อลังการความงามพันล้าน…สุวรรณภูมิ

“ใครเห็นก็ต้องเพ่งมอง” ผลงานการออกแบบและตกแต่งภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กล่าวว่ามีมูลค่าทางศิลปะนับพันล้านบาท โดยเฉพาะ 3 ภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ สุวรรณภูมิ ดาวดึงส์ แดนสรวงพิสุทธิ์ และ อนันตมหานคร ฝีมือทีมงาน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นไฮไลต์สำคัญ และเรื่องลับเฉพาะทางงานศิลปะ ที่น้อยคนนักจะล่วงรู้

ภายใต้ความอลังการของโครงสร้างเหล็กของอาคารสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกออกแบบอย่างทันสมัย สไตล์ยุโรป จากฝีมือของ Helmut Jahn สถาปนิกชาวเยอรมนี ยังมีศิลปะความงามที่ซ่อนอยู่ภายในอาคารสุวรรณภูมิ ซึ่งได้ออกแบบและตกแต่งให้มีกลิ่นอายของความเป็นไทย ตั้งแต่ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

1
ความอลังการงานศิลปะที่นับว่าเป็นไฮไลต์ที่สุดในอาคารสนามบิน เห็นจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบ Mural Painting ขนาดความสูง 4 เมตร ยาว 35 เมตร จำนวน 3 ภาพใหญ่ที่ติดตั้งไว้บริเวณฝาบริเวณจุดรับกระเป๋าเดินทางผู้โดยสารขาเข้า
งานศิลปะดังกล่าวเป็นฝีมือของศิลปินระดับมืออาชีพ 16 ท่าน โดยมี อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเจ้าของโครงการ และร่วมกับลูกศิษย์อีก 15 คนในการสร้างสรรค์งานวิจิตรบรรจงชิ้นนี้

อาจารย์ปัญญา เล่าว่า สนามบินสุวรรณภูมิถูกโจมตีว่ามุ่งแต่การใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบยุโรป ไม่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เมื่อบริษัท นนท์- ตรึงใจ และนักวางผัง จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานงานตกแต่งภายในอาคารสุวรรณภูมิ โดยมี ศ.ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ สถาปนิกตกแต่ง ได้ชักชวนทีมงานของศิลปากรเข้ามาช่วยในการวาดภาพ

“เป็นงานชิ้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมทำมา คอนเซ็ปต์การการออกแบบภาพจิตรกรรมถูกวางโจทย์ให้สร้างสรรค์สะท้อนออกมาถึงเอกลักษณ์ไทย ผ่านเรื่องราวดินแดนสุวรรณภูมิเป็นประเด็นหลัก ผมและลูกศิษย์ศิลปากร ซึ่งจบไปแล้ว จึงติดต่อไปยังเพื่อนๆ ศิลปินอิสระที่ถนัดงานจิตรกรรม ภาพลายไทย รวมกันได้ 16 คน ทำงานนี้ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่ทำกันมา”

2
ภาพจิตรกรรมมี 3 ภาพ ชื่อ สุวรรณภูมิ ดาวดึงส์, แดนสรวงพิสุทธิ์ และอนันตมหานคร เป็นภาพที่วางโครงเรื่องให้เล่าเรื่องราวต่อเนื่องกันทั้งสามภาพ บนเรื่องราวของ “ความเป็นไทยในดินแดนสุวรรณภูมิ”

ขั้นตอนการทำงานภาพจิตรกรรมดังกล่าว ใช้เวลาถึง 2 ปีเต็มในการสร้างจิตรกรรม 3 ชิ้นนี้ โดยเริ่มลงมือทำขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 โดเริ่มต้นจากขั้นตอนของการวางโครงร่าง ภายใต้โจทย์ที่วางไว้ มีการประชุมสรุปคอนเซ็ปต์ร่วมกันทั้ง 3 ภาพ

การวางโครงเรื่องถือเป็นจุดที่ยากมาก เพราะไอเดียที่หลากหลาย กว่าจะมาสรุปในจุดเดียวใช้เวลาค่อนข้างมาก หนึ่งปีเต็มสำหรับการวางโครงเรื่องและร่างภาพเล็กๆ ออกมา เพื่อขยายขึ้นเป็นภาพใหญ่ และใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็ม ในการลงมือวาด ลงสี

