ทรูต้องซื้อ “ยูบีซี”

ต้องนับว่าเป็น “ดีลซื้อกิจการ” ที่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจเคเบิลทีวีในอนาคต จากการที่ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัดสินใจซื้อหุ้นทั้งหมด 30% ของ MIH ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวี จากอาฟริกาใต้ ที่ถืออยู่ใน “ยูบีซีเคเบิลทีวี” ทำให้ทรูกลายเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว

แต่เนื่องจาก “ทรู” นั้นมีหนี้สินอยู่จำนวนมาก คำถามที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับจากผู้สื่อข่าวในวันนั้นจึงวนเวียนอยู่กับการอธิบายถึงที่มาของเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้น และสาเหตุของทรูต้องซื้อหุ้นยูบีซี และจะเกิดอะไรขึ้นกับยูบีซีหลังจากนี้

ศุภชัย ชี้แจงว่า เนื่องจากธุรกิจของทรูจะต้องมุ่งไปสู่เรื่องไลฟ์สไตล์ การนำเทคโนโลยีมาใช้กับชีวิตประจำวัน ซึ่งธุรกิจเคเบิลทีวี “ยูบีซี” จะเป็น “จิ๊กซอว์” เป็นประโยชน์มาก เพราะการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีเนื้อหา (content) เช่น บริการบรอดแบนด์ทีวี เป็น 1 ในเป้าหมายที่ต้องเกิดขึ้นในเร็ววัน

เขาเชื่อว่า การตัดสินใจครั้งนี้ยังนำไปสู่การเป็นทิศทางใหม่ของการเป็นผู้ให้บริการแบบ Tipple Play คือ บริการเสียง บวกข้อมูล และเนื้อหา ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการทุกหนทุกแห่ง

“คงเป็นเรื่องยากหากจะทำตามวิสัยทัศน์เหล่านี้ หากทรูไม่ได้เป็นหุ้นส่วนใหญ่ในยูบีซี เพราะในอนาคตยูบีซีเองก็ต้องเดินเข้าสู่ทิศทางเดียวกัน ต่อไปเราจะเห็นได้ว่า บรอดแบนด์ทีวีและเคเบิลทีวี จะค่อยๆ ทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ และเพื่อไม่ให้เกิด conflict วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด เป็นดีลที่ win win เพราะ MIH ก็ได้ราคาหุ้นที่ดี”

ที่มากไปกวานั้น น่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดของ “ยูบีซี” เริ่มคลี่คลายลง เริ่มจากรายการต่างประเทศที่ยูบีซีนำมาออกอากาศนั้น ไม่ได้มีการตัดโฆษณาออก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของยูบีซีถูกลง เพราะไม่ต้องจ้างทีมงานมาทำหน้าที่ดังกล่าว

ที่สำคัญ “ทรู” นั้นน่ามีความมั่นใจพอสมควรกับการที่ “ยูบีซี” จะสามารถโฆษณาได้ หลังจากที่คณะกรรมการ กสช. ถูกจัดตั้งขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นจริงเท่ากับเป็นการ “ปลดล็อก” ครั้งสำคัญของยูบีซี เพราะนอกจากจะทำให้ “ยูบีซี” มีรายได้จากโฆษณาแล้ว ยังนำไปสู่การบริการ ทีวีออนดีมานด์ หรือ บรอดแบนด์ทีวีในอนาคต

การซื้อกิจการในครั้งนี้ ยังได้รวมเอากิจการไอเอสพี (internet service provider) “เคเอสซี” ซึ่งเป็นกิจการที่ MIH ซื้อมาด้วย ศุภชัยให้เหตุผลว่า ความน่าสนใจของเคเอสซีอยู่ที่การมีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกค้าองค์กร เท่ากับว่าจะทำให้ฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตของทรูเพิ่มขึ้นทันที

ส่วนดีลนี้จะทำให้อัตราค่าบริการของ “ยูบีซี” ถูกลงหรือไม่ ศุภชัยบอกแต่เพียงว่า “ลูกค้าน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น” คือคำตอบสุดท้ายของเขาในวันนั้น