เปิดบ้าน Big Brother ปี 2 ปั้นอย่างไรให้ดัง

“เรียลลิตี้โชว์ที่มีเรตติ้งชนะละคร” เป็นการจุดประกายความสนใจแรกให้ ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปดูงาน Big Brother ที่ต่างประเทศ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่ด้วยความไม่พร้อม ทั้งเรื่องสถานที่ และสื่อต่างๆ ระบบการโหวตผ่าน SMS รวมถึง multimedia ต่างๆ ที่จะช่วยดันให้เรียลลิตี้โชว์เกิดได้ จึงได้แต่รอเวลา

ปีที่ผ่านมา ความมุ่งหวังของศศิกรและกันตนาก็เป็นจริง ในการนำ Big Brother ปี 1 เรียลลิตี้โชว์ ออกอากาศ 24 ชั่วโมง มาออกอากาศ 24 ชั่วโมงทาง UBC

ถึงแม้ Big Brother ปีแรกจะไม่ดังทะลุฟ้า และเกิดคำถามมากมายขึ้นกับ “กันตนา” ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับ Academy Fantasia แต่เมื่อ “Big Brother ปีที่ 2” เริ่มขึ้น เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม สมาชิกในบ้าน Big Brother กลายเป็นกระแสข่าวเกือบทุกวัน

“ไอทีวี” ยื่นเวลา prime time 20.40 น. จันทร์-เสาร์ ถ่ายทอดเทปตัดต่อรายการ BB ITV Thailand รวมถึงรายการโปรโมตอื่นๆ ที่สร้างกระแสตลอดระยะเวลา 3 เดือนเศษของเกม ทั้ง BB Report ที่รายงานความเคลื่อนไหวและสีสันวันละ 3 เวลา จันทร์-ศุกร์ Hi-Light BB ทุกวัน 18.15 น. และปิดท้ายทุกค่ำคืนด้วย Inside BB ทุกวันตอนเที่ยงคืน

เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ วิทยุ กลายเป็นอาวุธสำคัญ ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกกระแส ข่าวสาร และสร้างแฟนคลับอย่างต่อเนื่อง

และนี่เอง ทำให้ “กันตนา” ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ กับการผลิตรายการ ที่จะมองแค่การผลิตป้อนทีวีอย่างเดียวไม่ได้

ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ MD สาวแห่งกันตนา ในฐานะ Reality Maker จะมาให้บอกเล่าถึงวิธีคิด และเรื่องราวของ Big Brother ตลอดจนทิศทางในอนาคตของกันตนา หาคำตอบได้ที่นี่

POSITIONING – ประเมินผลตอบรับของ Big Brother รุ่น 1
ศศิกร – เหมือนกับการดูละคร เริ่มต้นด้วยความแรง ไม่ชอบคนนั้นคนนี้ แล้วจบด้วย happy ending เหตุการณ์ทุกอย่างถูกคลี่คลายตอนจบ เช่น หยินมี่เป็นคนตรงแต่ดูร้าย ส่วนแห้วเป็นคนมองโลกในแง่ดี คือมันเป็นเรื่องจริงของชีวิตที่มีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีในตัว สิ่งไม่ดีจะถูกถ่ายทอดออกมาก่อน เพราะเราไม่คุ้นเคย สมมติเราเห็นหน้าคนบางคน เราไม่ชอบก็เป็นได้ แต่ต่อมานิสัยบางอย่างมีออกมาทำให้เราคุ้นเคย ปีแรกก็โดนวิพากษ์วิจารณ์หนักเหมือนกัน ทำไมนิสัยคนนี้เป็นอย่างนั้น นิสัยคนนั้นเป็นอย่างนี้

POSITIONING – Big Brother ของไทยแตกต่างกับประเทศอื่น
ศศิกร – ผู้ชนะแต่ละประเทศจะมีลักษณะไม่เหมือนกันเลย สังคมเอเชียจะยอมรับคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งสังคมยุโรปอาจไม่ค่อยมีคนด้อยโอกาสมากนัก ทางแถบยุโรปก็แบบหนึ่ง แต่ในเอเชียก็คล้ายกัน ฟิลิปปินส์ซึ่งทำเป็นประเทศที่สองในเอเชียถัดจากไทย คนชนะก็เหมือนกันกับของเรา อาจเป็นเพราะสังคมเอเชียยอมรับคนด้อยโอกาส แต่คนด้อยโอกาสแล้วต้องเป็นคนดีด้วย ถ้านิสัยแย่คงไม่มีใครยอมรับ แต่การด้อยโอกาสทำให้โดดเด่นและคนมอง มันบอกถึงวัฒนธรรมประเทศจริงๆ สังคมนั้นยอมรับคนประเภทไหน ซึ่งตุ้ยเป็นตัวแทนของคนด้อยโอกาส ซื่อสัตย์ สนุกสนาน สังคมไทยชอบคนตลก จริงใจ สนุกสนานและเสมอต้นเสมอปลาย ตุ้ยเลยได้ ก็จบซีซั่นหนึ่งไป

