มอง News talk effect ผ่านเลนส์วิชาการ

ในแง่มุมของ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย News talk หรือรายการเล่าข่าวที่หยิบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาเล่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย มีมานานแล้วในสื่อวิทยุ แต่พอมีคนนำมาทำในโทรทัศน์ แล้วได้เสียงตอบรับดี คนอื่นทำตามขึ้นมา ด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ก็เลยเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่ามันเพิ่งเกิดขึ้น

เหตุผลที่ทำให้รายการเล่าข่าวได้รับความนิยมสูงนั้น อ.สุภาพร มองว่า ปกติแล้วพิธีกรข่าวจะรักษาระยะห่างของตัวเองกับผู้ชม โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลในข่าว มุ่งเสนอข่าวแบบตรงไปตรงมา เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องความน่าเชื่อถือ

ทุกวันนี้ คนอ่านข่าวเน้นความสนุกสนานผ่านการเลือกข่าวเบาๆ (soft news) และความเป็นกันเองด้วยลีลาการเล่า ทำให้เกิดมิติความใกล้ชิดระหว่างคนนำเสนอข่าวกับคนดู และคนที่ตกอยู่ในข่าว

“สภาพความเป็นคนนำเสนอข่าว คนเป็นข่าว และคนดูก็ถูกละลาย กลายเป็นเหมือนคนใกล้ชิด ในเชิงจิตวิทยามันทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นเรื่องของคนใกล้ตัว” นี่เป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้คนดูข่าวแล้วรู้สึกไม่เครียด

คนอ่านข่าวหรือการใช้พรีเซ็นเตอร์รายการที่มีลีลาและมีบุคลิกของความเป็นกันเองสูง ก็จะมี “ความเป็นสตาร์”ซึ่งต่างจากความเป็นสตาร์แบบเดิมที่จะผูกพันอยู่กับสถานี เพราะรายการข่าวแบบเดิมมีภาพความเป็นตัวแทนสถานีมากกว่า ดังนั้นระบบสตาร์ที่เกิดขึ้นใหม่จึงไม่ผูกพันกับสถานี แต่เป็นความผูกพันระหว่างพรีเซ็นเตอร์กับคนดูแทน จึงเป็นที่มาของการดูดพรีเซ็นเตอร์ข้ามช่องไปมา

สำหรับ “สรยุทธ” จุดเด่นที่ส่งให้เขากลายเป็น “เจ้าพ่อนักเล่าข่าว” อาจารย์สุภาพร บอกว่า “การเป็นนักอธิบายและทำให้เรื่องเข้าใจยากกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย และช่วยผูกโยงหรือย้อนไปถึงที่มาของเรื่องได้ เพราะเขาเกาะติดข่าวมาตลอด นี่คือคุณค่าของรายการแบบนี้ ส่วนลีลาที่เป็นลูกเล่นของเขาเป็นเพียงตัวเคลือบเล็กน้อย ที่พรีเซ็นเตอร์คนอื่นมักนึกว่าเป็นจุดที่ทำให้เขาโดดเด่น”

การตอบรับของคนดูที่มีต่อ รายการคุยข่าว อ.สุภาพร พูดถึงมิติเชิงวัฒนธรรม “การบริโภคข่าวสารของคนไทย จะเป็นแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านการพูดคุยบอกเล่า ซึ่งก็ตอบสนองความต้องการอยากรู้ข่าวสารในเชิงนี้”

ในแง่อุปนิสัยพื้นฐานของคนไทย “คนไทยไม่ค่อยชอบคุยเรื่องอะไรหนักๆ กลวิธีนำเสนอแบบคุยข่าวก็ช่วยลดความจริงจังของเนื้อหาข่าวได้ และสังคมไทยวันนี้ก็ยังไม่ใช่สังคมการอ่าน ฉะนั้นเมื่อมีคนเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ฟังก็ดูจะสอดรับกับลักษณะอุปนิสัยนี้”

นอกจากนี้ รายการคุยข่าวยังช่วยทดแทนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่คุ้นเคย อย่าง “วัฒนธรรมสภากาแฟ” ซึ่งหาได้ยากมากในสังคมวันนี้ โดยเฉพาะสังคมเมือง จากที่เคยไปร้านกาแฟนั่งอ่านข่าวเองแล้วคุยกัน การเปิดทีวีดูรายการคุยข่าวก็ทำให้ได้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งมีช่องทางแสดงความคิดเห็นได้ก็เกิดปฏิสัมพันธ์

“รูปแบบคุยข่าวซึ่งใช้ลีลาอ่านไปวิจารณ์ไป มันตอบสนองต่อรสชาติการเสพข้อมูลตามวิถีปฏิบัติ และยิ่งมี SMS แสดงความคิดเห็นได้ มันก็ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงเสมือน”

รายการแบบคุยข่าว มีหน้าที่ 1. ช่วยอธิบายข่าว 2.ช่วยตีความ และเลือกมุมที่จะวิเคราะห์ มุมที่จะเพิ่มเติม และข้อสังเกต 3. ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์” แต่ทว่าก็มีสิ่งที่อาจารย์เป็นห่วงในการทำหน้าที่ของรายการรูปแบบนี้ นั่นคือ การบริหารเวลาและสัดส่วนของคอนเทนต์

“บางช่องอาจวางสัดส่วนคอนเทนต์หรือเวลาของรายการด้วยมิติความบันเทิง แทนวิธีคิดเชิงข่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกและการให้ความสำคัญกับแต่ละข่าวซึ่งจะกระทบต่อการรับรู้ความสำคัญของข่าว เพราะพวกเขาเป็นคนกำหนดวาระและวิถีคิดของเราว่าวันนี้เรื่องอะไรสำคัญ”

ฐานข่าวส่วนใหญ่ที่ถูกหยิบยกมาเล่าในรายการมักเป็น “ข่าวชาวบ้าน” ซึ่งทำให้ข่าวสำคัญบางชิ้นไม่ถูกโฟกัส และพบว่าหลายรายการมักเลือกข่าวคล้ายๆ กัน ทำให้ขาดความหลากหลายที่ อันนี้อาจเป็น side effect ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เห็นเทรนด์ที่บางช่องหรือบางรายการข่าวพยายามมูฟตัวเองออกไปทำรูปแบบที่แตกต่างสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการทางเลือก โดยเฉพาะกลุ่ม “คอข่าว”

5 Trends coming with news talk

1. การเสนอข่าวแบบเย็นฉา หรือทางการมากๆ จะลดลง
2. ต้นทุนรายการของรายการแบบนี้จะหนักอยู่ที่ค่าตัวพรีเซ็นเตอร์
3. ความเป็นตัวแทนของสถานีในตัวพรีเซ็นเตอร์จะลดลงหรือหายไป
4.พรีเซ็นเตอร์ที่มีความเป็นธรรมชาติ (หรือแสดงได้อย่างแนบเนียน) จะมีความโดดเด่นขึ้นมา
5. คุณสมบัติของพรีเซ็นเตอร์คนเดียวอาจไม่พอแล้ว…ต้องอาศัยส่วนผสมทางความรู้และมุมมองแบบเป็นทีม