PFP ถึงเวลาต้องสร้างแบรนด์

“ผู้บริโภคไม่เคยรู้เลยว่าปูอัดที่เขาทานกันเป็นแบรนด์ PEP และการเล่นในตลาดล่างมีข้อจำกัดในเรื่องราคา จึงมุ่งสร้างแบรนด์ทำ premium product เพื่อขึ้นห้าง อีกทั้งการสกัดกั้นจากคู่แข่งต่างประเทศทำให้ตลาดส่งออกไม่สดใสเหมือนเคย ถึงเวลาของการสร้างแบรนด์เพื่อเจาะตลาดกลางถึงบนในประเทศ และต้องทำให้เป็น Brand of Mind ด้วย” ทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด บอก

ทวีบอกอีกว่า ปัญหาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเล คือ ขาดการสร้างแบรนด์เพราะส่วนใหญ่เติบโตมาจากการส่งออกตลาดต่างประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นการรับจ้างผลิต หรือ OEM เช่นเดียวกับ PFP ที่เป็นส่งออกตลาดเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงการทำ OEM ให้กับแม็คโครและ MK ด้วย

การสร้างแบรนด์ของ PFP จะเริ่มต้นด้วย “ปูอัด” เป็นสินค้าแรก เนื่องจาก PFP มีสินค้าไม่หลากหลายเท่ากับคู่แข่ง อย่างพรานทะเล ที่โดดเด่นมากที่สุดคือปูอัด เฉพาะยอดขายปูอัดอย่างเดียว 3,600 ล้านตันต่อปี คิดเป็นกว่า 65% ของยอดขายของ PFP ทั้งหมด จากสินค้าทั้งสิ้นกว่า 92 ชนิด

พริษฐ์ อนุกูลธนาการ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ เทรดดิ้ง จำกัด (พีเอฟพี) ผู้ผ่านประสบการณ์ทำธุรกิจค้าปลีกร่วม 10 ปี ทั้ง jiffy และ 7-eleven บอกว่า แนวทางการทำตลาดใช้ below the line เป็นหลัก

“เน้นทำกิจกรรมในโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ผ่านผลิตภัณฑ์ปูอัดสติ๊ก ใช้ mascot ให้เด็กจดจำสินค้าได้ และร่วมกับชมรมรถเข็นเสียบไม้ ทำป้ายให้เขา สร้างดีมานด์ให้เขาไปผลักดันเอเย่นต์ให้เลือกสินค้าเรา เพราะจะไปหวังพึ่งเอเย่นต์โดยตรงจะลำบากกว่า”

ทั้งนี้การโปรโมตแบรนด์ PFP ผ่าน core product คือ ปูอัดซูริมิ ด้วยการทำสถิติปูอัดยักษ์และก้ามปูเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในงาน Thaiflex 2005 เมื่อต้นปี เป็นการใช้สถิติโลกมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจให้กับตราสินค้า โดยเป็นแผนส่งเสริมให้ PEP เป็นเจ้าแห่งปูอัดให้ได้ ด้วยการเป็น value added products เช่น ใส่กลิ่นต่างๆ ลงไป ให้ปูอัดมีสีสัน และเป็น variety of choice มากขึ้น

แม้ PFP จะปรากฏใน modern trade เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความคิดริเริ่มชองนักการตลาดคนเดิม คือ ศ.เจริญ วรรธนสิน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับ PFP มาตั้งแต่ต้น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอกับการทำตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับพรานทะเล ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งอีกรายที่ทุ่มทุนสร้างแจ้งเกิดแบรนด์ได้ภายในเวลา 1 ปี กรณีของ PFP ดูจะยากกว่าตรงที่ปล่อยให้แบรนด์ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปี อย่างไร้ชื่อในใจผู้บริโภค มี brand awareness เฉพาะกับคู่ค้าธุรกิจเท่านั้น

โลโก้ใหม่ ถูกปรับเปลี่ยนจากเดิมเล็กน้อย ดูทันสมัยมากขึ้น “คนจะจำสีถุง เวลาซื้อก็จะบอกคนขายว่า ปูถุงสีน้ำเงิน พอเปลี่ยนถุงคนก็จำไม่ได้ว่าเป็นแบรนด์อะไร นี่คือปัญหา” พฤตษ์ บอกกับ POSITIONING