บัณฑิต อึ้งรังษี การเดินทางของวาทยกร

หลังจากที่ต้องฝ่าการจราจรของกรุงเทพฯ และอาการลุ้นเพื่อหาสถานที่ตามที่นัดหมายในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ กลับสดชื่นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อได้สัมผัสแรกหลังเปิดประตูเข้าสู่ห้องชุดคอนโดมิเนียมหรู คือโสตประสาทที่ขานรับกับเสียงบรรเลงเพลงคลาสสิก ที่อบอวลไปทั่วทุกตารางเมตร

“บันฑิต อึ้งรังษี” วาทยากรคนไทย แต่มีชื่อเสียงระดับโลก ยังต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น ด้วยภาพวิวสูงจากห้องชุดที่มองเห็นโค้งเว้าของแม่น้ำเจ้าพระยาแบบพาโนรามา และที่สำคัญคือ ”นาริศา” และ “แมรี่ เจน อึ้งรังษี” บุตรสาววัย 2 ขวบ กับภรรยาสาวสวยที่กำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ที่ให้ชีวิตชีวากับที่แห่งนี้ยิ่งนัก

การสนทนาที่ไม่อาจยืดเยื้อได้มากนัก เพราะ ”บัณฑิต” ยังมีนัดกับสื่ออีกแห่งหนึ่งเพื่อสัมภาษณ์และถ่ายภาพ อันเป็นกิจกรรมที่เขาทำประจำเมื่อมีโอกาสกลับมาอยู่เมืองไทยช่วงยาว และยิ่งในจังหวะชีวิตนี้ของเขา ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสุรา ”แสงโสม” ด้วยหนังโฆษณาที่ปรากฏผ่านสื่อโทรทัศน์เข้าถึงเกือบทุกบ้าน ด้วยเรื่องราวสะท้อนความสำเร็จของเขาในระดับสากล จึงทำให้คนไทยอยากรู้จักเขามากขึ้น

จากภาพผ่านจอทีวีดูเหมือนว่าเขาจะเคร่งเครียด แต่ตรงกันข้าม คือรอยยิ้มที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาระหว่างการพูดุคย แบบสไตล์ที่บางคนบอกไว้ว่า “คนชอบดนตรี มักจะใจดีเสมอ” แต่ที่ทำให้ถึงกับอึ้งตั้งแต่เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ คือความตั้งใจ และความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ที่สามารถทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จในระดับโลก อย่างที่น้อยคนนักจะทำได้

แรงขับ ”ทะเยอทะยาน”

“ผมขีดเส้นตายไว้ว่า อายุ 35 ผมยังไปถึงระดับนานาชาติ หรือระดับโลกไม่ได้ ผมก็เลิกเลย ผมไม่ยอมเป็นแค่ Conductor ที่ทำงานในประเทศเดียว และไม่ค่อยมีคนรู้จักในโลก”

“ตั้งแต่ตอนนั้น ก็พยายามให้ตัวเองเป็น The Best เพราะฉะนั้นเราต้องชนะตัวเองเท่านั้น ไม่สนใจคนอื่นว่าจะเก่งแค่ไหน อยากจะชนะตัวเอง อยากจะเป็น Master หมายความว่าในศิลป์และศาสตร์ของการ Conduct ผมอยากเป็นที่ 1 อยากจะให้เก่งที่สุด อยากจะเป็นปรมาจารย์ทางด้านนี้ พูดถึงเรื่องนี้แล้วเรารู้จริง”

ชัดเจนในการกำกับการวางเส้นทางอนาคตของตัวเอง ในแบบที่เรียกว่าต้องมีความทะเยอทะยานเท่านั้นจึงจะไปถึง

“เป็นความทะเยอทะยาน ใช่ และอยากทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติด้วย” บัณฑิตย้ำ

แรงขับจากความทะเยอทะยานทำให้ ”บัณฑิต” สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่าง ก่อนถึงเวลาที่ขีดเส้นตายไว้ โดยเฉพาะการได้รับรางวัลชนะเลิศ จากเวทีสุดยอดของการแข่งขันวาทยากรระดับโลก เมื่อปี 2546 เวทีคาร์เนกี ฮอลล์ (Carnegie Hall) มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขัน Maazel-Vilar International Conducting Competition ที่มีวาทยากรระดับฝีมือของโลกร่วมแข่งขัน 362 คน จากก่อนหน้านี้เขาได้รางวัลชนะเลิศมาแล้วหลายรางวัล และเป็นวิทยากรกำกับวงออเคสตร้าตั้งแต่อเมริกา ยุโรป และเอเชีย

แต่ใช่ว่าความสำเร็จจะได้มาอย่างง่ายดาย เพราะเมื่อ ”บัณฑิต” กำหนดอนาคตแล้ว ก็ต้องวางแผนให้ไปถึง ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะจุดอ่อนของตัวเอง ขณะที่วาทยากรคนอื่นๆ ในโลก ก็มีจุดแข็งมากมาย