POSITIONING – เป็นฟอร์แมตที่บริษัทต่างประเทศเขากำหนดมาเลยว่า ปีแรกจะต้องเลือกคนแบบไหน ปีที่สองจะต้องเลือกคนแบบไหน
ศศิกร – ใช่ มันเป็นฟอร์แมตที่เจ้าของลิขสิทธิ์เขากำหนดไว้เลย ปีแรกโจทย์ของเราคือ “เกมชีวิตจริงของคนธรรมดา” เราเลือกคนธรรมดา เหมือนคนข้างบ้านเรา เหมือนตัวเราเอง เพราะปีแรกคนดูเวอร์จิ้นมากเลย ไม่รู้จักรายการ คนเล่นก็บริสุทธ์ คนดูก็บริสุทธิ์ คนเล่นก็มาเพื่อหวังรางวัล คนดูก็ไม่รู้จักรายการ เพราะฉะนั้นมันเรียลลิตี้จริงๆ เราต้องเลือกคนธรรมดา เพื่อให้ง่ายต่อการรู้จักรายการ สุดท้ายคนที่ชนะก็จะต้องได้รับการยอมรับของสังคมจะในบ้าน นอกบ้านก็แล้วแต่ มันจะบ่งบอกว่าคนในสังคมยอมรับคนประเภทไหน เรียลลิตี้ต้องทำให้คนรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนในบ้าน ปีที่แล้วตุ้ยซึ่งเป็นคนธรรมดาก็ชนะไป

พอมาปีที่สอง โจทย์เปลี่ยน เป็นจงคาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดหวัง คือ ให้ลืมปีแรกไปเลย ผู้เข้าแข่งขันในปีนี้ส่วนใหญ่จะหน้าตาดี มีจุดแตกต่างไปจากคนอื่น เป็นความตั้งใจของเรา เพราะถ้าคนดูจับทางถูก เดาได้ ว่าคนแบบตุ้ยจะชนะ มันจะเกิดการจับทางถูกขึ้นมา รายการจะล้มเหลวทันที ไม่สนุกแล้ว

ฟอร์แมตหลักยังเหมือนเดิม มีการเสนอชื่อ มีการโหวตจากคนดูทางบ้าน แต่ไม่รู้ว่าแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้น คือวางแผนไม่ได้ อย่างแรกเลย พอมาวันแรก เราเสนอชื่อให้ออกภายใน 24 ชม. เลย ก็ตกใจกัน เพราะทั้ง 14 คนเขามีการวางแผนหมดเลย บางคนเอาเทปมาดู คนดูก็จับทางได้ คนเล่นก็จับทางได้ เราก็เลยต้องเปลี่ยนทิศทาง จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์นี้ เพื่อให้เห็นว่าอย่ามาคาดหวัง อาจไม่ใช่สิ่งที่คิด

POSITIONING – การคัดเลือกสมาชิก เกี่ยวกับโจทย์ในปีที่สอง
ศศิกร – เราจะเลือกคนที่ไม่ธรรมดาในตัว ประกาศตั้งแต่ตอนรับสมัคร เขาไม่ธรรมดายังไง คำว่าไม่ธรรมดาอาจจะคิดว่าฉันหล่อมาก บางคนอาจจะบอกว่าฉันเป็นหมอ บางคนบอกฉันสวย อย่างอื่นอาจธรรมดา บางคนสวยแต่เป็น “สตั๊นท์แมน” แต่บางคนอาจไม่มีความสามารถพิเศษเลย แต่พอดูภูมิหลังเขาผ่านชีวิตอย่างนั้นมาได้ยังไง… ก็กว้างเหมือนกันนะ… แต่เขาต้องมาบอกเราให้ได้ว่าเขาไม่ธรรมดาตรงไหน และความไม่ธรรมดานั่นแหละจะเป็นเรื่องราวต่อไปในบ้าน Big Brother

