เปิดตลาด 50-UP

ชื่อหนังสือ กลเม็ดเจาะเซฟวัยทอง
ผู้เขียน อนันต์ ยศพลวัฒน์ และ เรืองรุจ หงษ์ไทย
สำนักพิมพ์ โขง ชี มูล
จำนวนหน้า 171
ราคา(บาท) 175

พัฒนาการของสังคมไทย จากครอบครัวขยายมาสู่ครอบครัวเดี่ยว และโครงสร้างประชากรของไทยและของโลก ที่เปลี่ยนแปลงไป จากยอดจำนวนคนที่เสียชีวิตมีจำนวนลดลงเพราะสุขภาพที่ดีขึ้น และสงครามที่มีจำกัดลง ทำให้สังคมของคนในโลกเริ่มมีสัดส่วนของคนสูงอายุมากขึ้นทุกขณะ เมื่อเทียบกับคนวัยทำงาน

การเปลี่ยนแปลงพร้อมกันเช่นนี้ ทำให้มีคำถามว่า ในอนาคต ต้นทุนทางสังคมโดยรวมของแต่ละสังคมที่จะแบกรับภาระของคนสูงอายุและวัยทองจะมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง และทำให้เกิดคำถามว่า แล้วคนสูงอายุจะดำรงชีวิตอย่างไร

หนังสือเล่มนี้ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวว่าด้วยการรับมือกับประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพยายามมองให้วิกฤตกลายเป็นโอกาสขึ้นมา โดยมองเห็นว่า หากสามารถศึกษาพฤติกรรมของคนสูงอายุ และคนที่คาดว่าจะสูงอายุในอนาคต ก็สามารถที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมารองรับความต้องการของคนวัยทองและสูงอายุได้อย่างบรรลุความสำเร็จได้ไม่ยาก

เริ่มตั้งแต่การศึกษาพฤติกรรมการออม และการใช้ชีวิตประจำวันของคนสูงอายุ จากนั้นก็นำมาสร้างแผนธุรกิจเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าในแต่ละตลาด และแต่ละธุรกิจให้ตรงกับอุปสงค์ที่แท้จริงของตลาดได้

ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการเชื่อมโยงให้คนสูงอายุเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ชุมชนเฉพาะของตนเอง
หรือในธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งความปลอดภัยเป็นความต้องการสูงสุดของคนวัยดังกล่าว การสร้างหรือออกแบบบ้านที่ปลอดภัยทุกจุด เป็นเรื่องที่สามารถนำมาใช้เป็นจุดขายได้อย่างดี

ทั้งหมดนี้ เป็นการยืนยันว่า คนสูงอายุซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชนนั้น ไม่ใช่คนที่เปล่าประโยชน์ของสังคม แต่สามารถที่จะกลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและส่งผ่านประสบการณ์ที่สามารถซึมซับต่อไปในอนาคต

การวางตำแหน่งสินค้าและบริการ เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพ จิตสำนึก และความต้องการพื้นฐานของคนวัยทองและสูงอายุ จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม

ถึงแม้ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะถูกจำกัดด้วยขนาดของรูปเล่ม ซึ่งทำให้ไม่สามารถเจาะลึกถึงการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง หรือโอกาส และอุปสรรคทางธุรกิจได้เต็มที่นัก แต่ก็ถือเป็นการจุดประกายเบื้องต้นที่ดีว่า คนสูงอายุนั้น ไม่ใช่ต้นไม้ที่ผุพัง และไม่ใช่ซากชีวิตที่จะต้องนำส่งบ้านคนชราอย่างไม่แยแสอีกต่อไป

น่าอ่านสำหรับนำไปต่อยอดศึกษารายละเอียดอย่างเจาะลึกมากขึ้น

รายละเอียดในหนังสือ

ภาค 1. สถานการณ์ประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลก

บทที่ 1. แนวโน้มประชากรโลก ประชากรไทย ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ที่จำนวนคนตายน้อยลง ทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรในวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง จนกระทั่งสังคมโลกเริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

บทที่ 2. เตรียมตัวอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยทอง และวัยสูงอายุ (Aging Society) ว่าด้วยการวางแผนเพื่อเตรียมรับมือฐานะของคนสูงอายุเพื่อทราบถึงแนวคิดและพฤติกรรมของคนย่างเข้าสู่วัยทองและสูงอายุ ทั้งด้านการออม และการพัฒนาตนเอง ซึ่งสามารถเป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจจับกลุ่มนี้เป็นลูกค้าทางธุรกิจ

บทที่ 3. ออมอย่างไรจึงจะรวย แนะกลเม็ดเทคนิคการออม ความจำเป็นที่จะต้องเร่งการออมในวัยทำงานก่อนที่จะย่างเข้าสู่ช่วงเวลาของการเป็นคนสูงอายุ และเทคนิคกับทางเลือกในการออม 7 ขั้นตอน เพื่อลดความผันผวนของชีวิตในอนาคต พร้อมด้วยช่องทางตลาดสำหรับการออม

ภาคที่ 2. ภาคธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ออกแบบมาเพื่อเจาะกลุ่มวัยทอง วัยสูงอายุโดยเฉพาะ

บทที่ 4. ขุมทรัพย์วัยทอง “อำนาจซื้อแห่งอนาคต” ว่าด้วยการจำแนกตลาดของคนวัยทอง และคนสูงอายุแต่ละประเภท เพื่อค้นหาว่าสินค้าหรือบริการอย่างไหน ที่เหมาะสำหรับแต่ละประเภท เพื่อสร้างโอกาส พร้อมกรณีศึกษาต่างประเทศ

บทที่ 5. Success Story ดีไซน์สินค้าอย่างไร ให้โดนใจวัยทอง กรณีศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจที่จับตลาดลูกค้าวัยทองโดยเฉพาะบางประเภท เช่น ทัวร์สุขภาพ ทัวร์ธรรมะ ฯลฯ

บทที่ 6. Success Story วิธีออกผลิตภัณฑ์ให้ขายได้ ว่าด้วยกลยุทธ์จำเพาะในการวางตำแหน่งสินค้าและบริการ บางประเภทที่สามารถเจาะความต้องการของคนวัยทองและสูงอายุได้อย่างแยบยล

กรณีศึกษาเมืองนอก ไอทีกับผู้สูงวัย การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถตอบสนองความต้องการสร้างชุมชนส่วนตัวขึ้นมา

บทที่ 7. Success Story สไตล์บ้านในฝันของวัยทอง ว่าด้วยแนวทางออกแบบบ้านสำหรับลูกค้าวัยทองและสูงอายุเพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์ในทุกจุด สร้างตลาดบ้านรีไทร์เมนต์ขึ้นมา

“บ้าน” สวรรค์คนชรา กรณีศึกษาต่างประเทศ กรณีศึกษาบริษัท Home Instead Senior Care ซึ่งสร้างบริหารหลายรูปแบบเพื่อรับดูแลคนสูงอายุ เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมาะกับวัย

ภาคที่ 3. มาตรการรองรับวัยทอง และวัยสูงอายุ

บทที่ 8. มาตรการรัฐ กับแนวโน้มผู้สูงอายุ ว่าด้วยรูปแบบต่างๆ ของมาตรการรัฐเพื่อสร้างหลักประกันในอนาคตให้กับผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งโครงการออมภาคบังคับ การช่วยเหลือแบบให้เปล่า การสร้างกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ และการส่งเสริมประกันชีวิต

บทที่ 9. กรณีศึกษาต่างประเทศ ว่าด้วยรูปแบบของมาตรการรับมือจำนวนคนวัยทองและสูงอายุในอนาคตในประเทศต่างๆ ทั้งเอเชีย อเมริกา ยุโรป และละตินอเมริกา