จาก Local สู่ Global : One Message Fits All

โฆษณาชุดโรบอท เป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดแรกของ Double A ที่จัดเป็น International TVC และออกฉายในต่างประเทศก่อนที่จะฉายในบ้านเรา พร้อมต่อยอดส่งเครื่องเขียนชุดสะสมโรบอทโกยเงินวัยรุ่น เป้าหมายของโฆษณาชุดนี้ เพื่อต้องการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ชาญวิทย์ จารุสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ – การตลาด ของ Double A ตั้งเป้าด้วยงบ 30 ล้านจะกระตุ้นให้ยอดจำหน่าย Double A ในประเทศโตขึ้นอีก 25%

JWT เอเยนซี่คู่บุญที่ทำงานให้กับ Double A มาตั้งแต่แรกเริ่ม โดย พินิจ ฉันทประทีป รองประธานบริหารและผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสร้างสรรค์ บอกว่า โฆษณาชุดนี้ใช้สำหรับออกอากาศในภูมิภาคเอเชีย โดยเนื้อสารที่ต้องการสื่อถึง คือ No Jam No Stress เมื่อกระดาษไม่ติดเครื่อง ชีวิตการทำงานก็ราบรื่น ไม่เครียด ไม่หงุดหงิด ซึ่งนำมาจากประสบการณ์ตรงที่หลายๆ คนต่างพบเจอ และ idea นี้ เป็น idea ที่กว้าง รู้สึกเหมือนๆ กันไม่เฉพาะคนไทย จึงคิดว่าโฆษณาชุดนี้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกๆ ประเทศ นับเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเข้าสู่ความเป็น Global Brand

สารอีกประการที่สำคัญ คือ Double A ต้องการเปลี่ยนทัศนคติแบบเดิมๆ ของผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารว่า กระดาษติดเครื่องไม่ใช่เพราะเครื่องไม่ดี แต่เป็นเพราะกระดาษไม่ดีต่างหาก…การส่งสารเช่นนี้นอกจากจะทำให้บรรดาแบรนด์เครื่องถ่ายเอกสารยิ้มแก้มแทบปริแล้ว ย่อมทำให้ Double A มีพันธมิตรเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

No Jam No Stress ออกอากาศที่เกาหลีเป็นประเทศแรก เนื่องจากขณะนั้นตลาดเกาหลีกำลังรุ่ง และตามด้วยฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน ก่อนที่จะย้อนรอยกลับมาแผ่นดินเกิดประเทศไทย

ด้วยความยุ่งยากของคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) โจทย์ที่ คณิณ จันทรสมา Film Director บริษัท ฟีโนมีนา จำกัด (เขาเป็นมือกลองวงพรูด้วย) ผู้รับผิดชอบงานผลิตโฆษณาชี้นนี้ ต้องยอมรับว่าท้าทายไม่น้อย และต้องใช้เวลาในการผลิตนานถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตาม คณิณถึงบอกว่า นี่เป็น storyboard ในฝันของผู้กำกับหลายๆ คนทีเดียว ความยากอยู่ที่งานกราฟิกที่จะต้องครีเอตจากเครื่องถ่ายเอกสารจริงๆ ให้กลายร่างเป็นหุ่นยนต์ และยังคงชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องถ่ายเอกสารไว้ นอกจากนี้นักแสดงในเรื่อง คือดาราดาวรุ่งเกาหลี Park Han Byul จากภาพยนตร์เรื่องบันไดซ่อนผี ต้องแสดงกับความว่างเปล่าทั้งสีหน้าและแววตา จะมีผู้กำกับคอยบอกเป็นระยะ เพราะตัวหุ่นยนต์นั้นจะเป็นขั้นตอนของ post production ขณะที่การเลือกใช้หุ่นยนต์เนื่องจากเป็นเครื่องจักรเช่นเดียวกับเครื่องถ่ายเอกสาร และสื่อถึงโลกแห่งเทคโนโลยี ทันสมัย เข้ากับ brand image ของ Double A

เลือก office เป็นฉากเพราะเครื่องถ่ายเอกสารกับ office เป็นของคู่กัน ดาราสาวเกาหลีสวมบทพนักงาน office ที่ต้องเกิดอาการโมโหร้าย เมื่อเครื่องเจ้ากรรมส่งสัญญาณว่า paper jam ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้งานสักชิ้น เจ้าหล่อนบันดาลโทสะถึงขีดสุด ทั้งทุบ ทั้งตี แถมบรรเลงเพลงเตะเข้าใส่เครื่องถ่ายเอกสารเป็นชุดๆ จนกระทั่งเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (เกินจริง) เกิดขึ้น เมื่อเครื่องที่ว่ากลายเป็นหุ่นยนต์ ออกฤทธิ์ออกเดช ดึงกระดาษจากมือสาวขี้หงุดหงิดมาฉีกทิ้งอย่างไม่ไยดี พนักงานสาวถึงกับเข่าอ่อน ขวัญเสีย ก่อนที่เรื่องจะจบลงตรงที่หุ่นยนต์เดินไปหญิบกระดาษ Double A มาให้ใช้แทน…การใส่ชีวิตให้เครื่องจักรให้แสดงอาการต่อต้านอารมณ์ของมนุษย์ เป็นการสมมติที่ทำให้ใครหลายคนต้องใคร่ครวญถึงปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง ก่อนที่จะเครื่องจะบุบ กระดาษจะหัก หรือมือจะบวม

Client : Double A
Product : Paper
Title : Robot
Agency : JWT (Thailand)
Production House : Phenomena