“มันยากทุกขั้นตอน เราต้องเช่าสถานที่ย่านพุทธมณฑลทำกัน แม้แต่การลงสี ยังต้องเลือกสีที่เหมาะสม ซึ่งงานชิ้นนี้ใช้สีอะคริลิกพิเศษแบบฝุ่นด้าน ซึ่งเป็นสีนำเข้าจากออสเตรเลีย เป็นสีที่ทำให้ภาพมีมิติ ลึก และดูละเอียดอ่อนในการสะท้อนเรื่องราวออกมา”

ความพิเศษของงานชิ้นนี้คือ ศิลปินทั้ง 16 คน จะแบ่งกันวาดเป็นชิ้นย่อยๆ ทั้งหมด 105 ชิ้น เพื่อมาประกอบกันเป็นภาพใหญ่ ศิลปินแต่ละคนจะแบ่งกันวาดตามความถนัด เช่น ใครถนัดลายไทย ก็เน้นให้คนนี้รับผิดชอบ ใครถนัดลงสีก็เน้นทำในความชำนาญของตน

“3 ภาพดังกล่าว พยายามเล่าเรื่องราวของความงดงามในเอกลักษณ์ของไทย ผ่านความเชื่อแบบไทยและวัฒนธรรมไทย โดยมีสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางจากอดีตสู่อนาคต”

งบประมาณการทำผลงานชิ้นนี้ อาจารย์ปัญญาบอกว่าใช้เงินไปประมาณ 10 ล้าน แต่ถ้าเป็นงบรวมทั้งหมดในการตกแต่งอาคาร ใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท

ไฮไลต์ของความงามภาพจิตรกรรม ยังไม่จบแค่นี้ ยังมีภาพ Mural Painting อีกหนึ่งชิ้นหนึ่ง เป็นผลงานของอาจารย์จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 37 ท่าน แต่ละภาพมีขนาด 60 นิ้ว คูณ 60 นิ้ว มาวางรวมกัน เป็นผลงานชื่อดังที่เคยจัดแสดงมาแล้วที่หอศิลป์จามจุรี เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนในมิติของความไทยได้อย่างน่าทึ่ง

3
หากประเมินคุณค่างานศิลปะเป็นตัวเงินของงานจิตรกรรม 3 ภาพที่ทำ อาจารย์ปัญญาบอกว่า ให้เอา 105 ชิ้น คูณ 800,000 บาท จะได้มูลค่าของภาพหนึ่งภาพ ซึ่งคิดคร่าวๆ ภาพหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 84 ล้านบาท ถ้ารวมมูลค่า 3 ภาพประมาณ 252 ล้านบาท
“ทั้งนี้ยังไม่รวมผลงานอีก 100 กว่าชิ้นของศิลปินชั้นนำในเมืองไทย 70 ท่าน ซึ่งนำตกแต่งแสดงรวมอยู่บริเวณทางเดิน อาคารผู้โดยสารขาเข้า ยังมียักษ์ 12 ตน มีศาลาไทย และบุษบก ควบคุมงานก่อสร้างโดย ศ.ฤทัย ใจจงรักษ์ จะเห็นได้ว่าถ้าวัดเป็นตัวเงิน ผลงานทั้งหมดน่าจะมีมูลค่ากว่าพันล้านบาท”

อาจารย์บอกว่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิตอนนี้เปรียบได้กับ Museum Art หรือพิพิธภัณฑระดับชาติ ที่โชว์งานศิลปะไทยสู่สายตาต่างชาติ หากเป็นไปได้ในอนาคตอยากจะให้รัฐบาลจัดสถานที่ หรือร้านจัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียนภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ทำให้นักศิลปะไทยได้ออกมาโชว์ความสามารถด้านนี้

“เนื่องจากผลงานที่จัดแสดงภายในอาคารสนามบินทั้งหมด เป็นการติดตั้งถาวร ไม่มีการหมุนเวียน หากจะเปลี่ยนก็ต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปี และต้องรื้อทั้งหมด” อาจารย์ปัญญาอธิบายทิ้งท้าย

