“หมึกล่องหน”

คลังข้อมูลของหนังสือ จะไม่ใช่อยู่ที่เนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนแผ่นกระดาษอีกต่อไปเท่านั้น แต่ด้วยปากกาและหมึกพิมพ์พิเศษทำให้ข้อมูล ภาพ และเสียง หลั่งไหลสู่สายตาผู้อ่านได้มากขึ้น เพียงแต่มีคอมพิวเตอร์ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เท่านั้น

เทคโนโลยีใหม่นี้พื้นฐานมาจากประเทศญี่ปุ่น นำเข้าและร่วมพัฒนาโดยบริษัทมีเดียแมกซ์ จำกัด ในเครือบริษัทอิมเมจิแมกซ์ จำกัด เพิ่งเปิดตัว ตั้งบูธในงาน Thailand Animation and Multimedia 2006 หรือ TAM 2006 และได้กระแสตอบรับจากผู้เข้าชมงานอย่างดี

แม่งานใหญ่ ”อารียา อิ่มธนาสาร” กรรมการผู้จัดการ มีเดียแมกซ์ อธิบายว่าต่อไปนิตยสารที่อ่านกันในวันนี้จะมีข้อมูลให้กับผู้อ่านมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า e-Scanner เพราะไม่เพียงเนื้อหาที่กองบรรณาธิการพิมพ์ในกระดาษเท่านั้น แต่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเพิ่มเติมอยู่ในแผ่นซีดี ที่ขายพร้อมกับหนังสือ และหากในอนาคตเทคโนโลยีบรอดแบนด์แพร่หลายมากขึ้นแล้ว ข้อมูลนอกเหนือจากหนังสือก็เชื่อมต่อไปยังโลกไซเบอร์อีกด้วย ด้วยวิธีการใช้งานที่แสนง่าย โดยใช้ปากกาที่ซื้อมาพร้อมกับหนังสือในราคา 400-500 บาท ซึ่งเปรียบเสมือนเมาส์คอมพิวเตอร์จรดลงบนเนื้อหาบนหนังสือ ข้อมูลที่อยู่ในแผ่นซีดี หรืออยู่ในอินเทอร์เน็ตก็จะโชว์บนจอคอมพิวเตอร์ทันที ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง

ยกตัวอย่างเช่น หากหนังสือเขียนถึงสูตรการทำอาหาร เมื่อนำปากกาจิ้มลงไป ภาพที่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ ก็จะมีการสาธิตการทำอาหาร ไม่ต่างอะไรกับรายการโทรทัศน์ที่สาธิตการทำอาหารเลยทีเดียว หรือเนื้อหาเกี่ยวกับแฟชั่นเสื้อผ้า ก็ยังสามารถใช้ปากกาเลือกเสื้อผ้า ชุด และสี ต่างๆ ให้นางแบบใส่ให้เห็น เดินไปเดินมาได้

ความสามารถของเทคโนโลยีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก แต่เป็นความลับสุดยอดที่ผู้บริหารมีเดียแมกซ์ไม่ขอบอกรายละเอียด เปิดเผยเพียงว่ามีการลงรหัสพิเศษในหมึก หรือการใช้หมึกพิมพ์พิเศษที่พัฒนามาจากหมึกล่องหน ที่คิดค้นโดยโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในจังหวัดโอซากาของญี่ปุ่น ส่วนที่เมืองไทยมีโรงพิมพ์รุ่งสินการพิมพ์ ที่เดียวพิมพ์ได้ และเป็นพันธมิตรกับมีเดียแมกซ์ คิดต้นทุนการพิมพ์สูงกว่าการใช้หมึกปกติประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์

นอกจากยอดขายจากการขายหนังสือในรูปแบบสมาชิกแล้ว ในหน้าโฆษณาสินค้าบนหนังสือก็ยังสามารถสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าที่มาลงโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ เช่น โฆษณารถยนต์ หากผู้อ่านอยากดูหนังโฆษณาก็สามารถใช้ปากกาสแกนดูได้

ไอเดียบรรเจิดขนาดนี้แล้ว ต่อยอดธุรกิจด้วยการจัดพิมพ์แค็ตตาล็อกเสนอขายสินค้าก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับมีเดียแมกซ์ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเดียแมกซ์เปิดตัวนิตยสาร Max Xociety เล่มละ 180 บาทแล้ว กลางปีนี้ก็จะมีแค็ตตาล็อกสินค้าที่จิ้มและคลิกสั่งซื้อ Delivery ถึงบ้าน

เป็นอีกทางเลือกสำหรับยุคนี้ ที่ต้องใช้การตลาดแบบเชิงรุกเท่านั้นถึงจะโดน!

Website

www.mediamax.co.th