One of The Retro ICO

เบิร์ดกับฮาร์ท ถือเป็นศิลปินคู่แรกของเมืองไทย ที่โด่งดังเมื่อราวปี 85 กับอัลบั้ม “ห่างไกล”(2528) ทำให้มีงานในปีต่อมา กับชื่อชุด “ด้วยใจรักจริง” ซึ่งก่อนหน้ายุคของเขา วงอย่างชาตรี อินโนเซ้นส์ หรือวงคีรีบูน ได้เริ่มทำให้เพลงไทยสากล ให้เป็นที่นิยมของผู้ฟังมากขึ้น โดยก่อนหน้าที่ผ่านมาแนวเพลงสากลที่เป็นที่นิยมมักจะเป็น เพลงจากต่างประเทศอย่างเอลวิส หรือบีเทิลส์ ส่วนใหญ่ที่เป็นในช่วงยุค 60’s-70’s เขาสองคนอาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนคนหนึ่งของยุค 80’s ในเมืองไทยที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นในขณะนั้น

ถ้านับว่าคุณก็ถือเป็น Icon คนหนึ่งของ Retro ด้วย
ถ้าเป็นเบิร์ดกับฮาร์ท ผมก็ว่าใช่เหมือนกันนะ เวลาในงาน(เปิดตัวคลื่น Metropolis) ที่พี่ฮาร์ทเขาเป็นพิธีกร พอผมขึ้นไป อย่างแรกที่ทุกคนจะเห็น คือเบิร์ดกับฮาร์ทมากกว่าตัวของงานซะอีก ไม่ใช่พิธีกรกับ GM พี่ฮาร์ทก็บอกว่านี่ถ้าเปิดเพลง “ลืม” ก็จะกลายไปคอนเสิร์ต Retro แล้วนะ (หัวเราะ) ในส่วนหนึ่งเราอาจเป็น Icon หนึ่งของ Retro เพลงไทยในช่วงเวลานั้นด้วย

นอกงานแล้ว มีอะไรอย่างอื่นที่สนใจบ้าง
ตอนนี้ผมก็ยังร้องเพลงอยู่นะ เพราะ ณ วันนี้ ชีวิตการทำงานรู้สึกว่า ไม่ใช่การทำงานเป็นงานหลัก ทั้งที่ผมเองได้ไปร้องเพลงกับพี่ฮาร์ทก็มีคนจ้างนะ แต่มันจะเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าได้สนุก มีความคิดว่าอย่างปีหน้านี่จะครบรอบ 20 ปี เบิร์ดกับฮาร์ท จากนี้ถึงปีหน้าเลยคิดว่าจะทำอัลบั้มใหม่สักชุดหนึ่ง คอนเสิร์ตสักคอนเสิร์ตหนึ่ง แล้วว่าจะเขียนหนังสือกันสักเล่ม …ว่าจะเล่าประวัติของเรา ตอนนี้ก็นั่งคุยรื้อฟื้นกันเรื่องเก่าๆที่น่าเขียนมันก็น่าสนุกนะ

ด้วยบุคลิกของคุณที่โตขึ้นมาในเมืองนอก แล้วมาทำงานในอ.ส.ม.ท. ที่มีโครงสร้างค่อนข้างจะแข็ง มีการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
(หัวเราะ) อืม… จริงๆก็น่าจะมี Conflict เยอะ แต่ตอนที่ไปอยู่อเมริกาเนี่ย คุณแม่ก็ไปอยู่ด้วย อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ก็คือความนอบน้อมหรือประเพณีไทย เราไม่เสียมันไป ผมเขามาทำงานในองค์กรที่มันมีขั้นตอน หรือประเพณีบางอย่างอยู่ เราไม่ได้เข้ามาด้วยอารมณ์ฝรั่งที่คิดว่าเราเจ๋งนะ แต่เราเข้ามาแบบขี้เล่นๆมากกว่า อย่างเมืองนอกเขาทำงานไม่ได้มีลำดับมากมาย แต่ที่นี่มี Level ของการทำงาน พอพูดถึงผอ.ทีหนึ่ง ต้องถามว่าคนไหน อย่างเมืองนอก ระดับประธานเขาคุยเล่นได้เลยนะ แต่ในเมืองไทยมันต้องมีความพอดี ต้องมีความเคารพ เกรงใจ แต่ไม่ค่อยมีสิ่งนั้นมากเกินไป จนไม่สามารถทำงานได้ กลัวเขาจนไม่กล้าออก idea เป็นเรื่องของมุมมองในการทำงานมากกว่า

