Cisco Academy โรงเรียนชีวิตจริงคนไอที

“วีรเชรษฐ กังสดาลกุล” หนุ่มวิศวกรวัย 25 ปี รับหน้าที่เป็นทัพหน้าประสานงานระหว่างหน่วยงาน Cisco Academy กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนโครงการ Cisco Networking Academy Program หรือ CNAP ให้บรรลุตามเป้าหมาย

วีรเชรษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์คภายใต้โครงการ CNAP ของ Cisco ที่เข้าไปร่วมสนับสนุนเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตร และพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์คร่วมกับมหาวิทยาลัย 38 แห่งทั่วประเทศ เพื่อผลิตนักศึกษาให้มีความรู้ด้านเน็ตเวิร์ค พร้อมสนับสนุนให้สอบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ของ Cisco หรือ Cisco Certificate เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดแรงงานด้านคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์คด้วย

“ผมเรียนจบหลักสูตร CNAP ของ Cisco ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัญสัมชัญในปี 2545 และผ่านการทดสอบ Certificate ได้คะแนนในระดับต้นๆ จึงมีโอกาสได้เข้าทำงานกับบริษัท Cisco” วีรเชรษฐ บอกกับ POSITIONIG

ล่าสุด วีรเชรษฐ ยังเป็นหัวหอกในการจัดโครงการ CNAP Networking Skills Competition 2006 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาโชว์ความสามารถด้านเน็ตเวิร์ค และค้นหาทีมผู้ชนะเป็นแชมป์ด้านเน็ตเวิร์คของ Cisco โดยคัดเลือกจากนักศึกษาภายใต้โครงการ CNAP จากทั่วประเทศ

เป็นการใช้กลยุทธ์ Contest Marketing เพื่อสร้างแบรนดิ้ง และสร้าง Idol เป็นโชว์เคสกระตุ้นให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหันมาสนใจเรียนรู้ด้านระบบเครือข่าย (Computer Network) มากขึ้น

“Computer Network เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝน รู้จักเครื่องมือ และต้องทดลองใช้เทคโนโลยีจริง เพราะเป็นฮาร์ดคอร์เทคโนโลยีที่ไม่สามารถพูดคุย และเข้าใจกันได้ทั่วไปในระดับคอนซูเมอร์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรม เรียนรู้ ผ่านหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน” อัศวิน กังวลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบาย

จึงเป็นโอกาสให้ Cisco ใช้กลยุทธ์ Experience Marketing ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านเน็ตเวิร์คไปให้กับสถาบันการศึกษาใช้ในการเรียนการสอน พร้อมพัฒนาเป็นหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้า ฯ เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสทดลองใช้เทคโนโลยีได้จริง เพื่อให้มีความสามารถเตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ

บุคลากรเหล่านี้นอกจากมีความรู้ด้านเน็ตเวิร์คของ Cisco สร้างโอกาสทำงานทั้งในบริษัท Cisco และบริษัทตัวแทนจำหน่าย และยังเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับแบรนด์ Cisco ในช่วงเรียนอยู่ตลอดหลักสูตร ส่งผลมีโอกาสสูงที่จะเลือก และตัดสินใจผลิตภัณฑ์ Ciscoหากมีโอกาสทำงานระดับผู้บริหารในองค์กรธุรกิจในอนาคต

“Cisco Systems เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากคณะศาสตราจารย์ที่มีความรู้ด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และไอที จากมหาวิทยาลัยเมื่อประมาณ 40 กว่าปีมาแล้ว ดังนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญกับภาคการศึกษา โดยตั้งหน่วยงาน CNAP หรือ สถาบันระบบเครือข่ายของ Cisco เป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร แต่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านเน็ตเวิร์คป้อนสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด”อัศวิน บอก

Cisco จำเป็นต้องจัดโครงการ Cisco Networking Academy Program ขึ้นครั้งแรกในปี 1998 เพื่อเข้าไปร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตร Computer Network โดยใช้เทคโนโลยีของ Cisco เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cisco

