IHT/Thaiday : The future is local and global

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกในโลก แต่เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมของธุรกิจสิ่งพิมพ์เมืองไทย เมื่อหนังสือพิมพ์ระดับเวิลด์คลาสอย่าง International Herald Tribune จับมือกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น สร้างโพรดักส์ใหม่ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่มีข่าวความเคลื่อนไหวระดับโลกและเหตุการณ์ในเมืองไทย อยู่ในฉบับเดียวกัน โดยส่วนหลังใช้ชื่อว่าหัวว่า Thaiday แทรกอยู่ใน International Herald Tribune ทุกฉบับที่วางแผงตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป

ที่มาของหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้ เกิดจากการเจรจาครั้งแรกของ IHT เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ กับทางบริษัท แมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งในตอนนั้นยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มีการเจรจากันอีกครั้งใน 2 ปีถัดมา โดยในช่วงนั้น IHT เดินแผนรุกตลาดเอเชียแล้วด้วยการจับมือกับ JungAng Ilbo ของเกาหลี เมื่อปี พ.ศ. 2543 และ Asahi Shimbun ของญี่ปุ่นในปี 2544 ในขณะเดียวกันการพิมพ์และจัดจำหน่าย IHT ในไทย ก็ได้ว่าจ้างโรงพิมพ์ตะวันออก ของเครือผู้จัดการ ให้รับผิดชอบมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้ว

การตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์ Thaiday ในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการต่อยอด และใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าเพิ่มมากขึ้นแง่การลงทุน โดยอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด เลือดใหม่ของเครือผู้จัดการ ที่มีสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในมือจำนวนมาก รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ Asia Satellite TV และเว็บไซต์ เมื่อมีการร่วมลงทุนทำหนังสือพิมพ์ IHT/Thaiday จึงเป็นการขยายธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเครือผู้จัดการให้ครอบคลุมตลาดสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศด้วย

“ในแง่ธุรกิจ การที่เรามีสื่อทั้ง 2 ภาษา ถือว่าคุ้มมากในแง่การตลาด เราไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์ เพราะ IHT เป็นแบรนด์ระดับเวิลด์คลาส” จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด เปิดประเด็นเชิงการตลาด

โดยจะทำให้ตอบสนองลูกค้าโฆษณาได้ครบวงจรมากขึ้น เพราะลูกค้าบางรายมีกลุ่มเป้าหมายทั้งคนไทยและต่างชาติ การมีสิ่งพิมพ์ครบวงจร ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้แพ็กเกจตอบสนองลูกค้าได้ คือใช้แพ็กเกจด้านโฆษณาบวกกับแพ็กเกจด้านสมาชิก ควบไปกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน รายสัปดาห์ นิตยสาร หรือเว็บไซต์ในเครือได้ทั้งหมด

ในแง่กลุ่มผู้อ่าน จิตตนาถมองว่า การที่หนังสือพิมพ์ระดับเวิลด์คลาสมีคอนเทนต์ฉบับโลคอลที่เป็นภาษาอังกฤษ จะทำให้สามารถเพิ่มลูกค้า จากฐานเดิมคือ ต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย สามารถอ่านได้อย่างครบครันมากขึ้น ตลาดเอ็กซ์แพทที่มีอยู่แล้วก็ขยายออกไปได้อีก เพราะมีทั้งข่าวระดับโลก และเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันตลาดที่จะเป็นเมนหลักในอนาคต คือคนไทย เพราะปัจจุบันหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีอยู่เน้นข่าวโลคอลเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ต่างกับหนังสือพิมพ์ภาษาไทย การผสานข่าวโลคอลกับเวิลด์นิวส์ จะทำให้ IHT/Thaiday เป็นโพรดักส์ที่สมบูรณ์กว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้