ทั้ง 12 คนที่เราเลือกมา จะมี 12 คาแร็กเตอร์ 12 background เราเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์มาแบบหนึ่งก็จะแก้ปัญหาได้แบบหนึ่ง เรื่องราวไม่ได้เกิดจากการเขียนบท มาจากตัวคนที่มาเล่น เรื่องราวแบบหนึ่งแก้ไขคนละแบบ อย่าง “โอ้” เข้ามาตอนแรกสมาชิกจะกลัวมากเลย สัก เจาะเต็มหน้า แต่จริงๆ แล้วปรากฏว่าเขานิสัยอ่อนโยนมากเลย ช่วงที่ให้โหวตครั้งแรก โอ้ติดอันดับที่เกือบโดนออกจากบ้าน แต่พออยู่ไปแค่ 3-4 วันไม่มีใครเสนอชื่อเขาเลย ทุกคนยอมรับในความเป็น nice guy ของเขา

ปีนี้คนสมัคร 3 หมื่นกว่าคน น้อยกว่าปีแรก มีคนสมัคร 6 หมื่นคน เพราะไม่รู้ว่าต้องอยู่ 100 วัน เราใช้เวลาในการคัดเลือก 2 เดือน เพราะหลายขั้นตอนมาก ทั้งโทรเข้ามาและนัดหมายมาเจอตัว และกรอกใบสมัคร ก็มีแมวมองมาคอยดูตั้งแต่ยังไม่สัมภาษณ์ ดูจากใบสมัคร เราก็บอกคาแร็กเตอร์ได้ว่าเป็นคนยังไง บางคนเตรียมข้อมูลมาหนาปึก… บางคนไม่กรอกอะไร ว่างเกือบทั้งแผ่น เราก็สามารถวิเคราะห์ได้…

จากนั้นก็เรียกสัมภาษณ์ 300 กว่าคน ซึ่งกรรมการที่คัดเลือกมาจากจากกันตนา และ eldemo ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มานั่งดูเทปกัน ครั้งแรกเหลือ 100 คน จากนั้นเหลือ 50 และ 20 คน จนเหลือ 14 คนเข้าบ้าน เหลือ 6 คนเป็นตัวสำรอง…สิ่งสำคัญที่สุดผู้เข้ารอบสุดท้ายต้องแตกต่างกัน คนเหมือนกันก็อยู่ด้วยกันได้ก็ไม่สนุก ต้องแตกต่างกัน

POSITIONING – คิดอย่างไรถูกเอาเปรียบเทียบกับ Academy Fantasia ในแง่ความสำเร็จ
ศศิกร – บังเอิญมันเป็นเรียลริตี้ 24 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่รูปแบบไม่เหมือนกันเลย ของเขาจะเป็นการแข่งขันความสามารถ เป็นการประกวด ไม่มีการสอน แต่ของ Big Brother คือละครชีวิตจริง ไม่มีการประกวด แข่งขันเข้าไปใช้ชีวิต จะใช้ชีวิตยังไงให้อยู่รอดได้ ในสังคม 12 คน ถ้าเราอยู่ไม่ได้ในสังคมเล็กๆ จะอยู่รอดได้ยังไงในสังคมใหญ่ คือดูยากกว่า

POSITIONING – อะไรคือจุดแตกต่างทำให้กระแส AF แรงกว่า
ศศิกร – เป็นเพราะดูแล้วเข้าใจ Academy Fantasia ง่ายกว่า ดูแล้วชัดไปเลยว่าเขาต้องการไปเป็นอะไร คือไปประกวดร้องเพลง แต่ Big Brother คือการทำให้คนยอมรับได้ ไม่รู้ทำยังไง อาจจะอยู่เฉยๆ หรือว่าแสดงความสามารถพิเศษออกมา หรือมีพรสวรรค์ หรือนิสัยอย่างเดียวก็ยอมรับ คือมันจับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรมมาก คืออาจดูยากจริงๆ เหมือนเรานั่งดูละคร ดูละครสนุกได้ยังไง Big Brother ก็สนุกอย่างนั้น สุดท้ายเราจะเห็นเองว่าใครคือพระเอกในดวงใจเรา ใครคือนางเอก ใครคือผู้ร้าย ตัวอิจฉา