Network ไว้รองรับการขยายตัวของธุรกิจ พร้อมเป็นกลยุทธ์ Social Marketing เพื่อให้แบรนด์ Cisco เป็นที่ยอมรับในสังคม และสามารถต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้ง่าย

“ผมเชื่อว่าองค์กรที่ทำธุรกิจจะประสบผลสำเร็จไม่ได้ ถ้าสังคมนั้นไม่ Welcome มีแนวคิดเดียวกันกับการใช้ชีวิตของตัวเราเอง เราก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ หากเราไม่ Interactive กับคนรอบข้าง เพราะคนเราต้องมีสังคมที่ดี และได้รับการสนับสนุน เพราะฉะนั้นเราต้อง Keep สังคมไว้ เพื่อเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราจึงมักเห็นบริษัทที่ประสบผลสำเร็จในบ้านเรามักจะมีกิจกรรม Social Marketing แต่ก็จะมีรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป”

โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจไอทีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับตลาดการศึกษาเป็นอย่างมาก อาทิ ไมโครซอฟท์ ออราเคิล และซิสโก้ เพราะผลิตภัณฑ์ไอที อาทิ ซอฟต์แวร์ และระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ระยะเวลาเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานในระดับคอนซูเมอร์ หรือลูกค้าระดับองค์กร รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้เกิดความผูกพันกับสังคมไปให้นานที่สุด

เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่ตื่นนอน ทำงาน และหลับตาอีกครั้งในตอนกลางคืน แต่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยอมหลับ เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าตามไลฟ์สไตล์การใช้งานที่แตกต่างกัน

www.cisco.com
www.cisco.com/global/TH/cnap/competions2006

ลำดับความรู้ด้านเน็ตเวิร์คของ Cisco

1. CCNA (Cisco Certificate Network Associate) คือ ประกาศนียบัตรรับรองผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ Cisco

2. CCNP (Cisco Certificate Network Professional) คือ ประกาศนียบัตรรับรองผ่านการทดสอบความรู้ในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายที่มีความสลับซับซ้อน ตรวจสอบ วินิจฉัย และแก้ไขปัญหาระบบเครือข่ายได้

3. CCNE (Cisco Certificate Network Engineer) คือ ประกาศนียบัตรผู้ผ่านการทำสอบความรู้ด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในระดับสูงสุด

ที่มา : บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด

Did you know?

ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษา และผ่านการทดสอบจากสถาบันเครือข่ายของ Cisco ทั่วเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 98,000 คน โดยมีความพร้อมที่จะเข้าทำงานด้านระบบเครือข่ายและไอที ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 1,100 แห่ง

Tips:
1. ใช้กลยุทธ์ Social Marketing ด้วยการตั้งหน่วยงาน CNAP ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร เน้นการนำเทคโนโลยีใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อสร้างการแบรนดิ้ง และการยอมรับจากสังคม และง่ายต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต

2. ใช้กลยุทธ์ Experience Marketing ผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์เน็ต เวิร์ก และบุคลากรของ Cisco เข้าไปในมหาวิทยาทั่วประเทศ เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ ทดลองใช้งาน และมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์คของ Cisco รวมทั้งพร้อมออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

3. ใช้กลยุทธ์ People Marketing รับบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาผ่านหลักสูตร Computer Network ของ Cisco และผ่านการทดสอบ Cisco Certificate ให้เข้ามาทำงานจริง และเป็นผู้ประสานงานติดต่อสื่อสารกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นโชว์เคสให้นักศึกษามั่นใจ

4. ใช้กลยุทธ์ Contest Marketing ผ่านโครงการ CNAP Networking Skills Competition 2006 เพื่อสร้างแบรนดิ้งไปยังกลุ่มนักศึกษา สถาบันการศึกษาและสังคม