“ผมต้องต่อสู้หลายด้าน อย่างแรกผมต้องเก่งกว่าเขา และมันมีเรื่องให้ต้องตามเขาอีกเยอะ เพราะคนอื่นเขามาจากประเทศที่เพลงคลาสสิกเป็นวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว ดนตรีคลาสสิกเป็นวัฒนธรรมของคนยุโรป ของคนต่างประเทศ ผมไม่ได้โตมาจากที่นั่น เราต้องตามเขา เราต้องไปตีตื้น สิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ต้องเรียนรู้เต็มที่ และยังต้องแซงเขาอีก

ในสาขาอาชีพผม เขามีอคติกับคนเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเอเชียที่เล็กๆ เขาเห็นเอเชียเขาดูถูกไว้ก่อนอยู่แล้ว ผมต้อง Fight ในจุดนี้นอกจาก Fight เรื่องความสามารถของตัวเอง ก็ต้อง Fight กับอคติจากคนอื่น ปัญหาเชื้อชาติ ปัญหาสีผิว ยังมีอยู่ มีบางวงไม่จ้างผม เพราะผมสีผิวต่างกับเขา ผมหัวดำ ไม่ใช่เรื่องเก่งสู้ไม่ได้ ผมก็เพิ่งมาเรียนรู้ตอนหลัง”

เพราะฉะนั้น ”บัณฑิต” ต้องซ้อมและต้องซ้อมอย่างหนักกว่าคนอื่นๆ หลายเท่า เพราะขณะที่เขาศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย ด้วยทุนจากทางบ้าน ทำให้เขาต้องเรียนเพื่อรับดีกรี 2 ใบ คือบริหารธุรกิจ เพื่อที่บ้าน และอีก 1 ใบการดนตรี เพื่อตัวของเขาเอง ด้วยฐานที่ปูพื้นมาแล้วบ้างจากเริ่มแรกที่เห็น Conductor คือผู้ที่แกว่งไม้ ”โบตอง” ไปมา หน้าวงดนตรีขนาดใหญ่ และไม่เข้าใจว่าเขาแกว่งไม้ทำไม

การปูพื้นฐานของเขาคือ การอ่านหนังสือทุกเล่มที่จะหาได้ ทั้งประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และศาสตร์ของการเป็นวาทยากร เพื่อให้รู้ทุกอย่าง รู้การทำวงดนตรี

“ผมยืนยันต้องชนะตัวเอง ต้องมีความสามารถเหนือเขาให้ได้ เพราะฉะนั้นผมจะตั้งเวลาซ้อมไว้เลย วันหนึ่งผมจะต้องทำงาน คือเรียน และซ้อม 14 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันครึ่งต่ออาทิตย์“

อุปสรรคเหล่านี้คือสิ่งที่ ”บัณฑิต” เพิ่งมารู้จักในภายหลัง แต่ก็ไม่มีสักนาทีเดียวที่ทำให้เขาท้อ เพราะแรงบันดาลใจอันแรงกล้า ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เขาอายุ 18 ปี ยังคงตรึงอยู่ในใจ

แรงบันดาลใจ

“อายุ 13 ปีผมเรียนกีตาร์คลาสสิก พออายุ 18 ผมได้ดูคอนเสิร์ตของวง New York Phiharmonic Orchestra เป็นคอนเสิร์ตระดับโลก เป็นวง Orchestra ประจำอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เป็นวง 1 ใน Top Five ของโลก

ตอนนั้นมีวาทยากรของเขา ชื่อ สุบิน เมห์ธา เป็นชาวอินเดีย ผมประทับใจในลีลา และประทับใจในตัวของเขามาก เห็นว่านี่แหละผมอยากเป็นแบบนั้น แต่ความจริงผมเล่นกีตาร์คลาสสิกตั้งแต่ ม.3 ผมก็เลยชอบ คุณครูก็โยนเพลงคลาสสิกมาให้อยู่เรื่อย

แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ สุบิน เมห์ธา เขามาจากประเทศที่ไม่ก้าวหน้ามาก ที่ไม่ใช่มหาอำนาจ แต่สามารถดันตัวเองขึ้นไปเป็นกำกับวงสำคัญที่สุดของโลกได้ เราก็มาจากประเทศเล็กเหมือนกัน แสดงว่าเรามีสิทธิ มีทางเป็นไปได้ จริงๆ ไม่ได้คิดเรื่องรายได้อย่างเดียว จริงๆ คิดว่าผมอยากเป็น อยากจะทำชื่อเสียงให้ประเทศสักอย่าง เพราะตัวเองไม่มีความสามารถด้านอื่น มีอะไรสักอย่างหนึ่ง อยากเป็นของโลกให้ได้”

ในช่วงนั้น ”บัณฑิต” มีความคิดแวบเข้ามาบ้างว่าอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่เหตุผลที่จะเป็นอะไรสักอย่างในชีวิตของมนุษย์เรา คงไม่เพียงพอเฉพาะตรงที่ความชอบเท่านั้น