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสอนอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่ผมทำงานที่ต่างประเทศได้ประสบการค่อนข้างเยอะ มักจะได้วิธีการทำงานแบบฝรั่ง คือ Work hard, but play hard คือในการที่ทำงานหนักนั้น มันต้องเล่นให้สนุกสนานเช่นเดียวกัน อย่างที่ผมยึดคือ You work to live ทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อการทำงาน ไม่เหมือนกันนึกออกมั้ย ถ้าจุดมุ่งหมายของชีวิตคือความสุข เราก็ทำงานเพื่อให้ได้ความสุข และทำงานเพื่อให้ได้เงินเพื่อที่จะนำไปสู่ความสุขเช่นกัน ไม่ใช่การทำงานเป็นชีวิต

ตอนนี้ยังรู้สึกว่ามีอะไรต้องเรียนรู้ ท้าทาย หรืออุปสรรค สำหรับชีวิตอีกไหม?
ผมว่า ตอนสมัยก่อนที่เรารู้อะไรไม่เยอะเท่าวันนี้ เราก็รู้ได้ว่าเราอยากเรียนรู้อะไร แต่ ณ วันนี้ ถ้าคนเราคิดว่าเรารู้มากขนาดไหน มันก็ยังมีสิ่งที่เรายังรู้ไม่มากอีกเยอะ ในส่วนตัวผมเองถ้ากำลังอยู่ในเส้นทางของความพอดี ในจุดหนึ่งผมเป็นคนขี้เล่น แต่จุดหนึ่งที่เราข้ามมาอยู่ในงานบริหารแล้ว มันไม่ค่อยจะเล่นบ่อย เพราะต้องมีความเกรงขาม หรือความเป็นผู้นำ ทำให้มันไม่น่านับถือ เพราะฉะนั้นถ้าตอนนี้พี่อายุ 40 แต่ ณ วันหนึ่งก็ต้องเล่นให้น้อยลง ตรงนั้นมันเป็นการปรับตัวระหว่าง 30-40…

มีคนพูดว่าผู้ชายชีวิตเพิ่งเริ่มต้นตอน 40
จริงๆมันก็ใช่นะพูดตรงๆ เพราะอายุ 40 คือความรู้มันน่าจะเพียงพอที่จะตัดสินใจอะไรได้ถูกต้องแล้วล่ะ มีทั้งเงินและความรู้ เพราะตอน 30 ก็มัวแต่ทำงานหาเงิน แต่ 40-50 ถ้ายังไม่สามารถใช้ชีวิตให้คุ้มได้ พอ 60 มันจะทำอะไรไม่ได้ อย่างตอนนี้ที่ผมอยากทำรายการโทรทัศน์ ผมกับพี่ฮาร์ทก็ต้องมาทำตอนช่วงนี้แหละ ถ้า 50 ก็คงจะไม่ไหว 30-40 ถือเป็นช่วงที่ต้องทำงานหนัก

เมื่อก่อน รู้สึกว่าเราพยายามมากเกินไปที่จะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ตอนนี้จาก MD (โซนี่) มาเป็น GM (อ.ส.ม.ท.) มันก็สนุกไปอีกแบบนะ (หัวเราะ) ถ้าเป็นแต่ก่อนก็คงมัวพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นเจ๋ง คิดแต่ว่า “เราทำได้ๆ และคุณต้องรู้ว่าเราทำได้ด้วย” ช่วงนั้นเราท้าทายตัวเอง ให้คนอื่นมาท้าทายตลอด กลัวตลอดว่าคนอื่นจะดูถูกว่าเราไม่เก่ง ณ วันนี้ก็สบายๆ เราเคยผ่านอะไรมามากจนไม่รู้ว่าจะต้องพิสูจน์อะไรให้ใครเห็นอีกแล้ว