ความหมาย 3 จิตรกรรมฝาหนัง

สุวรรณภูมิ ดาวดึงส์
เรื่องราวของภาพนี้ได้สื่อถึงดินแดนสุวรรณภูมิ เปรียบเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยจำลองภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามจินตนาการ ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยอดีตกาลของดินแดนบริเวณนี้ เพื่อสะท้อนเรื่องราวที่ให้เห็นว่านับจากนี้ต่อไป สนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทย

แดนสรวงพิสุทธิ์
สะท้อนให้เห็นถึงการชุมนุมเทพทั้งหมดที่อยู่บนสรวงสวรรค์ออกมาต้อนรับ โดยมีเทวดาหลักๆ 3 องค์ พระนารายณ์ พระพรหม และพระอินทร์ มีพระสยามเทวาธิราช ความหมายของเรื่องราวภาพนี้เพื่อให้เห็นการจุติที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อปกปักษ์รักษาสนามบินสุวรรณภูมิ ภาพนี้หากเพ่งมองอย่างลึกซึ้ง สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมชั้นสูงของไทย ในด้านงานศิลปะได้อย่างวิจิตรบรรจง

อนันตมหานคร แสดงถึงความยิ่งใหญ่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบันซ้อนกันอยู่ งานชิ้นนี้ยังเขียนขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงครองราชย์ 60 ปี และเป็นมงคลที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานนาม สุวรรณภูมิ ลองสังเกตให้ดี ภาพชิ้นนี้ยังมีไฮไลต์อีกอย่าง คือ การนำศิลปินทั้ง 16 คน และผู้เกี่ยวข้องในงานชิ้นนี้มาวาดลงในภาพด้วย

16 ศิลปินที่ร่วมสร้างงานศิลปะ

1. ปัญญา วิจินธนสาร
2. อลงกรณ์ หล่อวัฒนา
3. กนก เมฆมุสิก
4. ธัญญ์ ศรีหาบุตร
5. สนามชัย พวงระย้า
6. ธิบสีห์ จัทร์มณี
7. วิชัย รักชาติ
8. บุญพันธุ์ วงศ์ภักดี
9. พีระศิลป์ ดวงอิน
10. มหัทธนา ปฐมสุข
11. ปรมัตถ์ เหลืองอ่อน
12. ชัยยุทธ ชูทวน
13. วีระศักดิ์ เกื้อหลง
14. มนต์ชัย ขาวสำอางค์
15. สิทธิโชค ก้อนนาค
16. โกศล รักบรรจง

100 ภาพ 70 ศิลปิน

ภาพศิลปะที่จัดแสดงรอบๆ อาคารทางเดินเทียบเครื่องบิน บริเวณชั้น 2 เกือบ 100 ภาพ เป็นอีกหนึ่งความงามที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เลือกผลงานจาก 70 ศิลปินที่มีชื่อเสียง มาจัดพิมพ์ซ้ำ บนผนังแสดงภาพทั้งสิ้น 66 ผนัง ซึ่งผลงานทั้งหมดได้จัดแสดงไว้ในหลายๆ สถานที่ เช่น มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ศิลปะของรัชกาลที่ 9

ประติมากรรมยักษ์ 12 ตน

จุดไฮไลต์งานศิลปะความงามที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง ประติกรรมรูปหล่อยักษ์ 12 ตน ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารเทียบเครื่องบิน ยักษ์เหล่านี้เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นฝีมือการปั้นของช่างชาวจังหวัดอุทัยธานี ควบคุมงานโดย นนทิวรรธ์ จันทนะผะลิน มีคอนเซ็ปต์การสื่อถึงความยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม เหมือนเป็นผู้คุ้มครอง ป้องกัน รักษาความสงบสันติ ในสถานที่แห่งนี้

ชื่อยักษ์ 12 ตน ได้แก่ ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ อัศกันมารา จักรวัต อินทรชิต มังกรกัณฐ์ ไมยราพ สุริยะภพ ทศคีรีจันท์ ทศคีรีธร วิรุณจำบัง วิรุณหก