จากฮาร์ดร็อคคาเฟ่ สู่ The Met Condo

หลังจากที่บริษัท โฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HPL ได้ส่งแบรนด์โรงแรม “The Metropolitan” โรงแรมบูติกเน้นดีไซน์ระดับ 5 ดาว มาชิมลางตลาดไฮเอนด์ในกรุงเทพฯ เพียงปีกว่า แต่ก็นานพอที่จะสร้างความมั่นใจถึงศักยภาพและกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับท็อปเอนด์ที่อยู่กรุงเทพฯ ทำให้ HPL ลงทุนโครงการคอนโดหรูใจกลางเมืองใช้ชื่อ “The Met”

นอกจากชื่อโครงการที่เหมือนกัน ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ทั้งเจ้าภาพและเจ้าหน้าที่ต่างใส่สูทสีดำที่คล้ายคลึงชุดพนักงานโรงแรมเดอะ เม็ทฯ

“เป็นความตั้งใจที่นำเอาจุดเด่นทางด้านดีไซน์ และบุคลิกโดยรวมของโรงแรม The Metropolitan มาช่วยเสริมภาพลักษณ์ของคอนโด The Met และเชื่อมโยงมาตรฐานคุณภาพของทั้ง 2 โครงการเข้าหากัน ซึ่งจะง่ายต่อการสื่อสารทางการตลาด” คริสโตเฟอร์ ลิม ผู้อำนวยการบริหาร HPL กล่าว

HPL ถือเป็นบริษัทที่น่าจะคุ้นเคยกับการตอบสนองความต้องการของตลาดไฮเอนด์บ้านเราเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงเป็นเจ้าของโรงแรมเดอะ เม็ทฯ HPL ยังเป็นเจ้าของ Hard Rock Caf? ที่สยามสแควร์ โรงแรม Hard Rock พัทยา และ Club 21 ร้านขายสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูในศูนย์การค้าเอราวัณ ผนวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 20 ปี ในธุรกิจอสังหาฯ ระดับโลก โดยมีกุญแจความสำเร็จเหมือนกันในทุกโครงการคือ “niche product” และ “prime location”

สำหรับคอนโด The Met เป็นอาคารสูง 66 ชั้น เรียกว่าสูงที่สุดในกรุงเทพฯ สไตล์การดีไซน์เป็นแบบ Tropical Hi-Rise หรือการออบแบบตึกสูงในเขตร้อน ซึ่งจะเน้นการระบายอากาศและการประหยัดพลังงาน และติดกระจกจากพื้นจรดเพดานรอบด้าน เพื่อสะท้อนความทันสมัยของชีวิตคนเมือง มีทั้งสิ้น 370 ยูนิต สนนราคา 1-1.2 แสนบาท ต่อ ตร.ม. หรือ10 ล้านบาทขึ้นไป ต่อยูนิต เน้นกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ถึงท็อปเอนด์ ตั้งเป้าเป็นชาวต่างชาติมากกว่า 40% โดยหลังเปิดตัวที่กรุงเทพปลาย มิ.ย. และเดือน ต.ค.นี้ The Met มีแผนไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์และฮ่องกง

Profile of HPL

HPL ก่อตั้งในปี 2523 ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทประกอบด้วย
1. ธุรกิจโรงแรม สำหรับโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของมีทั้งสิ้น 31 แห่ง หรือกว่า 6,100 ห้องใน 11 ประเทศ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ โรงแรม The Metropolitan ที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังมีโรงแรมบางแห่งในแถบเอเชียอาคเนย์ที่บริษัทเป็นผู้บริหาร
2. ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะโครงการที่พักอาศัยและคอนโดระดับคุณภาพ เช่น โฟร์ซีซั่น พาร์ค ซึ่งเป็นคอนโดที่หรูแห่งแรก และแพงที่สุดในสิงคโปร์ รวมถึงคอนโด The Met บนถนนสาทร ซึ่งถือเป็นโครงการล่าสุดของ HPL
3. การลงทุนในอสังหาฯ ที่สร้างเสร็จพร้อมขาย หรือถือครองเพื่อการลงทุน เช่น โครงการธุรกิจค้าปลีก โครงการอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น และ
4. ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก เช่น แบรนด์ “Hard Rock Caf?” และ “Club 21” เป็นต้น

Did You Know?

เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่เริ่มชะลอตัว บวกกับราคาที่ดินซึ่งแพงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า (โดยเฉลี่ย) ดังนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงมีกลุ่มทุนสิงคโปร์หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในโครงการคอนโดหรูที่กรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วย

1. กลุ่มเคปเปล แลนด์ ลงทุนในโครงการ “วิลล่า อะคาเดีย” ศรีนครินทร์ โดยการรวมกิจการกับบริษัท ไฟว์ สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ ในนามบริษัท “เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้”

2. กลุ่มแคปปิตอล แลนด์ เข้ามาลงทุนในโครงการคอนโด “แอทธินี เรสซิเดนซ์” ถนนวิทยุ ร่วมทุนกับบริษัท ที.ซี.ซี. ดีเวลลอปเม้นท์ ในนาม “ที.ซี.ซี.แคปปิตอล แลนด์”

3. กลุ่มเซ็นเตอร์พอยท์ พร็อพเพอร์ตี้ เข้ามาลงทุนในโครงการคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยร่วมทุนกับบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน ในนามบริษัท “ริเวอร์ไซด์ โฮม ดิเวลลอปเม้นท์”

4. กลุ่มโฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ส์ เข้ามาลงทุนเองในโครงการคอนโด “เดอะ เม็ท” ถนนสาทร

ราคาที่ดินใจกลางเมืองใหญ่ จากสิงคโปร์ถึงกรุงเทพฯ

สนนราคาที่ดินในเมืองสำคัญของเอเชีย โดยประมาณ (จากคำบอกเล่าของผู้อำนวยการบริหาร HPL)

– ที่ดินในเมืองสิงคโปร์ ราคา 1,000 US$ ต่อ ตร.ฟุต
– ที่ดินในเมืองฮ่องกง ราคา 2,000 – 3,000 US$ ต่อ ตร.ฟุต
– ที่ดินในตัวเมือง ประเทศจีน (ไม่ระบุเมือง) ราคา 500 US$ ต่อ ตร.ฟุต
– ที่ดินบริเวณใจเมืองกรุงเทพฯ ราคา 300 – 400 US$ ต่อ ตร.ฟุต