“คอนเซ็ปต์ที่เราตั้งไว้คือ The future is local and global. เป็นกิมมิกที่เราจะใช้ ในการทำตลาด คือ ถ้าคุณมีทั้งความเป็นโลคอลและโกลบอลจึงจะสมบูรณ์แบบ” หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงอนาคตทางธุรกิจของเครือผู้จัดการได้เช่นกัน

เนื้อหาของ IHT/Thaiday เซ็กชั่นแรกเป็นเล่มปกติของ IHT ที่มีอยู่แล้ว เป็นข่าวเวิลด์นิวส์ เน้นเรื่องการวิเคราะห์ข่าว ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้อ่านทั่วโลกอยู่แล้ว ส่วน Thaiday ช่วงแรกจะพิมพ์ 8 หน้า หลังจากนั้นราว 2 ไตรมาสถัดไปจะขยายเป็น 12 หน้า และเต็มที่ 16 หน้า ข่าวปกเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ข้างในเป็นสรุปข่าวที่เกิดขึ้นในเมืองไทยทั้งหมดใน 1 วัน หน้าธุรกิจจะมีดัชนีหุ้น

นอกจากนั้นจะมีข่าวสังคม การใช้ชีวิต กิจกรรมต่างๆ และสารคดี เป็นการผสมผสานเชิงธุรกิจบวกไลฟ์สไตล์ โดยผู้จะมารับหน้าที่บรรณาธิการในช่วงแรกคือ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ร่วมกับทีมนักข่าวต่างประเทศที่จ้างเข้ามาจำนวนหนึ่ง และขณะเดียวกันจะใช้ฐานข้อมูลข่าวจากเครือผู้จัดการทั้งหมดมาเป็นวัตถุดิบ

“การกำหนดเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย เพราะเรามองว่าคนไทยรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านภาษาอังกฤษจะเข้ามาเป็นฐานคนอ่านใหม่ของเรา นอกเหนือจากฐานเดิมที่เป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงกันกับที่คุยกับนิวยอร์กไทม์ส ที่เขาต้องการเจาะตลาดเมืองไทยโดยเฉพาะ ก็ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ที่เนื้อหาโลคอลจริงๆ ชื่อ Thaiday ก็ตรงที่สุด และเป็นชื่อบริษัทอยู่แล้วด้วย สื่อถึง 1 วันในเมืองไทย มีข่าวอะไรที่น่าสนใจบ้าง”

ปัจจุบัน IHT มีเซอร์คูเลชั่นประมาณ 6,000 ฉบับ ยอดคนอ่าน 20,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรต่างประเทศ จิตตนาถคาดว่า ภายหลังการลอนช์ IHT/Thaiday ตลาดเอ็กซ์แพทจะโตเป็น 2 เท่า ในขณะที่ตลาดคนอ่านชาวไทยจะเติบโตมากกว่าคนอ่านต่างชาติถึง 2 เท่า

กลยุทธ์การตลาดที่ถูกนำมาใช้เพื่อผลักดันยอดขาย จะเน้นไปที่การสร้างฐานสมาชิก ด้วยการลดอัตราค่าสมาชิกเกือบ 40-50% จากราคาหน้าปก 50 บาท เพื่อให้แข่งขันกับราคาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในตลาด ราคาฉบับละ 20 บาท

นอกจากนั้นจะใช้การทำโปรโมชั่น การแจกของแถม การจัดอีเวนต์ การเป็นโคสปอนเซอร์ทางทีวี หรือสปอนเซอร์การจัดงานต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา พอล ครุกแมน เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ด้านการจัดจำหน่าย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้สายส่งเดิมที่ส่งหนังสือให้ตลาดเอ็กซ์แพทโดยเฉพาะ และใช้สายส่งของเครือผู้จัดการเข้ามาเสริมในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้ประสิทธิภาพการจัดจำหน่ายสมบูรณ์ขึ้น โดยจะวางจำหน่ายทั่วประเทศ และส่วนหนึ่งขายส่งให้กับลูกค้าองค์กรประเภทสายการบินและโรงแรมด้วย

