รำลึก “ไฮโซตัวจริง” ของเมืองไทย

เมื่อต้องพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไฮโซ” หากไม่กล่าวถึง “ไฮโซขนานแท้” หรือ “ไฮโซตัวจริง” อย่าง “เจ้าป้า” หรือเจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบุคลแวดวงสังคม “ไฮโซ” ของเมืองไทย…เรื่องราวนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์นัก

รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า “ไฮโซ” ที่พูดกันทุกวันนี้ มาจากคำว่า “High Society” หมายถึง บุคคลที่ใช้ชีวิตอย่างมีระดับหรือบุคคลที่อยู่สังคมชั้นสูง โดยส่วนมากมักจะสืบทอดเชื้อสายมาจากเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ในสมัยก่อน ด้วยคำนิยามนี้เองที่ทำให้ทุกคนต่างยอมรับว่า เจ้าป้า คือ “ไฮโซพันธุ์แท้”

เจ้าป้าเป็นพระธิดาของเจ้าหญิงศิริประกาย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 เจ้าป้าเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนมาแตร์เดอีฯ ซึ่งเป็นอีกโรงเรียนยอดฮิตของตระกูลไฮโซที่มีบุตรสาวก็ว่าได้ จากนั้นก็บินไปเรียนเรื่องมารยาทการเข้าสังคมในต่างแดน ก่อนจะกลับมาเป็นสาวไฮโซสุดมั่นที่เป็นทั้งดาราและนางแบบ ซึ่งเปรี้ยวและฮ็อตที่สุดแห่งยุค

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น บวกกับนิสัยรักสวยรักงาม ความทันสมัย และชอบสมาคม เจ้าของงานสังคมหลายคนจึงนิยมเชิญเจ้าป้าไปร่วมงานเพื่อเป็นเกียรติ จนเป็นต้นตำรับ “ไฮโซออกงาน” ในยุคต้น และเมื่อกิจกรรมทางสังคมมีมากขึ้น จนบางวันเจ้าป้าออกงานถึง 7-8 งาน ก็ยิ่งทำให้ภาพ “เจ้าป้าตัดริบบิ้น” ในงานสังคมเป็นภาพที่ชินตา

หลายสิบปีที่ออกงาน “ไฮโซรุ่นแรก” อย่างเจ้าป้าได้ชักนำ “ไฮโซรุ่นสอง” อีกหลายคนเข้าสู่วงการ เช่น สมศักดิ์ ชลาชล, นงนุช นามวงศ์ และลูกหลานคนสนิท พร้อมทั้งเป็นแรงบันดาลใจและให้คำปรึกษาในเรื่องการออกงานสังคม ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะยึดเจ้าป้าเป็นต้นแบบ ถึงแม้เจ้าป้าจะล่วงลับไปแล้ว”

เมื่อ 15 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันย่างเข้าสู่อายุ 71 ปีของเจ้าป้า “กุ๊กกี้” ทินกร อัศวรักษ์ ลูกชายคนเดียวจึงได้จัดงานจำหน่ายของใช้ส่วนตัวเจ้าป้าเพื่อหารายได้สนับสนุนทุนการศึกษา และสร้างห้องน้ำวัด ตามเจตนารมณ์ก่อนสิ้นลมเมื่อเช้าวันที่ 13 มีนาคม ปีเดียวกัน ภายในงานมี “ไฮโซ” และคนทั่วไปมาซื้อเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าของเจ้าป้าอย่างคับคั่ง ด้วยหลากหลายเหตุผล

บ้างก็เพื่อทำบุญร่วมกับเจ้าป้าครั้งสุดท้าย บ้างก็ว่าจะนำไปใช้จริง แต่ทว่า เหตุผลลึกๆ ข้อเดียวกันคือเพื่อเป็นของที่ระลึกถึงเจ้าป้า ซึ่งทำให้ยอดขายวันนั้นสูงถึง 5.4 แสนบาท ส่วนของใช้ที่เหลือจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ณ วัดศรีนวรัฐ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดเจ้าหลวงหรือวัดประจำครอบครัวของเจ้าป้า …และนี่เองที่ทำให้กล่าวได้เต็มปากว่า “ความดังและความดีของเจ้าป้าสถิตอยู่จนวาระสุดท้ายของชีวิต และอาจอยู่ต่อไปนานกว่านั้น”

