เส้นทางวิบากของช่อง 3 กับฟุตบอลเกม ประวิทย์ มาลีนนท์ “ขอแค่สร้างชื่อไม่หวังกำไร”

นอกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีแล้ว สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ชื่อว่า เป็นสถานีโทรทัศน์อีกแห่งที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางด้าน “กีฬา” มาอย่างต่อเนื่อง

ช่อง 3 มักจะมีส่วนร่วม ประมูลมาป้อนให้กับ “คอบอล” ทั้งหลายได้ชมกัน แม้แต่ในระดับท้องถิ่น “บีอีซีเทโร” บริษัทในเครือของช่อง 3 ก็ยังเคยปลุกปั้นทีมฟุตบอล “บีอีซีเทโรศาสน” เคยสร้างชื่อมาพักใหญ่ แม้ว่าเวลานี้จะเงียบหายไปแล้วก็ตาม แต่ก็สะท้องถึงความพยายามของช่อง 3 ที่มองเห็นโอกาสจากการมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง

เพราะสิ่งที่ตามมานอกเหนือจากการที่สามารถดูแลและจัดการถ่ายทอดได้แล้ว ยังรวมไปถึง “ทรัพย์สิน” ที่ได้รับจากลิขสิทธิ์สโมสรฟุตบอลหากทีมฟุตบอลที่สนับสนุนเกิดโด่งดังขึ้นมาเหมือนเช่นที่เกิดมาแล้วในสโมสรระดับโลก

แม้ว่า “ฟุตบอล” จะเป็นเกมกีฬาได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ในแง่ของการซื้อลิทธิ์มาถ่ายทอดสดแล้ว กลับต้องอยู่ในภาวะ “ล้มลุกคลุกคลาน”

ดูอย่าง กรณีการซื้อลิทธิ์ถ่ายทอด “ฟุตบอลยูโร 2000” ถ่ายทอดสดแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นรายการยอดนิยม น้องๆ ฟุตบอลโลก แต่กลับกลายเป็นว่า “รายได้” ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

“เวลานั้น การวัดผลคนยังไม่มี เมื่อไม่มี Record ลูกค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการก็เลยลังเลที่จะซื้อโฆษณา แต่หลังจากที่ช่อง 3 ทำไปเท่ากับเป็น Record ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าใจ การขายโฆษณาเวลานี้ก็ง่ายขึ้น” ประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด มหาชน บอกถึงสาเหตุ

สำหรับ “ฟุตบอลยูโร 2004” ในปีนี้ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้นำเข้าลิขสิทธิ์” มาเป็น “พันธมิตร” 1 ใน 4 ราย โดยมีเดนสึ เอเยนซี่โฆษณาเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และได้ชักชวนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และบริษัททศภาค ลงขันเป็นพันธมิตร มีผลให้ช่อง 3 และช่อง 7 จะร่วมกันถ่ายทอดสด โดยใช้วิธี “จับฉลาก” แบ่งช่วงเวลา

“การร่วมมือในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การที่เดนสึมาเช่าเวลาช่อง 3 ถ่ายทอดสด ดีกว่านั้นหน่อยตรงที่ว่าเป็นการลงทุนร่วมกัน ในลักษณะพาร์ตเนอร์ทำให้ทุกฝ่ายต้องทุ่มเท จะเป็น Sleeping Partner ไม่ได้”

ประวิทย์ เชื่อว่า สถานการณ์ทางธุรกิจของฟุตบอลยูโร 2004 ดีขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะทั้งคนดูและเจ้าของสินค้าและบริการ ได้ผ่านการเรียนรู้มาแล้ว แม้ว่าจะมีเรื่องของข้อกำหนดจาก “ยูฟ่า” ที่ไม่ให้มีโฆษณาคั่นในช่วงถ่ายทอดสด จะมีได้เฉพาะก่อนรายการ ช่วงพักและช่วงท้าย

“เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น จริงๆ มีมานานแล้ว ทศภาคเขาเคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงถ่ายทอดสดบอลโลก ซึ่งเขาทำง่ายเพราะมีสินค้าเดียว คือ เบียร์ช้าง แต่อย่างกรณีเราทำ ต้องไปเสนอให้สินค้าและบริการหลายๆ ราย ขั้นตอนยากและยุ่งยากกว่ามาก”

สิ่งที่ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับประวิทย์ คือ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนผลิตละครด้วยแล้ว ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมีเพียงแค่ค่าตัวดารา ที่เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์

“ปีที่เราได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เราจ่าย 5 ล้านบาท แต่ปีที่ทศภาคได้ เขาต้องจ่าย 7 ล้านเหรียญ (คูณ 28 บาท) 280 ล้านบาท คิดดูว่าตัวเลขมันเพิ่มขนาดไหน” ประวิทย์ ยกตัวอย่าง

“โชคดีตกเป็นของคนดู เพราะไม่ว่าการแข่งขันมันสูง หรือถึงขั้นขาดทุนบางครั้งเราต้องทำ อย่างกรณีฟุตบอลยูโร ก็เป็นลักษณะคืนกำไรอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่กีฬาเท่านั้นรายการอื่นก็เช่นกัน บางเรื่องต้องคืนกำไรให้คนดู”

นอกจากอุปสรรคในเรื่องของ “ต้นทุน” ที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว จะเป็นข้อจำกัดที่ควบคุมไม่ได้ของการซื้อลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดแล้ว ช่วงเวลาการถ่ายทอดที่ “ดึก” เกินไปสำหรับคนไทย ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง ดังนั้นการคาดหวังถึงผลได้รับของยูโร 2004 สำหรับช่อง 3 จึงเป็นเรื่องของ “การสร้างชื่อเสียงล้วนๆ”

“เราทำใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เพราะเราอยากได้คนดูมากกว่า”