กลยุทธ์จิบเบียร์ ชมวิถีไทย

“เราไม่ได้ส่งออกเบียร์ แต่เราส่งออกวัฒนธรรม” … “ทั้งอาหารและดนตรีก็ถือเป็นวัฒนธรรม และแน่นอนว่าเครื่องดื่มด้วย” จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุญรอดบริวเวอรี่ ตอบคำถามถึงที่มาของงาน “World Music & World Bar-BQ” 18 – 22 มกราคม ที่ลานริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการขยายนิยามสินค้าอย่างเบียร์สิงห์ให้กว้างขึ้นจนเกิดเป็นอีเวนต์การตลาดครั้งนี้ได้

บนเวทีที่มีเรือไม้ขนาดใหญ่สื่อถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้น มีการแสดงดนตรีประจำชาติจาก 15 ประเทศ เช่นจีน บราซิล ไอร์แลนด์ เอธิโอเปีย รวมถึงไทยที่มี “ขุนอิน” ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า และเทวัญ ทรัพย์แสนยากร นอกจากเสียงเพลงแล้วยังมีอาหารและแสดงวิธีทำจาก 12 ประเทศ เช่น มองโกเลีย อียิปต์ กรีซ และอาหารไทย ฝ่ายแขกรับเชิญก็มีทูตจากหลายประเทศมาร่วมชม

การเปลี่ยนแปลงไปในทาง “โกอินเตอร์” นี้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ไม่นานที่บุญรอดเพิ่งเปิดสำนักงานส่งออกในต่างประเทศ จากเดิมในอดีตที่สังเกตได้ว่าทั้งการโฆษณาและกิจกรรมที่สิงห์เข้าร่วมนั้นจะออกไปทางอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยเก่าแก่มาตลอด

“ที่ผ่านมาเราจัดงานแบบนี้ไปแล้วหลายร้อยครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นงานนานาชาติและใหญ่โตอย่างนี้” รวินทร์ ชมพูนุชธารินทร์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบุญรอดชี้ให้เห็นผลคาดหวังจากการจัดงานนี้ที่การตกแต่งที่เต็มไปด้วยโลโก้สิงห์ว่า “เมื่อแขกนานาชาติ นักท่องเที่ยวในงาน เห็นอาหาร ดนตรี อะไรก็นึกถึงเรา”

รวินทร์เผยว่า จากนี้ไปบุญรอดก็ต้องยึดถือระเบียบใหม่ที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ส่วนงานลักษณะนี้ไม่ถือเป็นโฆษณา แต่เป็นลักษณะการแสดงและออกร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม แต่อย่างไรก็ตาม รวินทร์ยอมรับว่างานลักษณะนี้คงแทนที่โฆษณาไม่ได้ เพราะโฆษณาตามสื่อนั้นเข้าถึงผู้ชมได้ทีละมากมายกว่ากันนัก