เพราะเป็นนักร้องหรือเปล่า
นั่นด้วย… ถึงแม้วันนี้มันตลกมาก พี่เป็น MD ของโซนี่มิวสิคนี่ คนก็ยังมองว่าเราเป็นเบิร์ดกับฮาร์ท แต่ถ้าเมืองนอกไม่มี ตอนนั้นเราก็คิดว่า “เราเรียนมานะ” (หัวเราะ) เหมือนพิสูจน์ว่าร้องเพลงได้ ก็ทำอย่างอื่นได้ด้วยนะ (หัวเราะ) เรายอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นจะต้องให้ทุกคนต้องรู้ว่าเราเป็นสิ่งนั้น

ตอนนี้เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็จะนึกตลอดว่าเราเข้าใจชีวิตแล้ว แต่เชื่อแน่เลยว่า “อีก 5 ปี เราต้องมองว่าตอนนี้เรายังโง่อยู่เลย” (หัวเราะ)

บุคลิกที่สะท้อนผ่านสิ่งของที่ใช้ และไลฟ์สไตล์

ปากกา Montblanc
กุลพงศ์เพิ่งเริ่มสะสมปากกามาเมื่อ 4-5ปี เป็นปากกาด้ามแรกที่ซื้อเมื่อ 8 ปีก่อนที่ฮ่องกง ติดตัวตลอด ด้ามละ 12,000 แต่พอตอนหลังๆก็จะเริ่มซื้อแพงขึ้นเรื่อย “มีรุ่นที่ชอบมากอย่าง Star Walker ผมเป็นคนที่ติดปากกาตลอด ถ้าคุยกับผมแล้วไม่มีปากกาเนี่ยจะบอกขอยืมปากกา มาถือเล่นได้ไหม”

มือถือโนเกีย 6100
“ตอนแรกซื้ออะไรก็ได้ที่แพงที่สุด เคยซื้อรุ่นที่ถ่ายรูปได้ ทำอะไรได้หลายๆอย่าง แต่ปรากฏว่าเราใช้แค่โทรอย่างเดียว ก็เลยกลับไปหาเขาแล้วบอกว่า ผมขอรุ่นที่ไม่ได้รูป เอารุ่นที่จุความจำได้เยอะ แล้วก็จอสี โทรง่าย สะดวก จุเบอร์ได้เยอะ”

การแต่งตัว
“ธรรมดาผมเป็นคนแต่งตัวไม่ค่อยเป็น ที่ซื้อเองส่วนใหญ่จะเป็นสูทของ Valentino ไม่ก็ Culinan รองเท้าก็ไม่เท่าไหร่ ซื้อ Bally (รองเท้ายี่ห้อสวิตเซอร์แลนด์มีแบรนด์อายุเกือบ 150 ปี) ปีละคู่”

รถยนต์
แต่ก่อนเลยผมขับโฟล์ค พอเห็นฮอนด้าก็ไปซื้อมาขับ พอเก็บเงินได้ก็ซื้อเซฟิโร่ แต่จริงๆเหมือนคนเรามีกรรม พอมีเงินก็ซื้อบีเอ็มซีรีส์ 5 แต่ก็ยังอยากได้ซีรีส์ 7 อีก แต่พอได้คิดว่า 5 ล้านบาทนี่ซื้อบ้านได้เลยนะ ก็เลยถอยหลัง เพราะว่าถ้าเราซื้อ แสดงว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยบอกตัวเองว่าพอดีกว่า

ตอนนี้คิดอยู่ว่าถ้าจะซื้อรถคันใหม่ก็อยากซื้อ แบบ mini van มากกว่า รู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป แต่ก่อน 25 รู้สึกว่าอยากจะ show off สาว แต่ตอนนี้รู้สึกว่ารถมันมีไว้อยากที่จะไปกับครอบครัว ตอนนี้ผมมีลูก 2 คน 5 ขวบกับ 2 ขวบ ถ้าจะไปไหนภรรยาก็ต้องเอาพี่เลี้ยงไปด้วย