“ทหารของในหลวง”พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

ไม่มีเสียงคัดค้าน ไม่มีเสียงร้องยี้ มีแต่เสียงขานรับสำหรับผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ”พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน”

หากถามคนใกล้ชิดว่าเหตุใดท่านได้รับเสียงตอบรับมากมาย เมื่อเทียบกับผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนก่อนๆ โดยเฉพาะกองทัพในช่วงเวลาที่อยู่ใต้ระบอบทักษิณ เสียงตอบดังก้องประสานเสียงอย่างชัดเจนคือ ”พลเอกสนธิ” สามารถกู้ภาพลักษณ์ของทหารให้มีความอิสระ ปลอดการแทรกแซงทางการเมืองได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นช่วงปลอดจากเครือข่าย ”ชินวัตร” และยิ่งดูจากประวัติการผ่านหน่วยงานต่างๆ ในกองทัพมาแล้ว เรียกได้ว่าไม่ใช่ธรรมดา

พลเอกสนธิ เป็น ผบ.ทบ. คนแรกที่เป็นมุสลิม ซึ่งถือเป็นบุคลที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้ เป็นผู้ที่สมควรแก่เวลาในการขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เพราะอยู่ใน 5 เสือทบ.อยู่แล้ว ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 2 คน รองผู้บัญชาการทหารบก 2 คน และเสนาธิการทหารบกอีก 1 คน

ผบ.ทบ.สนธิ เป็นทหารในแนวทั้งบู๊ และบุ๋น ผ่านหน่วยงานสุดหินของโครงสร้างในกองทัพมาก่อนเช่นเดียวกับอีก 2 ผบ.ในยุคหลังๆ คือการเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับแม่ทัพภาค จึงเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อว่า ”แม่ทัพภาค 5 “

ไล่เรียงจากผบ.ทบ.คนที่ 28 พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผบ.นสศ. 2529 และคนที่ 31 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.นสศ. 2535 และคนที่ 34 พลเอกสนธิ ผบ.นสศ. 2545

ที่สำคัญอื่นใด เป็นทหารที่มีพลัง เฉียบขาด และจิตวิทยาสูง คำพูดแต่ละคำที่ออกมาล้วนแต่มีน้ำหนัก แสดงภาวะความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน ด้วยเนื้อหาไม่เลอะเทอะ รวมทั้งเวลาที่มีการประชุมระหว่างหน่วยขึ้นตรง ก็แสดงภาวะความเป็นผู้นำด้วยความกล้าตัดสินใจในประเด็นต่างๆ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2548 ท่ามกลางกระแสการเมืองคุกรุ่น ที่สามารถวางตัวให้สัมภาษณ์ในสถานการณ์การเมืองต่างๆ ได้อย่างสมดุล ระหว่างภาพทางการเมือง กับบทบาทของกองทัพ สามารถประเมินสถานการณ์ให้มีเส้นแบ่งไม่ให้กองทัพยุ่งกับการเมือง ไม่วางตัวว่าเป็น ”ทหารของระบอบทักษิณ” ไม่สนับสนุนการเมือง ขณะเดียวกันก็วางตัวให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็น ”ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ พลเอกสนธิจึงออกมาให้สัมภาษณ์ปราม

ผลงานปรากฏชัดช่วงต้นเดือนมกราคม 2549 ที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มร้อนแรงจากการชุมนุมของผู้ต่อต้านระบอบทักษิณ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณก็แสดงออกชัดเจน สังคมเริ่มแตกแยกแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายหนุน กับฝ่ายต้าน

จังหวะแรก “ผู้บัญชาการทหารบกได้เตือนให้ทุกฝ่ายให้รักและสามัคคีต่อกัน เพราะความมั่นคงของชาติ ผลประโยชน์ของชาติ และการอยู่ดีกินดีร่วมกันนั้น ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว”

เมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น กระทั่งพ.ต.ท.ทักษิณ เรียกผู้นำเหล่าทัพเข้าพบ ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2549 มีเพียง พล.อ.สนธิ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “นายกฯ ได้สอบถามถึงข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งในส่วนของทหารจะเข้ามาดำเนินการได้เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน” แต่ท่าทีของทหารที่ชัดเจน ที่ยังคงทำให้สังคมไทยไม่เจ็บปวดไปมากกว่านี้ คือสิ่งที่พลเอกสนธิบอกว่า

“เรียนท่านว่าถ้าทหารออกมาเร็ว มันไม่ดี รัฐบาลจะเสียหาย”

ขณะเดียวกันทหารก็ได้ใจจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยว่า

“การที่ผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมมาที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์นั้น ผมไม่รู้สึกเป็นห่วงอะไร เพราะผู้ชุมนุมยังชุมนุมกันด้วยความสงบ อยู่ในกรอบอย่างดี ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของโลกได้เลยที่มีการชุมนุมที่เรียบร้อยที่สุดในโลก เอาไปลงกินเนสส์บุ๊กได้ อีกทั้งงานข่าวยังไม่มีรายงานสิ่งบอกเหตุผิดปกติอะไร เพียงแต่ระบุว่าอาจจะมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งจะมากหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามาจากที่ไหนบ้าง สำหรับเรื่องการดูแลสถานที่ในส่วนของกองทัพบกก็เหมือนเดิม”

และด้วยความชัดเจนของกองทัพสมัยใหม่ คำให้สัมภาษณ์ที่ตอกย้ำจุดยืนของทหาร ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสให้คนไทยร่วมกันรักษาบ้านเมือง จากพลเอกสนธิคือ “กองทัพบกจะเร่งดำเนินการโดยเฉพาะการทำให้ทุกคนในชาติ มีความรัก ความสามัคคี สำหรับสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทหารจะไม่ปฏิวัติ เพราะถือเป็นวิธีโบราณที่ไม่มีใครทำกัน และคิดว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพูดคุยกันถึงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดยคำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประเทศชาติ“

แม้ว่าจะไม่ยุ่งกับการเมือง แต่การทำหน้าที่สนับสนุนงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.นสศ. ก็สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งกำลังร่วมในสงครามอิรัก การส่งหน่วยอารักขาพ.ต.ท.ทักษิณอย่างเต็มที่เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พลเอกสนธิยังเป็น ผบ.ทบ. ที่เปิดกว้างให้สื่อมวลชนเข้าถึงได้มากที่สุด และไม่พยายามเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ ซึ่งแน่นอน คือหลักการสร้างความประทับใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นศาสตร์จิตวิทยา ที่ต้องเรียนและใช้ในหน่วยรบพิเศษ เรียกว่า ”การปฏิบัติการจิตวิทยา” ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่หัวแถวจนถึงปลายแถว

แต่เรื่องเดียวที่คนใกล้ชิดได้ร้องขอว่าอย่าได้เปิดปากสัมภาษณ์ ผบ.ทบ. คนนี้เลยคือเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ด้วยหลักการที่ต้องการแยกระหว่างเรื่องครอบครัวกับงานให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นหากใครจะหาข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวพลเอกสนธิ ก็ต้องผิดหวัง เพราะแม้กระทั่งในเว็บไซต์ของกองทัพบก ที่ให้ข้อมูลเต็มที่เกี่ยวกับประวัติของอดีต ผบ.ทบ. ที่ส่วนใหญ่ระบุชื่อทั้งภรรยา และบุตร ธิดา แต่ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันไม่ระบุ

นี่เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน แต่ก็มากมายเกินพอที่แสดงให้เห็นถึง ”พลังของทหาร” ที่กลับคืนมา

Profile

Name : พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
Born : 2 ตุลาคม 2489
Education :
– มัธยมศึกษา โรงเรียนวันพระศรีมหาธาตุ
– โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6
– โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17
Career Highlights :
พ.ศ. 2526 : ผู้บังคับกองพันรบพิเศษ ที่ 2 กรมรบพิเศษที่ 1 (ผบ.รพศ.1 พัน.2)
พ.ศ. 2533 : ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 (ผบ.รพศ.1)
พ.ศ. 2542 : ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 (ผบ.พล.รพศ.1)
พ.ศ. 2545 : ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.)
พ.ศ. 2547 : ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบก (ผช.ผบ.ทบ.)
พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.)
Status : สมรส