ความทรงจำเกี่ยวกับเจ้าป้าผ่านคนสนิท

“เจ้าป้าคือไฮโซตัวจริง ผู้มีจิตใจดี ไม่เคยนินทาว่าร้ายใคร มีน้ำใจ ไม่ถือตัว และเป็นคนสนุกสนาน” คือบทสรุปเดียวกันถึงความทรงจำที่ดีงามเกี่ยวกับเจ้าป้าจาก “ไฮโซรุ่นน้อง” หลายคน

– วรางคณา วจะโนภาส หรือ คุณหนูดีซี

หลานสาวคนสนิท เล่าถึงความประทับใจในตัวเจ้าป้าว่า “น้าแก้วไม่เคยปฏิเสธงานใครถ้าสามารถไปได้ ท่านบอกว่า ถ้าเขาเชิญเราแสดงว่าเขาให้เกียรติเราและอยากให้เราไป ถ้าเราไม่ไปก็แสดงว่าเราไม่ให้เกียรติเขา”

“ตอนเด็กๆ น้าแก้วจะพาดีซีและพี่กุ๊กกี้ไปออกงานด้วยบ่อยๆ น้าแก้วชอบเห็นหลานแต่งตัวแฟชั่น และชอบพาหลานออกงานซึ่งจริงๆ ก็สนุกดี แต่เหนื่อยที่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเยอะ อย่างเจ้าป้าเองก็ใช้เวลาเตรียมตัวเฉลี่ย 2 ชั่วโมง” คุณหนูดีซีอมยิ้มเมื่อนึกถึงวัยเด็กและเจ้าน้าของเธอ

– นงนุช นามวงศ์

ที่ปรึกษาอาวุโสประชาสัมพันธ์การตลาดของเดอะมอลล์ “พี่รู้จักกับเจ้าป้ามาเกือบ 40 ปี ท่านเป็นเหมือนแม่ พี่ และเพื่อน ซึ่งเราจะไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด” เหตุนี้เองที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเธอเป็น “ไฮโซ” แต่เธอยืนยันว่า ไม่ใช่!

นงนุชเป็นนางงามจากเชียงใหม่เข้ามาเรียนตัดเสื้อที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี ซึ่งเจ้าป้ามาตัดชุดที่นี่ประจำ ด้วยเป็นคนเหนือเหมือนกัน เจ้าป้าจึงเอ็นดูและให้ความสนิทเป็นพิเศษ “เจ้าป้าบอกเสมอว่า เราต้องพร้อมแล้วเราค่อยออกงาน เพราะการเข้าสังคม คนจะดูเราแล้วตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วเจ้าป้าจะสอนหมดทุกอย่าง ทั้งมารยาท การพูดจา การแต่งตัว และบุคลิกท่าทางในการเข้าสังคมที่เรียกว่าไฮโซ”

แม้จะไม่ใช่ “ไฮโซ” โดยกำเนิด แต่เพราะคลุกคลีกับ “ตัวจริงเสียงจริง” มานาน เธอตั้งข้อสังเกตว่า “สมัยก่อน ไฮโซก็คือคนที่พร้อมทุกอย่าง ทั้งการศึกษา ทรัพย์สมบัติ และชาติตระกูล แต่เดี๋ยวนี้ แค่บางคนที่ออกงานบ่อย มีรูปและชื่อเป็นข่าวทุกวัน ก็เรียกกันว่าไฮโซหมดแล้ว”

อย่างไรก็ดี “การเข้าสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย” นงนุชย้ำหลายครั้งว่า “คนในวงสังคม เขาก็คงต้องเตรียมตัวพอสมควร โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสายตาประชาชนหรือคนที่สังคมรู้จัก เวลาจะออกงานทีก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ดูดี หรือออกงานยังไงให้เป็นข่าว …ไม่ใช่ไปแล้วไม่มีใครรู้จัก”

สำหรับเหตุผลการเข้างานสังคมของนงนุช เธอบอกว่าเป็นผลจากการชักชวนพร้อมเหตุผลของเจ้าป้าที่ว่า “ถ้าไม่เข้ามาแล้วเมื่อไรจะรู้ว่าสังคมนี้เขามีอะไรกันบ้าง แล้วจะเอาไปสอนลูกหลานได้อย่างไร”