“ผมชอบศึกษามากกว่าการซ้อม ผมชอบศึกษาบทเพลงของคีตกวีแต่ละคน ผมชอบเปิดอ่าน ดู Score (Musical Score : โน้ตเพลง) เพลงของ Orchestra ทุกเครื่องดนตรี Conductor คล้ายผู้กำกับหนัง ที่จะเห็นภาพรวมนักดนตรีเหมือนนักแสดง แต่ละคนรู้แต่บทของตัวเอง รู้ว่าตัวเองพูดอะไร แต่ผู้กำกับต้องมองภาพรวมหมดว่าแต่ละคนต้องประสานกันยังไง ตรงไหนดัง ตรงไหนค่อย ช่วงไหน ไปพร้อมๆ กันยังไง

ก็คิดว่าอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าเล่นกีตาร์แล้วจะไปทำมาหากินอะไร มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พอดูคอนเสิร์ตนั้นแล้วก็เห็น Conductor ก็เลยคิดว่า Conductor นี่แหล่ะ ถ้าได้เป็นระดับโลก รายได้เป็นกอบเป็นกำแน่นอน”

แม้ว่าความจริงแล้วธุรกิจของครอบครัวก็สามารถสร้างรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำได้ แต่เหตุผลของ ”บัณฑิต” คือว่า ”ไม่มีอะไรทำให้ตื่นเต้น ไม่มีอะไรที่ Make difference in the world ได้เท่ากับทำอะไรที่แตกต่าง”

Wall Paper ถึง ”ฝัน”

สำหรับคุณสมบัติที่ ”บัณฑิต” บอกว่าค้นพบว่าตัวเขาไม่มีและไม่น่าจะเหมาะกับการเป็น Conductor คือ เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก และไม่มั่นใจว่าจะพัฒนาได้ แต่ว่าเพราะเขาไม่พอใจกับตัวเอง

“ผมขี้อายมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีความเป็นผู้นำ เป็นคนที่อยู่หลังแถวเสมอ ไม่ได้ออกหน้าออกตาทำอะไร เป็นคนที่แบบว่า เป็น Wall Paper อยู่ติดกับฝาผนัง ไม่ค่อยมีบทบาทในหมู่เพื่อน ไม่ค่อยมีคนรู้จัก”

แต่วันนี้เขามาอยู่ในระดับแถวหน้า ท่ามกลางนักดนตรีนับร้อยคน และคนดูอีกนับพันคน และแม้จะได้รับรางวัลมาแล้วหลายปี แต่ ”บัณฑิต” ยังคงรักษาความเป็นสุดยอดของ Conductor ที่เขาบอกว่า ”ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ หมายความว่าไม่ใช่ชนะการแข่งขันแล้ว คิดว่าเราเก่ง ที่ไหนที่เขาเชิญเราไป ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง เราต้องทำผลงานให้ดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียชื่อ ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น

“คาร์เนกี ฮอลล์ คือเวทีใหญ่ที่สุด เป็นจุดสูงสุดของนักดนตรี ถ้าได้ไปคาร์เนกี ฮอลล์ คือคุณไปถึงฝันแล้ว ตอนนั้นที่ได้รางวัล ก็คิดว่าความฝันเป็นจริงแล้ว ถ้าทำได้แค่นี้ แล้วผมไปต่อไม่ได้เลย ผมจบตรงนี้ ผมก็โอเค ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด”

แต่ความ ”ฝัน” คือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของคนเราเสมอ

“ผมอยากอยู่ยุโรปสักเมืองหนึ่ง ไม่โรมก็ปารีส และก็มีวง Orchestra ของตัวเองสักวงหนึ่งในยุโรปกลาง ที่อิตาลี หรือฝรั่งเศส หรือเยอรมนี 3 ประเทศนี้”

Orchestra ในใจของ ”บัณฑิต อึ้งรังษี” กำลังเริ่มบรรเลงอีกครั้ง

Profile

Name : บัณฑิต อึ้งรังษี (ต้น)
Age : 35 ปี
Education :
– มัธยมต้น : โรงเรียนอัสสัมชัญ
– มัธยมปลาย : อัสสัมชัญพาณิชย์
– ปริญญาตรี : มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
– ปริญญาตรี : มหาวิทยาลัยวอลลองกอง ออสเตรเลีย 2 สาขา คือสาขาบริหารธุรกิจ และสาขาการดนตรี
– ปริญญาโท : มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา วิชาการอำนวยเพลง (สาขาวาทยากร)
– อื่นๆ : ศึกษาเติมจากอิตาลี ออสเตรีย รัสเซีย เยอรมนี และฟินแลนด์
Hornors :
– ปี 2542 ชนะการแข่งขัน ”วาทยากรรุ่นเยาว์ ระดับนานาชาติ กรุงลิสบอน โปรตุเกส
– ปี 2545 อันดับ 4 จากเวที The Hungarian TV-Radio International Conductor Competition กรุงบูดาเปสต์
– ปี 2546 ชนะเลิศ จากเวที Carnegie Hall มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขัน Maazel-Vilar International Conducting Competition
Status : สมรส -ภรรยา แมรี่ เจน อึ้งรังษี (นักร้องโซปราโน) -บุตรสาว 2 ขวบ “นาริศา อึ้งรังษี”