จาก… อวสานเซลส์แมน สู่…Mission Possible

5 ปี ของการอยู่ในอำนาจ และล่มสลายของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่เพียงแต่เป็นกรณีศึกษาการเมืองการปกครองของไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกรณีศึกษาด้านการตลาดที่ใครก็มองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าเปรียบเป็นสินค้าแล้ว ทักษิณ ชินวัตร เป็นสินค้าที่มีการนำกลยุทธ์การตลาดมาใช้แบบครบเครื่อง ทั้งการสร้างแบรนด์ ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสร้างภาพ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ Event กลยุทธ์การสร้างข่าว ชนิดที่ไม่มีรัฐบาลชุดใดทำได้ถึงเพียงนี้ ถ้าเป็นภาษาการตลาด ต้องเรียกว่า เป็นการตลาดแบบสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ IMC (Integrated Marketing Communication)

ทักษิณ เรียนรู้การใช้สื่อทุกรูปแบบ ทั้งฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, 11, ไอทีวี วิทยุชุมชนเพื่อโปรโมตผลงาน ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการตลาดแบบ Below the line มีการจัดEvent ทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อโปรโมตนโยบาย และบางครั้งก็ใช้แก้ปัญหา ชนิดที่สินค้าบางรายก็ยังต้องหลบให้

ช่วงที่รายการ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ AF ของยูบีซี โด่งดังเป็นรายการยอดฮิต ทักษิณ ก็ลงทุนจ้างให้ยูบีซีถ่ายทำรายการเรียลลิตี้ของนายกฯทักษิณ ในการลงพื้นที่อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อโปรโมตนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ตลอด 5 วัน 5 คืน

แต่ต่อให้การตลาดเยี่ยมยุทธ์ นโยบายเศรษฐกิจร้อนแรงเพียงใดก็ตาม หากสินค้าไม่ดี ก็ไปไม่รอด เช่นเดียวกับการล่มสลายของทักษิณ

เมื่อสินค้ามีปัญหา ทั้งเรื่องทุจริต คอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อนที่มาจากนโยบายประชานิยม แถมคนรอบข้างที่เปรียบเสมือนเป็นผลิตภัณฑ์รองเองก็มีปัญหา ก็ยิ่งเร่งให้ อวสานทักษิณมาถึงเร็วขึ้น

การสิ้นสุดของรัฐบาลทักษิณเป็นผลมาจากปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ทำให้กระแสตอบรับการขึ้นมาของ “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” ต่อการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 มีอย่างท่วมท้น

ถ้าเปรียบเป็นสินค้าแล้ว พลเอกสุรยุทธ์ เป็นสินค้าชั้นดี ที่มีจุดขายอยู่ที่ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย แถมการันตีด้วยตำแหน่ง “องคมนตรี” สมัยที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIME ให้เป็น 1 ใน 50 อาเซียนฮีโร่ จากการจัดการกองทัพอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสากล และนำทหารออกจากการเมือง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้มาโดยตลอด

ยิ่งพลเอกสุรยุทธ์ออกมาประกาศนโยบาย มุ่งเน้นให้ความสมานฉันท์ และเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชน ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลทักษิณ ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างของนโยบายอย่างสุดขั้วของสองนายกฯ

การนำหลักกลยุทธ์การตลาดมาใช้วิเคราะห์นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คน จะเป็นกรณีศึกษาอีกบทของนิตยสาร POSITIONING ที่จะสะท้อนถึงวิธีคิดและการทำงานของเราในอีกแง่มุมหนึ่ง โปรดติดตาม