Leadership Forum by Bloomberg TV

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บลูมเบิร์ก ทีวี ที่แพร่ภาพทางช่องยูบีซี 45 ยกทีมงานโดยตรงจากสิงคโปร์มาจัดงาน Leadership Forum ในรูปแบบเบรกฟัสต์ ทอล์ก ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด แหวกแนวการจัดกาล่าดินเนอร์ สมกับความเป็นองค์กรข่าวที่แข่งขันด้วยความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูล โดยมุ่งเป้าเจาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจในเมืองไทย เน้นการนำเสนอข่าวสารและบทวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ และให้บริการฐานข้อมูลธุรกิจ สำหรับลูกค้าองค์กรแบบสมัครสมาชิก

ประเด็นสนทนาในวันนั้น เรียกร้องความสนใจผู้บริหารร่วม 200 คน ให้ตื่นแต่เช้ามานั่งฟัง ด้วยการเชิญ 4 ผู้บริหารองค์กรใหญ่ของไทย ได้แก่ วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์, ดร.สุภัค ศิวรักษ์ ประธานและซีอีโอ ธนาคารทหารไทย, กนก อภิรดี ประธาน บมจ. การบินไทย และ วิลเลี่ยม ไฮเนคกี้ ประธานและซีอีโอกลุ่มไมเนอร์ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวของธุรกิจในวิกฤตราคาน้ำมัน นอกจากนั้นยังมี William Pesek คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์ก และ Claudia Zeisberger ผู้อำนวยการ Asia Pacific Institute of Finance, INSEAD สถาบันดังจากยุโรปที่มีสาขาในสิงคโปร์ มาร่วมวิเคราะห์

โดย เคลาเดีย ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้คงยังอยู่ที่ระดับ 4-5% ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์สึนามิ แต่ปัญหาสำคัญยังคงเป็นเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ที่กระทบต่อภาพลักษณ์และบรรยากาศการลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจควรตั้งเป้าการเติบโตให้สอดรับกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่ชะลอแผน แต่ธุรกิจต้องพร้อมขยายการลงทุนเมื่อมีโอกาส และก้าวไปข้างหน้า จุดแข็งของประเทศไทยคือ การเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำ และการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม

ด้าน Pesek วิเคราะห์ว่า ภาคการเงินแข็งแกร่งขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่แล้ว ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เข้ามาคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ที่ผ่านมาจึงเห็นการควบรวมกิจการเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ วิชิต สุรพงษ์ชัย เสริมว่า เป็นเรื่องปกติและทำให้ภาคการเงินเข้มแข็ง ส่วนการอยู่รอดของแต่ละธนาคาร ขึ้นอยู่กับการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด เช่นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ไปจับมือกับธนาคารท้องถิ่นของจีน แทนที่จะลงทุนขยายสาขาเอง ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ากว่า

ส่วนธุรกิจการบินที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตน้ำมัน แต่ กนก กลับมีความเชื่อว่า ธุรกิจการเดินทางและขนส่งทางบกน่าจะเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบมากกว่า ในขณะที่ธุรกิจสายการบินสามารถปรับราคาค่าโดยสารและชาร์จค่าธรรมเนียมน้ำมันได้ ส่วนการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ การบินไทยเพียงแต่หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ segmentation มากขึ้น นอกจากนั้นยังเล็งเป้าหมายการเจาะตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากทั้งในแง่นักท่องเที่ยวและการวางเส้นทางบินใหม่ๆ

และสำหรับธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว ไฮเนคกี้ เปรียบเทียบสถิติความนิยมการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทย ว่าหลังวิกฤตน้ำมัน มีอัตราลดลงเพียง 5% เทียบกับฟิลิปปินส์ที่ลดลงถึง 20% ถือว่าตลาดไทยยังไปได้ดีในภาวะเช่นนี้ ส่วนธุรกิจโรงแรมในเครือไมเนอร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ใน จ. ภูเก็ต ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพราะแผนเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวภูเก็ตของรัฐบาล อีกทั้งภูเก็ตกำลังถูกโปรโมตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตมาก ส่วนผลกระทบของราคาน้ำมันและนโยบายประหยัดพลังงานที่มีต่อธุรกิจนั้น เป็นวงจรปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และเชื่อว่าทุกธุรกิจจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด

Website

www.bloomberg.com