การแบ่งรายได้ ระหว่าง IHT และ Thaiday ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน แต่จะเป็นการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายส่วนหนึ่ง ส่วนพื้นที่แอดโฆษณาใน Thaiday จะเป็นรายได้ของเครือผู้จัดการ แต่ถ้าเป็นโฆษณาจากลูกค้าของ IHT ต้องการลงในพื้นที่ของ Thaiday ก็จะแบ่งรายได้กัน โดย IHT จะได้เปอร์เซ็นต์มากกว่า

“การลงทุนเบื้องต้นประมาณ 100 ล้าน คาดว่าจะเบรกอีเวนต์ปีที่ 2-3 และหวังว่า IHT/Thaiday จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท แง่การลงทุนก็เป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าเพิ่มมากขึ้น โมเดลแต่ละประเทศอาจใช้แทนกันไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมคนอ่านต่างกัน บางประเทศเมื่อจับมือกับ IHT แล้วไปได้ดี บางประเทศก็ยังเสมอตัว แต่กรณีของไทยเรามองว่ามีศักยภาพในตลาดที่จะเติบโตไปได้ ทั้งการที่คนต่างชาติเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น คนไทยเองที่จบการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศ คนชั้นกลางที่มีความรู้ เริ่มหันมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษกันมาก โดยรวมแล้วเมืองไทยมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น เป็นฮับของเอเชียในหลายๆ ด้าน จึงมั่นใจว่าจะไปได้ดีในตลาด”

และด้วยสไตล์การเลือกทำสิ่งพิมพ์แต่ละฉบับของ บ.ไทยเดย์ ด็อท คอม ที่เน้นความแตกต่างของตัวโพรดักส์ให้ฉีกไปจากสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่แล้วในตลาด ในสายตาของจิตตนาถ นี่จึงเป็นหนึ่งใน Business Development ที่ควรจะเป็น เพราะสังคมเปลี่ยนและมีพลวัตไปเรื่อยๆ โมเดลการพัฒนาธุรกิจย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เปลี่ยนไปสู่อนาคตที่มีทั้งความเป็นโลคอลและโกลบอลไปพร้อมกัน

Did you know?

Richard Wooldridge ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร International Herald Tribune ซึ่งเดินทางมาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือพิมพ์ IHT/Thaiday อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้พูดถึงเหตุผลในการตัดสินใจจับมือกับบริษัท Thaiday Dot Com และเครือผู้จัดการว่า ทาง IHT ได้พิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก คือ ประสิทธิภาพของการบรรณาธิการ ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ การเขียนข่าว และเครดิตของหนังสือพิมพ์ในประเทศ ประเด็นที่สอง คือความสามารถทางการค้า ที่รวมถึงการจัดการและศักยภาพทางธุรกิจ

ในแง่การแข่งขันทางการตลาดกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีอยู่แล้ว เขาเห็นว่า IHT/Thaiday ไม่ได้เข้าไปแข่งขันโดยตรงกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพราะกลุ่มเป้าหมายต่างกัน โดยเน้นไปที่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเอกชนและรัฐบาล ที่มีความสนใจข่าวสารในระดับนานาชาติเป็นหลัก

เขามีความเชื่อมั่นว่ายอดพิมพ์และจำนวนผู้อ่านของ IHT/Thaiday จะเติบโตเป็น 2 เท่าของปัจจุบันภายในปีแรก เทียบกับที่ผ่านมาการจับมือกับหนังสือพิมพ์ในเกาหลีมีการเติบโตขึ้นถึง 400% ขณะที่ในญี่ปุ่นยอดเติบโต 200% ทั้งนี้ยอดรายได้ของ IHT ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากเดิมมีสัดส่วน 15-20% ของรายได้รวมของ Global IHT ในปัจจุบันเติบโตอยู่ที่สัดส่วน 30% และด้วยนโยบายการโฟกัสตลาดเอเชียมากขึ้น คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า รายได้จากภูมิภาคนี้จะเติบโตเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของ Global IHT