โฆษณา “พอเพียง”

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เมื่อกระแส “เศรษฐกิจพอเพียง” ถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคเกษตรเท่านั้น แต่มีการนำมาใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น จึงได้มีการคิดภาพยนตร์ “โฆษณา” เพื่อถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนี่เป็นบางส่วนของภาพยนตร์โฆษณา ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

“เสียกรุง”

เป็น 1 ในคอลเลกชั่น “รักบ้านเกิด” ที่มี “บุญชัย เบญจรงคกุล” หรือพี่ใหญ่แห่งกลุ่มยูคอม และเป็นอดีตผู้ถือหุ้นดีแทค เป็นทั้งผู้ริเริ่มโครงการนำนึกรักบ้านเกิด และเป็นผู้ออกไอเดียโฆษณาชุดนี้ โดยได้บริษัท “แม็ทชิ่ง สตูดิโอ” เป็นผู้ผลิตให้

แนวคิดของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้เพื่อท้วงเตือนให้คนในสังคมได้ตระหนักคิดถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ด้วยการหยิบยกเหตุการณ์เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เนื่องจากผู้คนมัวเมาลุ่มหลง ใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยทุกสิ่งอัน ทั้งกินอยู่ และหลงใหลกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไร้สติ จนสุดท้ายอาณาจักรก็ล่มสลาย

หากแต่กาลผ่านไปหลายร้อยปี ภาพซ้อนประวัติศาสตร์อันบอบช้ำได้หวนคืนมา เมื่อคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งยังคงหลงระเริงกับภาพมายาแห่งความสุขเช่นเดิม

ดังนั้น จึงต้องการเตือนสติให้กลับมายืนหยัดอยู่บนรากฐานของ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ที่ดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกิน หันหน้าเข้าวัดฟังธรรมตามวิถีชีวิตบรรพชนที่เคยเป็นมา ก็สามารถเป็นสุขได้ และที่สำคัญเป็นความสุขแบบแน่แท้และยั่งยืน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต – กฟผ.

ภาพยนตร์โฆษณาที่นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตคนชนบทกว่า 50 ปีทำชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและความสุข เพราะพระบารมีพ่อหลวง (ในหลวง) และแนวทางในเดินตาม และ กฟผ.ในฐานะพสกนิกรน้อมรับมาปฏิบัติผ่านโครงการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมสโลแกน ตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง

“จากหนุ่มแบงก์มาขายปาท่องโก๋”

โฆษณาทีวีชุดนี้ เป็นของธนาคารทหารไทย ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครองราชย์ 60 ปี ในช่วงกลางปี 2549 นำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เนื้อเรื่อง ชายหนุ่มอดีตพนักงานบริษัทที่หันมายึดอาชีพขายปาท่องโก๋จนร่ำรวย แต่ดูภายนอกอาจเป็นแค่พ่อค้าธรรมดาๆ และร้านค้าเล็กๆ รถเข็น แต่ร้านนี้ทำให้เขาได้เห็นความสุขที่แท้จริง เพราะได้กินอาหารฝีมือภรรยาแทนร้านอาหารหรู และมีเงินเก็บสะสมอย่างไม่ขัดสน

“พอกิน”

โฆษณาทีวีชุดนี้ กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพนำเสนอ งานออกมาเพื่ออธิบายภาพชีวิตพอเพียงได้อย่างเรียบง่าย และตรงไปตรงมา โดยใช้ภาพแก้วน้ำ อธิบาย “ภาพอยู่” ภาพจานข้าวพร้อมอาหาร อธิบายคำว่า “พอกิน” และภาพออมเงินในกระปุกออมสินหมูตัวน้อย และหญิงสาวแต่งตัวเรียบง่าย แต่มีรอยยิ้มแห่งความสุข แสดงคำว่า “พอใช้”