บัตรเดียวก็เกินพอ

บัตรใบเดียวในกระเป๋า เป็นทั้งบัตรใช้รูดซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือซื้อของที่ร้านเซเว่นฯหน้าปากซอย เป็นบัตรที่เงินเดือนเติมเข้ามาให้ทุกเดือน เป็นบัตรใช้ไปกดตู้เอทีเอ็มเบิกเงินสดมาใช้จ่าย เป็นบัตรจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เป็นบัตรใช้ขึ้นรถไฟฟ้า ทั้งลอยฟ้า และมุดดินก็ยังได้ หรือแม้กระทั่งเป็นบัตรใช้ซื้อกาแฟในร้านโปรดได้

บัตรพลาสติกใบเดียว สามารถทำให้คุณได้หลายอย่าง อย่างนี้จะไม่อยากใช้ได้อย่างไร

ความสะดวกแบบนี้ ทำให้มีส่วนสำคัญยิ่งในการกระตุ้นตลาดบัตรชำระเงินให้ยังมีโอกาสเติบโตในปี 2549 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เป็นการสร้างความต้องการให้ตลาด หรือลูกค้าที่ใช้บัตรไปโดยอัตโนมัติ เป็นการรักษาอัตราการเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548

ทั้งนี้ สมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในงานแถลงภาพรวมธุรกิจบัตรชำระเงินไทยปี 2548 และแนวโน้มธุรกิจปี 2549 ซึ่งเป็นงานให้ข้อมูลแนวโน้มธุรกิจบัตรประจำปีของวีซ่า ว่าปรากฏการณ์สำคัญของธุรกิจบัตรชำระเงินในปี 2548 มี 4 ประการ คือ

  1. การแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
  2. ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นข้อมูลสำคัญในการวัดอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้มากกว่าการนับจากจำนวนบัตร
  3. ประเภทของบัตรที่ออกสู่ตลาดมีความหลากหลาย และครอบคลุมลูกค้าประเภทใหม่ๆ มีการออกแคมเปญบัตรร่วมในลักษณะคู่ค้ามากขึ้น สนองผู้บริโภคที่มีรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) หลากหลาย เช่น บัตรสำหรับลูกค้าที่ชอบช้อปปิ้ง บัตรสำหรับลูกค้าที่ขับรถยนต์ ต้องเติมน้ำมัน และ
  4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อการชำระเงินประเภทใหม่ๆ เช่น บัตรติดชิป เพื่อความปลอดภัยของผู้ถือบัตรมีมากขึ้น

จากปัจจัยในปี 2548 ทำให้มียอดบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านใบ หรือคิดเป็น 23% เมื่อเทียบกับปี 2547 กว่าครึ่งเป็นการออกให้กับผู้ที่มีบัตรอยู่แล้ว โดยอัตราเฉลี่ยการถือบัตรเครดิตต่อคนมีสิทธิทำบัตร 3 ใบต่อ 1 คน ส่วนบัตรเดบิตเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านใบ หรือ 27% แนวโน้มธุรกิจบัตรชำระเงินในปี 2549 นั้น สมบูรณ์ระบุว่าการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้เล่นตลาดมีการพัฒนาให้เป็นตลาดที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ประเภทมุ่งตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ บัตรเครดิต บัตรพรีเมียม บัตรเดบิต บัตรพรีเพด บัตรสำหรับองค์กร และผู้อยู่ในตลาดจะหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจของวีซ่าในไทยนั้น ยังคงมองว่าคู่แข่งสำคัญของวีซ่าคือเงินสด จึงต้องทำตลาดในการดึงพฤติกรรมการของผู้บริโภคให้เห็นความสะดวกในการใช้บัตรแทนเงินสด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 3% ของมูลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 10% แต่เชื่อว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่สินค้าแพงขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันได้ขยายเป้าหมายจากเดิมที่มองว่าบัตรเครดิตจะเน้นกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ แต่ต่อไปจะเน้นการขยายไปในตลาดภูมิภาคด้วย

สำหรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์นั้น วีซ่าจะเน้น 4 ผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1.บัตรพรีเมียม ที่เน้นผู้ถือบัตรที่ต้องการใช้จ่าย และมีความสามารถใช้จ่ายสูง 2.บัตรเดบิต ที่คาดว่าจะเติบอย่างสูง เพราะมีสถาบันการเงินให้บริการมากขึ้น และมีเครือข่ายแพร่หลาย จนคาดว่าจะมีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านใบ และปริมาณการใช้จ่ายโตมากกว่า 20% 3.บัตรพรีเพด ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมีบัตรเครดิต และ 4.บัตรสำหรับองค์กร ที่มีโอกาสเติบโต แต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจให้กับตลาด

วีซ่ายังเล็งไปยังบัตรประเภทพรีเมียมที่มี “วีซ่า แพลตตินั่ม” และ “วีซ่า อินฟินิต” ที่แม้จะมีจำนวนผู้ใช้ในสัดส่วนที่น้อยเพียง 2-3% เพื่อเทียบกับจำนวนบัตรทั้งหมด แต่ปริมาณการใช้สูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องเดินทาง วีซ่าจึงยังคงให้ความสำคัญในการทำตลาด ด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์หลักของบัตร เช่น โปรแกรม Visa Platinum Golf ให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการสนามกอล์ฟได้ทั่วเอเชีย โดยคาดว่าจะมีสถาบันการเงินออกบัตรวีซ่า แพลตตินั่ม 2-3 ราย และวีซ่า อินฟินิต 1-2 รายในปี 2549

ขณะที่การทำตลาดบัตรเดบิตวีซ่านั้น จะเน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์และการใช้งานของบัตร เช่น Visa Debit Gold, Reward Point Program, SMS alert และเน้นการสื่อสารถึงประโยชน์ของบัตรแก่กลุ่มเป้าหมาย

ในส่วนของบัตรพรีเพด แบ่งเป็นวีซ่า พรีเพด และวีซ่า แคช เน้นกลุ่มผู้ที่ยังไม่สามารถมีบัตรเครดิต โดยพัฒนาและเพิ่มการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ใช้เป็นบัตรของขวัญ หรือเพื่อจ่ายค่าแรง หรือแม้กระทั่งบัตรบำนาญ คาดว่าจะมีผู้ออกบัตรพรีเพดอีก 1-2 รายในปี 2549

บัตรสำหรับองค์กร แบ่งเป็นวีซ่า คอร์ปอเรท, วีซ่า เพอร์เชสซิ่ง และวีซ่า บิสซิเนส ที่มีจุดเป้าหมายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินสด ช่วยอำนวยความสะดวกแก่บริษัท ผู้ทำการค้า ปริมาณใช้จ่ายต่อบัตรสูง เช่น ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย ลดต้นทุน เช่นในกลุ่มข้าราชการ ที่ข้าราชการต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ก็สามารถใช้บัตรเครดิตใช้จ่ายได้ โดยกำหนดให้หน่วยงานหนึ่งใช้งบไม่เกินจำนวนที่ตั้งงบประมาณไว้ โดยคาดว่าจะมีผู้ออกบัตรรายใหม่อีก 1-2 ราย

สมบูรณ์ยังให้ความเห็นถึงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การใช้บัตรเงินสดไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริโภคอาจยังไม่มั่นใจในเรื่องระบบความปลอดภัย ซึ่งตรงจุดนี้แต่แก้ไขด้วยการนำเทคโนโลยีชิปการ์ดมาใช้ แต่คงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีต้นทุนผลิตบัตรสูง ขณะเดียวกันด้วยความที่ประเทศไทยมีตู้เอทีเอ็มมากเกินไป ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการไปกดเงินเพื่อนำเงินสดมาใช้อีกทอดหนึ่งมากกว่า

ภาวะตลาดบัตรเงินสดในเวลานี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วตามหวังนั้น ยามนี้จึงยังคงมองเห็นว่าต้องใช้เวลาให้คนไทยเข้าใจ และมั่นใจในระบบ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คุ้นเคย และเคยชินนั้นเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง

ธุรกิจวีซ่า ประเทศไทย ปี 2548

รายการ บัตรเครดิต บัตรเดบิต
จำนวนบัตร 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2548 5.7 ล้านใบ 11.4
อัตราเติบโต (เทียบกับปี 2547) 23% 27%
ส่วนแบ่งตลาด 57% 80%
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร 315,000 ล้านบาท 16,000 ล้านบาท
อัตราเติบโต (เทียบกับปี 2547) 22% 16%
ส่วนแบ่งตลาด 69%

 

แนวโน้มประเภทผลิตภัณฑ์บัตรชำระเงิน ของไทยในปี 2549

ประเภท กลุ่มลูกค้า สัดส่วนลูกค้าทั้งหมด
1. บัตรเครดิต ผู้สามารถมีบัตรเครดิตได้ 90%
2. บัตรพรีเมียม กลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจจับจ่ายสูง
3. บัตรเดบิต ผู้ที่มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร 5%
4. บัตรพรีเพด ประชาชนทั่วไป 2.5%
5. บัตรสำหรับองค์กร บริษัท หน่วยงาน 2.5%

 

did you know?
ประเภทบัตรเครดิตวีซ่า

  • บัตรวีซ่า คลาสสิก สำหรับลูกค้าทั่วไปเงินเดือนตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป จำกัดวงเงินการใช้
  • บัตรวีซ่าทอง ฐานเงินเดือนขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน มีวงเงินใช้จ่ายสูงกว่า สิทธิประโยชน์ มากกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่ถือบัตรที่ต้องเดินทาง
  • บัตรวีซ่า แพลตตินั่ม สำหรับนักธุรกิจที่มีรายได้สูง เดินทางเป็นประจำ ให้วงเงินใช้จ่ายสูง บริการตรวจเช็กกระเป๋าเดินทางตลอด 24 ชั่วโมง
  • บัตรวีซ่า อินฟินิต สำหรับลูกค้าที่ถูกเชิญให้สมัคร มีฐานะร่ำรวย เดินทางต่างประเทศประจำ ไม่จำกัดวงเงินใช้จ่าย