องหา “know-how” รูปแบบรายการโทรทัศน์แนวใหม่ที่กำลังนิยมทั่วโลก เป็นเหตุผลให้ “กันตนา” และ “BEC-TERO” นำเข้ารายการเหล่านี้จากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันที่ผู้ผลิตอีกหลายรายก็สร้างกระแส “Me-Too TV” (เอาตามอย่าง) เพื่อเกาะกระแสความสำเร็จ

ในภาวะที่การแข่งขันเข้มข้น สถานีเองก็ใช้ “Reality Show” เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อสร้างจุดยืนใหม่ และส่วนหนึ่งได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ในแนวกว้าง สำหรับช่องโทรทัศน์ทั้งฟรีและเพย์ทีวีอย่างช่อง 3, ITV และ UBC ในช่วงไพร์มไทม์ของตัวเอง โดยเฉพาะในฟรีทีวีที่ถูกนำมาแทนที่วาไรตี้โชว์ ต่อเนื่องจากช่วงเวลาของละคร

ด้านสื่อโฆษณา มุมมองใหม่ของสินค้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็สร้างการรับรู้ใหม่ต่อตัวผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค ไม่ว่าแนวโน้มของการทำโฆษณาแบบ “Testimonial” ที่ต้องการใช้พรีเซ็นเตอร์แบบ “ตัวจริง-คนจริง” ตอนนี้งบประมาณโฆษณาที่ลงไปกับรายการประเภทนี้ทำลายสถิติได้ในหลายผลิตภัณฑ์ที่เคยสนับสนุนทุกรายการ อันแสดงความร้อนแรงของสื่อตัวนี้ได้อย่างดี ที่ทำให้เอเยนซี่โฆษณาต้องปรับตัวตาม ในฐานะสื่อรูปแบบใหม่ที่ต่างจาก Product Placement แบบเดิม อย่างลึกล้ำกว่า

สิ่งนี้กำลังปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีลักษณะคล้ายกันคือ “การระแวงสื่อ” โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี พวกเขาล้วนมีพฤติกรรมที่ชอบตอบโต้ แสดงความคิดเห็น มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ ไม่ชอบเป็นเพียงฝ่ายรับ กลุ่มคนแบบที่เรียกว่า “media-active” ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่ว่า SMS หรือ พฤติกรรมเว็บบอร์ดก็เป็นช่องทางที่เกิดขึ้นมาในช่วงอายุของคนกลุ่มนี้

รูปแบบ “Interactive TV” ผ่านกิจกรรมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบนโครงสร้างไฮสปีดอินเทอร์เน็ต ทำให้ “โมเดลธุรกิจ SMS บนโทรทัศน์” เป็นรูปธรรม ตัวอย่างกรณีรายการ Academy Fantasia ที่เกิดขึ้นในเพย์ทีวีซึ่งนับว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยอดคนดูทั้งประเทศ ก็ยังสร้างยอดได้ถึง 1 ล้าน SMS โดยเป้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากเป็น 3 เท่ากับช่องทางใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับฟรีทีวีในโครงการสอง

ปัจจุบันนี้ คนธรรมดาที่กลายเป็นดาราผ่านรายการเรียลลิตี้ในช่วงข้ามคืน ก็เพราะแอร์ไทม์ที่มีอย่างไม่จำกัด ทำให้จำนวนคนที่แห่สมัครแข่งขันในรายการเยอะขึ้น อย่างกรณี Big Brother ก็มีผู้สมัครถึง 6 หมื่นราย ก็เพราะผลรางวัลใหญ่ที่ได้รับไม่จำเป็นต้องเสี่ยงดวงได้แน่นอนหากเป็นผู้ชนะ หรือการสร้างหนทางสู่วงการบันเทิงที่ง่ายขึ้นเหมือนลัดนิ้วมือ ต่างจากการเข้าโปรแกรมการประกวดแบบเดิม ก็เป็นแนวโน้มใหม่ที่เรียลลิตี้ได้สร้างขึ้น

หากมองรวมในภาพกว้าง แม้แต่ “สื่อบันเทิง” ก็ถูกทวงถามถึงความจริงเช่นกัน ไม่ว่าจากการเกิดขึ้นของรายการข่าวเชิงบันเทิง (รายการวิเคราะห์ข่าวแนวใหม่ต่างๆ เช่นแบบเล่าข่าว), สารคดีชีวิตแนว Docu-Drama ที่ได้รับความนิยมอย่าง “คนค้นคน” หรือปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของสื่อที่เสนอภาพแนวใหม่ อย่าง “Paparazzi” ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ก็อยู่บนฐานของการใช้ “ความจริง” เป็นสินค้า…

สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ และกิจกรรมทางธุรกิจในหลายมิติ สำหรับคนไทยอย่างน่าสนใจ ในช่วง 1-2 ปีที่ได้เริ่มต้นขึ้น แต่คำตอบของคำถามที่ว่าจะยั่งยืน หรือปลายทางของ “Reality Show” อยู่ที่ไหน เพราะแม้แต่ภายใต้ทิศทางของการตลาด การเสนอขายความจริงเองยังถูกระแวง …ซึ่ง “เวลา” คงให้คำตอบได้ดี