“ต้มยำกุ้ง” จากหนังสู่ธุรกิจ “คาแร็กเตอร์”

ด้วยความสามารถในการสะท้อนคาแร็กเตอร์การเป็นนักสู้มือเปล่าของ “จา พนม” ในหนังองก์บาก ซึ่งทำรายได้ถล่มทลายมาแล้วทั่วโลก ไม่เพียงแต่จะทำให้สหมงคลฟิล์มควักเงินลงทุน 200 ล้านบาท สร้างหนังฟอร์มยักษ์ เรื่อง “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ขายไปได้แล้วกว่า 70 ประเทศ ยังนำไปสู่การต่อยอดทำธุรกิจ “เมอร์ชั่นไดซ์” และไลเซนซิ่ง

Happy Window คือ พันธมิตรที่เข้ามาช่วยทำธุรกิจเมอร์ชั่นไดซิ่งให้กับสหมงคลฟิล์ม โดยแฮปปี้วินโดว์ ทำหน้าที่ประสานงานและหาแหล่ง supplier ดูแลจัดการลิขสิทธิ์ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และคาแร็กเตอร์ของนักแสดงในหนังเรื่องต้มยำกุ้ง

“ในต่างประเทศ คนทำงานด้านนี้ จะเข้าไปทำงานโปรดักชั่นตั้งแต่ต้น อย่างเช่นดาราควรต้องใช้รองเท้าอะไร นุ่งกางเกงของใคร เพื่อที่ว่าเราจะนำข้อมูลจากโปรดักชั่นที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในจุดต่างๆ” ธานินทร์ ติรณสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮปปี้วินโดว์ จำกัด เล่าจากประสบการณ์เป็น MD ในไชโยโปรดักชั่นส์ ที่เคยบริหารคาแร็กเตอร์อุลตร้าแมน ถึงความสัมพันธ์ของระบบภาพยนตร์
เขายกตัวอย่าง การกำหนดให้พระเอกชอบดื่มนม จากนั้นมาดูว่ามีบริษัทนมไหนที่สนใจ อาจไม่ต้องเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ เพียงแต่ว่าพระเอกชอบดื่มนม จากนั้นจะสามารถขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทผลิตนม เพื่อใช้รูปจากหนังของไปโปรโมตสินค้าได้ ไม่ว่าจะทำพรีเมียมหรือโปรโมชั่น ดังนั้นการเข้าไปมีส่วนร่วมก่อนหน้าถ่ายทำเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดี

การทำธุรกิจเมอร์ชั่นไดซ์นอกจากจะทำให้ภาพยนตร์มีรายได้เพิ่มแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางขายและการโปรโมตภาพยนตร์ได้ในอีกทางหนึ่ง เพราะสินค้าแต่ละตัวจะต้องมีการโปรโมตออกไปในวงกว้าง

“ตอนนี้เราขาดบุคลากรที่เข้าไปดีลกับงานลักษณะนี้ เพราะปริมาณ และรูปแบบธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวข้องมันต่างกันมาก อย่างสินค้าของเล่นมีวงจรการขายสินค้ายังไง คิดสต็อกยังไง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต่างกับแนวคิดของบริษัทภาพยนตร์โดยชิ้นเชิง ก็เลยไม่ค่อยทำให้บ้านเรามีใครทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ”

เขาเล่าว่าโครงสร้างของ “ต้มยำกุ้ง” แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น การที่สามารถออกไปทำตลาดต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง การทำงานด้านนี้จึงเป็นเรื่องการหา distributor ที่ซื้อสินค้าจากไทยเข้าไปทำโปรโมชั่นที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เคยประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา

“ผมว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่างการตลาดสำหรับหนังกับการตลาดสำหรับสินค้าด้วย เพราะว่าตลาดของภาพยนตร์เป็นตลาดเฉพาะทาง เฉพาะกลุ่มคนดู แต่การตลาดของสินค้า เราต้องขยายกลุ่มคนซื้อสินค้าแต่ละอย่างออกมาเป็นอีกกลุ่มต่างหาก คือต้องจำกัดกลุ่มคนซื้อให้ชัดเจนมากกว่าคนดูหนัง”

เป็นธุรกิจที่น่าขยายมากของบริษัทหนัง ที่ต้องการจะพุ่งออกตลาดต่างประเทศ จริงๆ มันเป็นรายได้เสริม แล้วตลาดต่างประเทศใหญ่กว่าเรามากในเรื่องเมอร์ชั่นไดซิ่ง ความยากของเราคือ การทำให้คนที่อยู่นอกธุรกิจภาพยนตร์เข้าใจ แล้วเห็น “โอกาส” ของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เขาเห็นแต่ความ “อยาก” คือต้องถามก่อนว่าหนังเรื่องนี้มันจะขายได้ไหม มันจะดังไหม

เขาเห็นว่าความสำเร็จจากองค์บากทำให้โมเดลธุรกิจที่สหมงคลฟิล์มคิดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะ “จา พนม” มีศักยภาพในการทำตลาดไม่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น สามารถลดความเสี่ยงของการทดลองทำธุรกิจนี้อย่างจริงจังในก้าวแรก

ตอนนี้ “แฮปปี้วินโดว์” เอง จับมือกับ 8 บริษัทให้ลิขสิทธิ์สินค้าถึง 8 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นขนมอบกรอบ การ์ดสะสมจากภาพยนตร์ นาฬิกาปลุก เครื่องเขียน หรือหนังสือเบื้องหลัง “ต้มยำกุ้ง” ธานินทร์เห็นว่า โดยคาแร็กเตอร์ของต้มยำกุ้งเป็นแนวแอ็กชั่น โทนผู้ชาย ซึ่งสินค้าที่ไปกันได้ในแนวนี้ คือหมวดเสื้อผ้า และของเล่น โดยตั้งเป้ารวมยอดการขายน่าจะอยู่ที่ราว 30 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดขั้นต่ำ เพราะ “ต้มยำกุ้ง” เป็นมุมมองของภาพยนตร์ ในขณะที่การรับรู้ของสินค้ายังเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ต้องการการยอมรับจากต่างประเทศที่แตกต่างกัน

“ในส่วนตัว ผมคิดว่า ณ วันนี้สำหรับสหมงคลฟิล์ม เรายังหาขอบเขตที่เหมาะสมอยู่ เพราะยังไม่รู้ว่ามันจะไปได้ไกลขนาดไหน หนังไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เราทำ แต่สิ่งที่เรามีเทียบกับจำนวนที่เราคุยยังห่างกัน 10 เท่า ซึ่งก็มีแต่คนที่ยังไม่อยากเสี่ยง อยากรอดูก่อน”

“…แต่ข้อจำกัดตอนนี้ของเรา คือ ทุกอย่างมักเริ่มเมื่อภาพยนตร์เสร็จแล้ว” ธานินทร์กล่าว