“บัญชา-คามิน” คู่หูการ์ตูนการเมือง

ตลอดกว่า 20 ปีชื่อ “บัญชา-คามิน” เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนการ์ตูนการเมืองได้อย่างโดดเด่น และได้รับความนิยมบริโภคสูงสุด กลายเป็นโลโก้หนึ่งควบคู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และโดดเด่นอย่างยิ่งในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ด้วยแนวความคิดที่แหลมคม และลายเส้นที่สวยงาม และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

หากเปรียบ “ชัย ราชวัตร” เป็นการ์ตูนนิสต์ที่ถือกำเนิดในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่โดดเด่นด้วยลีลาการ์ตูนล้อเลียนการเมืองยุคแรก และยังมีผลงานตีพิมพ์อยู่ในไทยรัฐหน้า 3 เรื่อยมา

“บัญชา-คามิน” ก็เป็นการ์ตูนการเมืองยุค 2 ที่เกิดขึ้นมาที่หลังในบุคลิกที่แตกต่าง ด้วยสูตรสำเร็จความลงตัวของ “ไอเดีย” ที่กลั่นกรองเหตุการณ์ และข้อมูลทางการเมืองจนตกผลึก ก่อนส่งต่อให้ “บัญชา” เป็นผู้ถ่ายทอดผ่านการ์ตูนลายเส้น เพื่อตีแผ่ประเด็นการเมืองได้อย่างเฉียบคม ปนทะเล้น ชวนหัวเราะ

ที่ผ่านมาการ์ตูน “บัญชา-คามิน” ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันถูกกล่าวถึงในฐานะการ์ตูนการเมืองที่แรง และคมที่สุด จนถูกนำไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 เพราะการ์ตูนของ “บัญชา-คามิน” กล้าชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านเนื้อหาและความรุนแรงในเหตุการณ์ผ่านการ์ตูนลายเส้นได้ชัดเจนที่สุด

POSITIONING ไม่มองข้ามและเลือก “บัญชา-คามิน” ให้เป็น 1 ใน 50 ผู้ทรงอิทธิพลในฐานะคอลัมนิสต์การ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

จนต้องขยายทีมงานเพิ่มเป็น “คามิน&เดอะแก๊ง” เพื่อสร้างการ์ตูนล้อเลียนการเมืองในรูปแบบ “ผู้จัดกวน” เข้ามาเติมมนต์เสน่ห์ และขยายเวทีการนำเสนอการ์ตูนล้อเลียนให้กว้างขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และสนองตอบความต้องการกลุ่มผู้อ่านที่กว้างขึ้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์การ์ตูนล้อการเมืองที่คมเข้ม กัดเจ็บ สร้างความแสบๆ คันๆ ให้กับบรรดานักการเมืองคู่กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาถึงทุกวันนี้

“คามิน” ให้สัมภาษณ์ POSITIONING แบบเป็นกันเองในช่วงเย็น ณ ร้ากาแฟด้านหน้าบ้านพระอาทิตย์ เขาปรากฏตัวในชุดกางเกงยีนส์ เสื้อยืดสีดำ รูปร่างสูง ผิวขาว หน้าผากกว้าง ใบหน้ายิ้มปนทะเล้นหน่อยๆ จิตนาการคล้ายบุคลิกในการ์ตูน “บัญชา-คามิน” ในมือถือ เขาโทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเอนด์ และเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ไอพอด (iPod Nano)

เขาเล่าว่า “ผมเริ่มงานเขียนการ์ตูนจากการแนะนำของคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ตอนนั้นแกเป็นนักเขียนในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ทำงานร่วมกันเรื่อยมา คุณสนธิเป็นคนสอน แนะนำ และช่วยให้พัฒนาตัวเองขึ้นมาในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้วชะตากรรมก็ทำให้ต้องแยกจากกัน โดยผมไปเรียนต่อเมืองนอก ส่วนคุณสนธิก็ทำงานผ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับนั้น ก่อนจะกลับมาร่วมงานกันใหม่ในผู้จัดการรายเดือน ตอนนั้นออกเป็นเล่มที่ 2 ในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊กประมาณปี 2526”

“คามิน” เริ่มงานในผู้จัดการในฐานะผู้ดีไซน์หน้าปกพ็อกเกตบุ๊ก ก่อนจะมาเป็นหัวหอกสร้างการ์ตูนการล้อเลียนเมืองที่มีสีสัน หลังจาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” เปิดหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในปี 2533 โดยออกวางจำหน่ายเป็นฉบับแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายนในปีนั้น “คามิน” จึงได้เวทีในการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในผู้จัดการรายวัน

“พอมีเวทีผมก็โชคดี มาเจอ “บัญชา” เขาเป็นคนเขียนการ์ตูนลายเส้น ความรู้สึกของการ์ตูนได้เก่ง ซึ่งเขาเป็นคนที่ให้ความรู้สึกในตัวการ์ตูนได้ดีกว่าผม จึงจับคู่กันเขียนการ์ตูนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยผมเป็นคนออกไอเดีย และให้แกเป็นคนเขียน”

เขาบอกว่า จุดที่ทำให้คนพูดถึงการ์ตูน “บัญชา-คามิน” เป็นช่วงจังหวะเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แม้การ์ตูนไม่ได้นำเสนอแตกต่างจากช่วงแรก แต่เป็นเพราะจุดยืนของหนังสือที่เน้นการนำเสนอข่าวการเมืองเชิงลึก จนกลายเป็นบุคลิก และสะท้อนมาที่ตัวการ์ตูน “บัญชา-คามิน” และถูกจับตามองมากขึ้น

