รวยเพราะซื้อแฟรนไชส์ ?

ชื่อหนังสือ : บริหารคน บริหารร้านสะดวกซื้อแบบมืออาชีพ
ผู้เขียน : เรียวอิจิ คูนิโตโม
สำนักพิมพ์ : ส.ส.ท.
จำนวนหน้า : 288
ราคา(บาท) : 200

ร้านสะดวกซื้อ เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของสังคมเมืองที่คนนอนดึกมากขึ้น และแฟรนไชส์ของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งไม่ต้องแข่งขันด้านราคา แต่ตำแหน่งที่ตั้งของร้าน และมาตรฐานบริการ คือจุดขายที่แข็งแกร่งธุรกิจ ก็มีคนเต็มใจซื้อกันอย่างกว้างขวาง
ปัญหาก็คือ คนที่ซื้อแฟรนไชส์มานั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะร่ำรวยเสมอหน้ากันทั้งหมด มีคนจำนวนไม่น้อยต้องคืนแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อคืนเจ้าของไป เพราะขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือประเภท How to เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการรายละเอียดชนิดหน้าต่อหน้า คำต่อคำ ตามสไตล์ญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า หากทำตามที่แนะนำทุกอย่างแล้ว น่ากลัวคนอ่านแทบไม่ต้องมีความรู้อะไรเลยก็คงทำได้แล้ว
ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะคนเขียนเป็นคนที่ละเอียดอ่อนที่จะไม่ยอมพลาดรายละเอียดที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปมากกว่า

แม้ว่าผู้เขียน (หรืออาจจะผู้แปล) จะไม่เอ่ยถึงร้านเชนสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดจนจบเล่มแล้ว อดคิดไม่ได้เลยว่านี้คือ คำแนะนำสำหรับลูกค้าแฟรนไชส์ของตราสินค้านี้อย่างแท้จริง

โดยทั่วไปแล้ว เจ้าของร้านค้าสะดวกซื้อหรือค้าขายไหนๆ ก็ตาม ที่เข้ามาซื้อแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง มักจะเป็นพวกผู้ประกอบการ ”มือใหม่ หัดขับ” เป็นส่วนใหญ่ ขาดความมั่นใจในตัวเอง และมีความรู้ในธุรกิจที่จะเข้ามาทำน้อยกว่าปกติ แต่ไม่อยากเสียเวลาในการเรียนรู้ที่จะยอมลำบากกับการทดลองไปทีละน้อย เพราะถือว่าเวลาเป็นเรื่องสำคัญ และที่สำคัญ “คนอื่นๆ เขาก็ทำได้” ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้แฟรนไชส์ร้านค้าปลีกทั่วไปประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

ผู้เขียนจับปัญหาของการบริหารร้านค้าออกมาเรียงร้อยแบบอนาล็อกกันเลยทีเดียว โดยตั้งสมมติฐานว่า เจ้าของร้านค้าแฟรนไชส์สะดวกซื้อรายหนึ่งที่ไม่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน ควรต้องทำอะไรบ้าง นับแต่การหาพนักงานเข้าร้าน การคัดเลือกพนักงาน และการอบรม การบริหารร้านค้า-สินค้า การบริหารลูกค้า การจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการ การจัดบรรยากาศในร้านค้า และการร่วมมือกับเจ้าของแฟรนไชส์ ภายใต้สมมติฐานว่า

โครงสร้างร้านค้าสะดวกซื้อที่ซื้อแฟรนไชส์นั้น ประกอบด้วยคน 3 ประเภทคือ
1) เจ้าของร้านและคู่สมรส
2) ผู้จัดการร้าน
3) พนักงานพาร์ตไทม์และเด็กฝึกงาน

ทั้งหมดนี้ มีตัวอย่างทั้งที่เป็นด้านบวกและลบให้เห็น แสดงถึงความอุตสาหะเก็บข้อมูลของคนเขียนได้ดีเยี่ยมทีเดียวชนิดที่ไม่มีข้อผิดพลาด

เพียงแต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการรับประกันให้กับร้านค้าที่ซื้อแฟรนไชส์มาทำกำไรอย่างโดดเด่น เพราะอย่างไรเสียก็คือแนวทางและคำแนะนำเท่านั้น

นักกีฬาที่ดีต้องลงสนาม และแข่งขันด้วยตัวเอง และชนะหรือแพ้ ก็ไม่ใช่เพราะคำสั่งสอนของโค้ชเป็นหลัก แต่ที่ตัวนักกีฬาเป็นหลัก