POSITIONING – อะไรคือ เรื่องราวที่ทำให้คนต้องสนใจ Big Brother
ศศิกร – เรื่องราวจะเกิดจาก 3 ประการ หนึ่งคือ ภารกิจ เช่น ภารกิจระหัดวิดน้ำต้องหมุน 24 ชม. เราไม่ได้ต้องการให้ระหัดหมุนทั้งเวลา แต่เราอยากเห็นว่าใครอดทน ใครขี้เกียจ ใครเป็นผู้นำ ผู้ตาม นิสัยเหล่านี้เราจะได้เห็นกันหมด ประการต่อมาคือ คาแร็กเตอร์ของแต่ละคน คนดูจะรู้จักตัวตนของผู้เล่นเร็วขึ้น จากภารกิจที่มาเร่งเร้า ช่วยดึงธาตุแท้ออกมาได้เต็มที่ และประการสุดท้ายคือ ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ไม่พอกิน การไม่ถูกชะตากัน ห้องน้ำห้องส้วมไม่พอเพราะเราสร้างไว้ให้แค่ 2 ห้อง

POSITIONING – การเลือกคนหน้าตาดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกันตนาต้องการเอาไปต่อยอด หรือปั้นให้เป็นดารา เพราะไหนๆ เขาก็เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว
ศศิกร – ส่วนใหญ่คนที่สมัครเข้ามาต้องการมีโอกาสในชีวิต เพราะคนที่มีอยู่แล้วไม่ต้องมาเสียสละชีวิตตัวเองให้คนอื่นดูตลอด 24 ชม. แต่ด้วยฟอร์แมตไม่ได้เป็นรายการสร้างดารา นางแบบ เขาสร้างคนให้เป็นคนมีชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับในสังคม กลายเป็น celebrity ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นดาราก็ได้ บางประเทศเขากลายไปเป็นนักเขียน ขายดิบขายดี แต่ก็มีบางคนที่พร้อมจะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง เราก็พร้อมต่อยอดให้ แต่ไม่ใช่ทุกคนเพราะไม่ใช่เป้าหมายของรายการ ปีที่แล้วหยินมี่ก็มาเป็นพิธีกร เป๊กกี้ก็มาเล่นละคร เป็นต้น

POSITIONING – สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดในการทำรายการนี้ คืออะไร
ศศิกร – คำถามที่ว่า เราจัดฉากหรือเปล่า เพราะเรียลลิตี้จะขาดเสน่ห์ทันทีถ้าเป็นการจัดฉาก เราพยายามเคลียร์ทุกอย่างว่าเกิดขึ้นจริง แต่เราใส่ภารกิจเข้าไป แต่การกระทำที่เกิดตามมามันมาจากแต่ละคน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในจุดนี้ เราเลยทำแคมเปญ 100 คนพิสูจน์บ้าน Big Brother สังเกตการณ์รอบบ้าน อย่างน้อยๆ เขาเหมือนตัวแทนคนดู ว่าการทำงานเราเป็นอย่างไร เพราะเราลงทุนติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อให้คนมามองว่าเราจัดฉากหรือ ถ้าอย่างนั้นเราไม่ลงทุนขนาดนั้น ก็จัดไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ

POSITIONING – นี่คือสิ่งสำคัญสำหรับ Reality Maker
ศศิกร – ต้องทำให้คนดูเชื่อว่า นี่เป็นเรียลลิตี้จริงๆ เขาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการ เข้ามาโหวตแสดงความคิดเห็น และต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ซ้ำแบบเดิม ถ้าเดาได้ก็ไม่สนุก ขนาดละครเดาได้ก็ไม่สนุก รู้ตอนจบก็ไม่น่าติดตาม