“เนื้อหาหนังสือช่วงนั้น คุณสนธิพยายามให้นำเสนอข่าวสู้กับพวก รสช. เพราะฉะนั้นเราในฐานะการ์ตูนการเมืองก็กดเต็มที่ เพื่อนำเสนอการ์ตูนล้อเลียนการเมืองได้เจ็บที่สุด”

เขาบอกเหตุผลที่การ์ตูน “บัญชา-คามิน” ต่างจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะแตกต่างจาก “ชัย ราชวัตร” การ์ตูนในยุคแรก และโด่งดังในช่วงไล่เลียกันว่า “ผมเชื่อว่าการ์ตูนออกมาจากบุคลิกผม ผสมกับบุคลิกของคุณบัญชา ผมเป็นคนมองอะไรที่ค่อนข้างโฟกัสมากๆ ตัดรายละเอียดออก เลือกเอาเฉพาะมูลจริงๆ พยายามดีไซน์ภาพให้ง่ายที่สุด เพื่อให้เขียนการ์ตูนได้ง่าย และเมื่อเราไปจับประเด็นอะไรที่ฮอตสุดๆ งานจึงออกมาชัด คนจึงมองว่าเราค่อนข้างแรง หากเทียบกับคนอื่น”

ส่งผลให้การนำเสนอการ์ตูน “บัญชาขคามิน” ในรูปแบบนั้นสอดคล้องกับจุดยืนของหนังสือ ภายใต้การนำของ คุณสนธิ ซึ่งเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่ค่อยประนีประนอม แต่เลือกนำเสนอข้อเท็จให้มากที่สุด

“ตอนนั้นคุณสนธิ เปิดเสรีภาพให้เต็มที่ เราจึงเขียนทุกอย่างได้ตามข้อเท็จจริง โดยไม่มีใครมานั่งกลัวกับเรา”

“คามิน” ให้มุมมองว่า “งานเขียนการ์ตูนเป็นงานศิลปะ เป็นซิกเนเจอร์เหมือนกับลายเซ็น เพราะฉะนั้นงานจริงสะท้อนบุคลิกลักษณะคนทำงานออกมาด้วย” นั่นเป็นเหตุผลให้ความทะเล้น มุมองทางการเมืองที่สะท้อนถึงความมีกึ๋นออกมาผ่านการ์ตูนลายเส้นได้อย่างชัดเจน

ในอดีต “คามิน” เคยผ่านงานครีเอทีฟในวงการโฆษณา เขาจึงสามารถประยุกต์ไอเดีย และการคิดคอนเซ็ปต์ตีความเหตุการณ์ และข้อมูลออกมาเป็นตัวการ์ตูนได้ง่ายขึ้น

“งานโฆษณาจะมีกรอบ มีความคิด และความต้องการของลูกค้าจำกัดการคิดของเรา แตกต่างจากงานการ์ตูนที่เรามีเสรีภาพในการคิดได้กว้าง และเสนองานได้ตรงความเป็นจริงมากกว่า และหัวใจสำคัญของการ์ตูน คือนำเสนอได้เร็ว แตกต่างจากงานโฆษณาที่ต้องผ่านขบวนการขายงานลูกค้า คิดคอนเซ็ปต์ มีตีโจทย์เป็นโฆษณากลับไปนำเสนอลูกค้าอีก จึงต้องใช้เวลานานกว่า”

แต่กว่าจะได้คอนเซ็ปต์มาเขียนการ์ตูน “บัญชา-คามิน” ที่มีความถี่เป็นรายวันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการนำเสนอการ์ตูนบนพื้นฐานข้อมูล เหตุการณ์ และความเป็นจริง (Fact) สร้างความกดดัน และเพิ่มการบ้านให้ “คามิน” ต้องอ่านหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับทุกเช้า และเสพสื่อต่างๆ เพื่อหาข้อมูลในช่วงครึ่งวันเช้า ก่อนจะโทรเช็กข้อมูลจากแหล่งข่าว เพื่อยืนยันความจริงของข้อมูล

หลังจากนั้นพยายามตกผลึกสรุปประเด็น ก่อนยกหูโทรศัพท์เล่าคอนเซ็ปต์งานเขียนในให้กับ “บัญชา” ในฐานะมือวาดการ์ตูนคู่บารมี และคู่หูคนสำคัญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของเบื้องหลังคอลัมน์การ์ตูน “บัญชา-คามิน” ที่กว่าจะออกมาเป็นการ์ตูนล้อการเมือง 1 ชิ้นให้คนเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันได้ยิ้ม และทึ่งกับมุกทางการเมืองทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน หรือเริ่มทำงานในแต่ละวัน

“บัญชา-คามิน” จึงยังคงอยู่คู่สังคมการเมืองไทยต่อไป

Profile :

Name : คามิน (นามแฝง)
Born : 17 มิถุนายน 2493
Education :
– โรงเรียนช่างศิลป์
– ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยศิลปากร
– ปริญญาโทด้าน ILLUSTRATION, American Academy of Arts, USA
Career Hightlights :
เริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย และเล่มอื่นๆ จนปิดคามือไปหลายฉบับ แต่หนังสือพิมพ์ฉบับที่ทำงานอยู่ด้วยนานที่สุดคือ “ผู้จัดการ” ตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน
Family : สมรสแล้ว มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน และหญิง 1 คน และครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