สำหรับคนที่ผ่านประสบการณ์ทำร้านค้าสะดวกซื้อมาแล้ว อาจจะรู้สึกว่า หนังสือนี้ ไม่ได้มีอะไรใหม่มากมายนัก และอาจจะเกินจำเป็นไปด้วยซ้ำ เพราะคู่มือที่เจ้าของแฟรนไชส์จัดการแนะนำมาให้นั้น ก็มากเพียงพออยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ และกำลังพิจารณาว่า ควรจะเข้าซื้อแฟรนไชส์หรือไม่ เป็นเรื่องการเรียนรู้ทางลัดที่จำเป็นทีเดียว

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับ ”มือใหม่หัดขับ” ที่ต้องนำมาใคร่ครวญเสียก่อนว่า จะรับมือกับเงื่อนไข”โหดหิน” ของการเป็นผู้ประกอบการตามที่หนังสือเล่มนี้ว่าเอาไว้ได้มากน้อยเพียงใด

อ่านจบแล้ว จะ ”ขายเต้าฮวยดีกว่า” ก็เชิญตามสะดวก

รายละเอียดในหนังสือ

บทที่ 1 คิดใหม่ได้แล้ว ไม่ใช่หาคนงาน หาทีมงานต่างหาก ว่าด้วยกระบวนการคัดสรรพนักงานใหม่เข้ามาทำงานในร้านสะดวกซื้อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยต้องคิดถึงเสมอว่า ต้องการทีมงาน ไม่ใช่พนักงานทีแปลกแยก

บทที่ 2 สอนอะไร สอนอย่างไร ให้เป็นงานได้เร็ว ขั้นตอนและเทกนิกผึกอบรมพนักงานให้คล่องแคล่ว และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามขั้นตอนต่างๆ จากง่ายไปยากและซับซ้อน โดยใช้ความมุ่งมั่นของเจ้าของร้านเป็นแรงขับและกระตุ้นที่สำคัญในฐานะต้นแบบ

บทที่ 3 ทำใจอย่างไรดี ในฐานะที่เป็นเจ้าของร้านและภรรยา ว่าด้วยสิ่งที่ควรทำและไม่ควรของเจ้าของร้านค้าสะดวกซื้อในเรื่องบทบาทที่เหมาะสมกับพนักงาน โดยไม่มองแค่เพียงว่าเป็นธุรกิจครอบครัว

บทที่ 4 เป็นมิตรกับลูกค้า เป็นกันเองกับพนักงาน หลักพื้นฐาน 4 ประการ ในการสร้างสมดุล เพื่อดูแลรักษาพนักงานไม่ให้ออก ในขณะที่ทำงานบรรลุตามเป้าหมายของเจ้าของ

บทที่ 5 ลองดูดีไหม ระบบจ่ายค่าจ้างตามความสามารถ การทดลองสร้างแรงจูงใจพนักงานให้เร่งศักยภาพในการทำงานมากขึ้น โดยอาศัยแนวคิดเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์และกำไรเสริมจากรายได้และค่าจ้างพื้นฐานที่พนักงานควรได้รับตามปกติ

บทที่ 6 ทำอย่างไรให้ลูกน้องบริการลูกค้าอย่างอบอุ่น ข้อบัญญัติที่ชัดเจนในการให้พนักงานปฏิบัติกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านสะดวกซื้อทั้งลูกค้าประจำ และลูกค้าขาจร ตามเวลา และสภาพลูกค้า เพื่อให้เกิดความผูกพันอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา

บทที่ 7 เข้มงวดเรื่องความสะอาด เด็ดขาดเรื่องความสด ไม่จับจดเรื่องขายของ การสร้างบรรยากาศที่ ”ชวนเข้าร้าน” ในด้านต่างๆ นับแต่สภาพแวดล้อม ความเป็นระเบียบ และบริการที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

บทที่ 8 เจ้าของร้าน-สำนักงานใหญ่ ร่วมแรงร่วมใจให้บริการเต็มร้อย หลักพื้นฐาน 4 ประการที่บริษัทเจ้าของ แฟรนไชส์และเจ้าของร้านค้าสะดวกซื้อที่ซื้อแฟรนไชส์ต้องกระทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมที่เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเสมือนหนึ่งหุ้นส่วนทางธุรกิจซึ่งกันและกัน