สกายบุ๊กส์ “แปลงตำรามาเป็นการ์ตูน”

แม้นาทีนี้หนังสือมาแรงในหมวดแวดวงวรรณกรรมเยาวชนบ้านเรา ยังครองตลาดโดยหนังสือแปลเป็นส่วนใหญ่ มีผู้นำอย่างพ่อมดน้อยแฮรี่ พอตเตอร์จากถิ่นผู้ดีเก่าเข้ามาร่ายมนต์สะกดนักอ่านทั้งตัวจริง และมือสมัครเล่นให้ติดกันงอมแงมทิ้งห่างคู่แข่งอื่นแทบไม่เห็นฝุ่น

แต่ปรากฏการณ์เล็กๆ ที่คอหนังสือรุ่นเยาว์มานั่งเฝ้าติดตามการเปิดตัวหนังสือ “สามก๊ก” ฉบับการ์ตูน จากซีรี่ส์ “Cartoon Learning” ของสำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ ที่บีทูเอส เซ็นทรัลชิดลม เมื่อปลายเดือนกันยายน ถือเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จก้าวสั้นๆ ของผลงานเขียนสัญชาติไทยในการฝ่าด่าน 18 อรหันต์จนสามารถหาพื้นที่ยืนบนถนนสายวรรณกรรมสำหรับเด็กได้เช่นกัน

“สามก๊ก” เป็นผลงานล่าสุดของซีรี่ส์ “Cartoon Learning” โดยเรื่องแรกที่สกายบุ๊กส์ผลิตและเปิดตัวคือ การ์ตูนวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” เมื่อช่วงต้นปี 2547

“สกายบุ๊กส์ คือสำนักพิมพ์ที่เน้นทำหนังสือเชิงวิชาการ และตำราเรียนเป็นหลัก แม้หนังสือชุด Cartoon Learning เราก็ยังเชื่อว่าเป็นสาระแต่ปนด้วยบันเทิง” ผ่องเพ็ญ อาชาเทวัญ ประธานกรรมการ บริษัท สกายบุ๊กส์ จำกัด บอกถึงจุดยืนการผลิตหนังสือ

การคัดเลือกของสกายบุ๊กส์ มาจาก พื้นฐานการมองในฐานะที่เป็นพ่อแม่ และต้องการหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับลูก เธอมองว่าเด็กสมัยนี้ติดการ์ตูนญี่ปุ่น และเกมอินเทอร์เน็ตมากจนละเลยการอ่านหนังสือที่มีประโยชน์

เมื่อสนใจจะทำหนังสือสำหรับเด็กเชิงวิชาการ สกายบุ๊กส์จึงมองไปที่ตำราเรียนเป็นอันดับแรก แล้วพบว่าในหนังสือเรียนภาษาไทยมีวรรณคดีหลายๆ เรื่องที่เด็กต้องเรียน เธอจึงคิดที่จะดัดแปลงวิธีการนำเสนอเพื่อให้น่าสนใจอ่านในหมู่เยาวชน

“เราไปเปิดดูหลักสูตรวิชาภาษาไทยในระดับประถมศึกษา พบว่าเด็กต้องเรียนเรื่องรามเกียรติ์หลายตอน อย่างสุครีพหักฉัตร หรือเผากรุงลงกา แต่หนังสือเรียนแค่เห็นก็น่าเบื่อแล้วสำหรับพวกเขา เลยตัดสินใจทำออกมาเป็นการ์ตูน ปรากฏว่าพวกเด็กๆ เขาชอบ บางคนใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบก็มี”

ผลตอบรับและเสียงเรียกร้องของเหล่าบรรดาแฟนคลับตัวน้อย รวมถึงรางวัลการันตีจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจากการ์ตูนวรรรคดีเรื่องแรก ทำให้เกิดเรื่องอื่นๆ ตามออกมาไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี ศรีธนญชัย อิเหนา ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ จนตอนนี้มีกว่าสิบเล่มในชั่วระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี

จนมาถึงเล่มที่ผ่องเพ็ญใช้คำว่า “ฉบับท้าทาย” อย่าง “สามก๊ก” ที่เธอมองว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะกว้างขึ้น เพราะรวมไปถึงเด็กโต และคนที่ท้อเกินกว่าจะอ่านฉบับเต็มไหว

“เด็กๆ เขาเคยพูดเล่นๆ กับเราว่าเรื่องก่อนหน้านี้เขาอ่านวันเดียวจบ เราก็เลยทำเรื่องสามก๊กขึ้นมา โดยใช้คำว่าเป็นฉบับท้าทายด้วยเนื้อหาที่มาก ทำให้หนากว่าเล่มอื่นๆ ที่สำคัญเราเชื่อว่าเนื้อหาสาระของสามก๊กมีประโยชน์ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ก็อ่านได้”

เป็นอีกครั้งกับสีสันใหม่ๆ ในแวดวงหนังสือบ้านเราที่ยังไม่ขาดแคลนผลงานดีมีสาระ และความสำเร็จของการ์ตูนวรรณคดีเชิงวิชาการคือบทพิสูจน์ว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยยังรักการอ่านแม้จะเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนอย่าง “สามก๊ก” ขอเพียงผู้ผลิตเข้าใจกลวิธีนำเสนอ

สามก๊ก ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า เคยบรรจุอยู่ในหลักสูตรวิชาภาษาไทยระดับชั้นมัธยม