ห้างหรูที่ถูกซื้อรายแรกในสหรัฐฯ

การที่ Neiman Marcus ถูกซื้อ อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของฤดูกาลแย่งซื้อห้างหรู

The Chair เป็นเก้าอี้ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้สูงเท่ากับเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถนั่งเลือกเครื่องสำอางได้อย่างสบาย และนอกจากจะสูงถึงเคาน์เตอร์เครื่องสำอางแล้ว เก้าอี้นี้ยังถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันให้งามสง่าดุจบัลลังก์ของเจ้าหญิง โดยเพิ่งออกแบบปรับโฉมใหม่ไปเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากที่มีการทดลองใช้มาแล้วหลายรอบ

Neiman Marcus ห้างสรรพสินค้าหรูของสหรัฐฯ เป็นเจ้าของเก้าอี้พิเศษนี้ โดยหวังว่ามันจะช่วยทำให้ลูกค้าประจำของห้าง คือนักธุรกิจสาวที่ใส่ใจในแฟชั่นอายุระหว่าง 28-60 ปี และมีรายได้ 85,000 ดอลลาร์ต่อปี ถูกตรึงติดกับเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง

The Chair เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า เหตุใด Neiman จึงกลายเป็นห้างยอดนิยมของลูกค้าที่ชอบช้อปสินค้าหรูหรา และช่วยอธิบายเหตุผลที่ห้างหรูแห่งนี้ถูกซื้อไปในเดือนพฤษภาคม โดยกองทุนระยะยาวร่วมลงทุน (private equity) 2 แห่งคือ Texas Pacific Group และ Warburg Pincus ด้วยเงิน 5.1 พันล้านดอลลาร์

และสิ่งที่ไม่เหมือนกับข้อตกลงซื้อกิจการค้าปลีกดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดการซื้อคือมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านของกิจการค้าปลีกเหล่านั้น แต่สินทรัพย์ที่ดีเลิศที่สุดของ Nieman คือความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อห้าง

การซื้อ Nieman นับเป็นการซื้อห้างขายสินค้าหรูรายแรกในสหรัฐฯ ในรอบ 10 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของสงครามแย่งซื้อกิจการค้าปลีกสินค้าหรู ในหมู่กองทุนระยะยาวร่วมลงทุน และกองทุนเก็งกำไร (hedge fund)

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่า Neiman คือกิจการค้าปลีกสินค้าหรูที่ดีที่สุดของแวดวงค้าปลีกสินค้าหรู ซึ่งมีรายได้ 92,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดย Neiman ได้รวมเอาข้อดีของห้าง Bergdorf Goodman และ Saks Fifthe Avenue เข้ามาไว้ในตัวเอง

ยอดขายเปรียบเทียบภายในสาขาเดียวกันของ Neiman เพิ่มขึ้นตลอด 29 ใน 30 เดือนล่าสุด ซึ่งเป็นยอดขายที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า สูงทำลายสถิติและแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการค้าปลีกสินค้าหรู รายได้เฉลี่ยต่อตารางฟุตต่อปีที่ Neiman อยู่ที่ 555 ดอลลาร์ ในขณะที่ห้าง Saks Fifth Avenue อยู่ที่เพียง 350 ดอลลาร์

กุญแจความสำเร็จของ Neiman คือการบริหารที่เน้นความเสมอภาคเท่าเทียม และทีมพนักงานขายที่ดีเลิศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเรื่องรสนิยมและความต้องการของลูกค้าให้ห้างได้รับรู้ และสามารถจัดหาสินค้าที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

ฝ่ายบริหารของ Neiman จะเน้นว่า “การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า” มีความสำคัญมากกว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น ซึ่งเป็นปรัชญาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งห้าง Neiman โดย Herbert Marcus ผู้ก่อตั้งห้าง Neiman แห่งแรกขึ้นในปี 1907 ร่วมกับน้องสาวคือ Carrie และสามีของเธอ Al Neiman

ลักษณะของห้าง Neiman เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สวน และร้านขนมในที่เดียวกัน โดยมีภัณฑารักษ์ที่จะคอยดูแลในส่วนของพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการแสดงงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง บรรดาลูกค้าสาวๆ ของ Neiman ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาวสวยนักธุรกิจต่างกล่าวว่า ห้างนี้คือสวรรค์ยามพักทานข้าวกลางวันของพวกเธอ เพราะไม่มีที่ใดอีกแล้วที่คุณสามารถจะเพลิดเพลินกับการชมงานศิลปะ พร้อมกับลิ้มรสเค้กแสนอร่อย และช้อปปิ้งไปด้วยได้เหมือนที่ Neiman

พนักงานขายของ Neiman จะต้องผ่านการสัมภาษณ์หลายครั้ง และเข้ารับการอบรมการขายและการบริการถึง 125 ชั่วโมง รวมทั้งต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่นับการอบรมสั้นๆ ก่อนเข้างานทุกเช้า พนักงานขายของ Neiman หลายคนได้กลายเป็นเพื่อนของลูกค้า และได้รับเชิญไปในงานที่เป็นงานภายในครอบครัวของลูกค้าอยู่เสมอ

Neiman ไม่เปิดเผยค่าจ้างที่ให้แก่พนักงานขายของตน แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ค่าคอมมิชชั่นที่พนักงานขายของ Neiman ได้รับนั้น สูงกว่าพนักงานของห้างคู่แข่งอื่นๆ อย่างมาก