POSITIONING – ประสบการณ์สำคัญที่ “กันตนา” ได้รับจาก Big Brother
ศศิกร – มันไม่ใช่แค่รายการโทรทัศน์ มันเป็นคอนเทนต์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกสื่อ สำหรับทั้งทีวี บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรศัพท์มือถือ มันเป็นเนื้อหาที่คนดูเข้ามามีส่วนร่วม มีการตอบโต้ interactive ได้… หลายอย่างในบ้าน Big Brother เกิดจากคนดู มันเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เมื่อก่อนเราทำรายการทางเดียว แต่ Big Brother เป็นรายการโทรทัศน์ที่ถูกดีไซน์มาสำหรับ multimedia โดยเฉพาะ เป็นรายการที่สร้างสังคมๆ หนึ่งขึ้นมา การออก UBC ทำให้คนเชื่อว่าเป็นเรียลลิตี้เพราะออกอากาศ 24 ชม. เปิดดูตอนไหนก็เห็นตลอดเวลา ไม่มีผู้กำกับบอกบท การมีบรอดแบนด์ช่วยเพิ่มทางเลือกให้คนดู จะดูได้มากขึ้นมากกว่ามุมที่ออกอากาศ และมีรายงานสดในเว็บไซต์ตลอดว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และมี news alert ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ความเป็นเรียลลิตี้มีเสน่ห์ เพราะเปิดตอนไหนก็มีคอนเทนต์ แม้แต่ตอนหลับ นั่นก็เป็นคอนเทนต์อย่างหนึ่ง

POSITIONING – ในแง่คนทำ ได้ประสบการณ์ส่วนตัวอะไรบ้าง
ศศิกร – ได้เรียนรู้มาก ทำรายการเดียวเหมือนได้ทำ 10 รายการเลย เพราะต้องดูตลอด 24 ชม. มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา คนขอออก คนทำผิดกฎ แต่สิ่งสำคัญคือ นี่คือจุดสตาร์ทสำหรับการไปทำ new media อย่างอื่นต่อไปของกันตนา ประโยชน์ที่ได้รับจากรายการนี้คือโนว์ฮาว การที่จะคิดรายการขึ้นมาหนึ่งรายการ ต้องคิดถึงมีเดียอย่างอื่น ไม่ใช่คิดแค่ออกทีวีอย่างเดียว จริงๆ ประโยชน์ของคอนเทนต์นี่ต้องใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ให้คุ้มค่ากับการลงทุน

ตอน Big Brother ปี 1 ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักกันตนาขึ้นเยอะเลย เพราะไปกว่า 50 ประเทศ อย่างปีที่แล้วมีงานที่อาร์เจนตินา รวม Big Brother จากทั่วโลกมาฉาย เป็นคลิปสั้นๆ ของแต่ละประเทศ ซึ่งมันจะบอกถึงวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง บอกถึงสภาพสังคมของประเทศนั้นๆ พอต่างประเทศเห็นกันตนาทำ Big Brother ก็ติดต่อมา เขามองว่าเราเป็น production house ที่มีมาตรฐานสากล มาใช้ movie town ถ่ายทำรายการโฆษณา ถ่ายแฟชั่น เป็นธุรกิจที่เป็นผลพลอยได้ อย่างเราทำรายการคดีเด็ด เรื่องจริงผ่านจอ ดังยังไง พูดยังไงเขาก็ไม่รู้จัก แต่พอเราบอกว่าเราทำ Big Brother ทุกคนเดินเข้ามาคุยกับเรา อยากเข้ามา ร่วมทำ multimedia ให้เรา ทำ broadband ให้เรา

แม้รายได้จาก production house และ multimedia จะไม่ใช่รายได้หลักของเรา แต่เป็นการสร้างชื่อ โปรโมตกันตนาได้ และต่อไปจะเป็นไปตามเทรนด์โลกแม้จะต้องใช้เวลาพอสมควร บางประเทศรายได้หลักจะมาจาก multimedia อื่น แต่สำหรับเราต้องยอมรับว่ายังเป็นค่าโฆษณาอยู่ ไม่ได้มาจากออเดียนซ์โดยตรง

POSITIONING – อนาตต Big Brother Thailand
ศศิกร – ในต่างประเทศก้าวไกลมาก อย่างในแอฟริกาใต้ใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งมีตัวแทนมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เหมือนกับสแกนดิเนเวีย

แต่สำหรับในไทย ยังไม่ทราบว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะคนดูก็มีพัฒนาการ แต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน บางประเทศ 3 ปี 5 ปี 8 ปี มันต้องมีวิวัฒนาการ มีอายุของมันเหมือนรายการโทรทัศน์ทั่วไป ต้องรอดูว่าจะปรับหรือเปลี่ยนอย่างไร ขณะนี้เราเซ็นสัญญาเป็นปีต่อปี แต่สำหรับปีนี้กระแสแรงกว่าปีที่แล้วมาก แรงตั้งแต่วันแรกและเชื่อว่าจะไม่ตก