ถอดทฤษฎีสู่โครงการราชดำริ

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จะไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้ หากสังคมวงกว้างไม่มีความเข้าใจ และนี่คือ ที่มาของโครงการพระราชดำริ กว่า 3,000 โครงการ และมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการนำร่อง เพื่อสู่การปฏิบัติจริง

”ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ“ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ท่ามกลางความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ระดับมันสมองของประเทศที่เข้าฟังกว่า 500 คน

นับเป็นการจัดสัมมนาที่ให้ความสำคัญกับหัวข้อ ”เศรษฐกิจพอเพียง” ต่างจากปีที่แล้วในการจัดการประชุมวิชาการครั้งที่ 1 ไม่ปรากฏหัวข้อนี้แต่อย่างใด

ในฐานะที่ได้คลุกคลีกับการทำงานทางด้านนี้กับทั้ง ”ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” และ ”จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ดร.ปรียานุช เล่าถึงที่มา จากการวิจัยข้อมูล และสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่ดูแลงานตามโครงการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้สมมติฐานว่าปรัชญานี้มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกต วิเคราะห์ และตกผลึกจากการที่ท่านทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรไปทั่วประเทศทุกตารางเมตร แล้วทรงพบว่าภายใต้ระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะมาบอกให้รัฐบาล หรือคนไทยว่าจะต้องอยู่อย่างไร

ดังนั้น ”เศรษฐกิจพอเพียง“ จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศว่าน่าจะเป็นเช่นไร ผ่านทางโครงการตามแนวพระราชดำริที่มีอยู่กว่า 3,000 โครงการ ทั้งโครงการด้านการเกษตร ด้านการส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคม และคมนาคม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานดำเนินโครงการอิสระ อย่างมูลนิธิชัยพัฒนา

เมื่อพระองค์พระราชทานให้แล้ว แต่การปฏิบัติยังอยู่ในวงจำกัด กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นโอกาสให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ท่านทรงใช้โอกาสเสนอแนวคิด ”พอเพียง” ว่าจะสามารถเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศได้

“ปี 2540 นับเป็นปีที่ 50 ที่พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่าง พระราชดำรัส เราก็ฟังกันอยู่ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ท่านก็รับสั่งเสมอ”

แต่ละช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทนั้น เป็นช่วงจังหวะและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป อย่างช่วงปี 2517 ที่ท่านทรงแนะให้ยึดหลักพออยู่ พอกินนั้น ดร.ปรียานุช ย้อนหลังให้เห็นว่าเพราะช่วงนั้นสถานการณ์บ้านเมืองต้องการความสามัคคี ระบอบคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมอยู่ อาจทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้คนไทยรู้สึกพออยู่พอกิน จะสามารถยับยั้งความแตกแยกระหว่างกันได้

ดร.ปรียานุช ยังได้ยกตัวอย่างถึงเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้วิธีปฏิบัติตามแนวทฤษฎีใหม่ หรือเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน กับแบบก้าวหน้า เปรียบเทียบใช้กับทั้งภาคการเกษตร ชนบท และภาคธุรกิจได้อย่างเห็นภาพ

ทฤษฎีใหม่มี 3 ขั้นตอน คือขั้นแรก เช่น ภาคเกษตรมีที่ดิน พืชพันธุ์บ่อน้ำ พระองค์ท่านทรงทำให้เห็นตัวอย่างในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนคนเมืองเองก็มีเงินเดือน การศึกษา เป็นทุนในการดำเนินงาน ใช้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง ด้วยหลักการสามารถพึ่งตัวเองได้

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 หมายถึงการรวมตัวกันของคนที่พึ่งตนเองได้แล้ว และมีการแบ่งปัน การออม ในภาคชนบท การเกษตร เช่นกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนในภาคธุรกิจ มีการรวมกันเป็นบริษัท เป็นกลุ่มธุรกิจดูแลกัน เป็นการพึ่งตนเอง และรวมกันกลุ่มกัน เพื่อสร้างสมดุลกันภายในกลุ่ม ทำให้มีภูมิคุ้มกัน และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุนชน

มาจนถึงทฤษฎีขั้นที่ 3 ที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา เช่น พระองค์ท่านมักยกตัวอย่างเสมอ คือการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีกระบวนการเตรียมการ การมีส่วนร่วม และหลายองค์กร ร่วมก่อสร้างในโครงการ โดยมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ ใช้งบประมาณไม่มาก ในที่สุดเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ลงทุนและได้ประโยชน์ต่อส่วนรวม

“การสร้างความสมดุลนี้ไม่ใช่เรื่องรายได้ แต่รวมถึงความสมดุลด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่คนจนคิดว่าตัวเองจนเพราะไม่เท่าเทียมกันผู้ทีมีรายได้มากกว่า หรือจนเพราะไม่มีความรู้เท่า ซึ่งในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะสร้างให้ทุกคนตระหนักว่าตนเองมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ หากมีความเพียร และความอดทน จึงต้องเน้นการพัฒนาคนให้มีความรู้ มีจิตใจที่เข้มแข็ง เข้าใจในภูมิสังคม และเลือกใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม”

หลักการทฤษฎีใหม่

ทฤษฏีใหม่ ขั้น 1 การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แบ่งเป็นสระเก็บน้ำ ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ ส่วนละ 30% อีก 10% สำหรับอยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่างๆ ตามหลักการระบบการผลิตแบบพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 การรวมกลุ่ม ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 การติดต่อประสานงาน เพื่อหาแหล่งทุน เงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต

Profile

ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม จนจบปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Tsukuba จังหวัดอิบรากิ กลับมาใช้ทุนรัฐบาลด้วยการทำงานที่สภาพัฒน์ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่แคนาดา มหาวิทยาลัย Simon Fraser เชี่ยวชาญด้านการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทั่งปี 2547 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง สภาพัฒน์ ปัจจุบันทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขับเคลื่อน ”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา